วางหมาก...กระดานหุ้น ตอน ปฐมบทแห่งการลงทุน 1

ด้วยประสบการณ์อันน้อยนิดของผม หากเทียบกับผู้รู้หลายท่านในห้องนี้แล้ว ผมคงจะเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของประสบการณ์ที่พวกท่านเหล่านั้นได้สะสมมา บทความ งานเขียนของผม มีข้อผิดพลาดประการใด ขอให้พวกท่านเหล่านั้น ได้ชี้แนะให้กับผมด้วยครับ เพื่อเกิดประโยชน์แก่ทั้งผู้ให้และผู้รับ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอนาคต

บทความชุด “วางหมาก...กระดานหุ้น” จะออกมาเป็นตอนๆ โดยตั้งใจว่าจะออกอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ยังไม่กำหนดวัน พร้อมวันไหน ออกวันนั้น เขียนขึ้นจากประสบการณ์อันน้อยนิดของผม ทั้งที่ได้รับการเรียนรู้มาจากตำรา จากประสบการณ์ และผู้รู้ที่ชี้แนะ หวังว่าคงจะมีประโยชน์ต่อเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เป็น “คอหุ้น” ไม่มากก็น้อย

ขอฝากบทความชุดนี้ในห้องสินธร ห้องที่มีทั้งเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เป็นคอเดียวกัน คือ “คอหุ้น” ให้ลองได้อ่านกัน

วางหมาก...กระดานหุ้น ตอน ปฐมบทแห่งการลงทุน 1
การลงทุนในที่นี้ ผมจะกล่าวถึงแต่การลงทุนในหลักทรัพย์เท่านั้น ไม่รวมถึงการลงทุนในกิจการค้ากำไรอื่นๆ

พวก เรา ทั้งที่เป็นพวกหาเช้ากินค่ำ มนุษย์เงินเดือน นักเรียน นักศึกษา เจ้าของกิจการ รับจ้างทั่วไป ฯลฯ หากต้องการที่จะลงทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์ ย่อมเกิดคำถามแรกขึ้นมาในใจว่า เรามีเงินพอที่จะนำไปลงทุนแล้วหรือยัง ? ถ้ายังไม่พอ แล้วจะทำยังไงถึงจะมีเงินออมให้เป็นกลุ่มก้อนขึ้นมาเพื่อที่จะนำให้ไปเกิด ดอกออกผล (มั๊ง) ในภาวะที่บางคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว บางคนเพิ่งทำงานใหม่ ก็สรรหาหนี้สินเข้าสู่ตัวเองเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็น หนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนรถ หนี้ผ่อนบ้าน อีกทั้งเงินเดือนที่ได้รับมาหมดไปกับการเที่ยวเตร่ ซื้อของอำนวยความสะดวก ประดับร่างกาย และอื่นๆ

เมื่อเดือนที่แล้ว ดูรายการคุณสรยุทธที่เชิญนักการเงินมาออกรายการเกี่ยวกับการออม มีผู้ชมจำนวนมากโพสเข้ามาประมาณว่า “การออมเป็นเรื่องของคนรวย คนหาเช้ากินค่ำจะมีเงินออมได้ไง” “แค่จ่ายหนี้รายเดือน ก็แทบจะหมุนไม่ทันแล้ว จะเอาเงินที่ไหนมาออม” “นั่งฟังคนรวยคุยกัน” ฯลฯ อีกมาก ที่แสดงถึงว่า

“คนไทย (ส่วนมาก) ยังไม่รู้จักการจัดการการเงินส่วนบุคคล (Personnel Finance Management) ที่ดีพอ”

ทั้ง นี้น่าจะเนื่องมาจาก การศึกษาที่ไม่ปลูกฝังการจัดการการเงินส่วนบุคคลมาตั้งแต่เด็ก วินัยการออมของคนไทยเลยห่างหายไป โดยเฉพาะสมัยนี้ ธนาคารออมสินถูกลดบทบาทไปมาก ภาพที่เห็นตอนปิดเทอมที่เด็กๆ จะอุ้มกระปุกไปฝากออมสิน แทบจะลบเลือนออกไปแล้ว ต่างจากสมัยก่อนที่ธนาคารออมสินมีบทบาทในการกระตุ้นให้เด็กรักการออมมากกว่า

ท่าน นายกฯ เคยพูดว่า “ไม่เป็นหนี้ ไม่มีทางรวย” อันนี้ยอมรับว่าจริงครับ แต่นั่นเป็นมุมมองของ “พ่อค้า” ของ “เจ้าของกิจการ” แต่ในมุมมองของคนหาเช้ากินค่ำ มนุษย์เงินเดือนล่ะ จำเป็นหรือไม่ที่ “ไม่เป็นหนี้ ไม่มีทางรวย” คำตอบคือ “ไม่จำเป็น” แล้วทำอย่างไรล่ะคนหาเช้ากินค่ำ มนุษย์เงินเดือน รับจ้างทั่วไป จะมีเงินเพียงพอที่จะนำไปลงทุนให้เกิดดอกออกผล (มั๊ง) มากขึ้น คำตอบก็คือ “การจัดการการเงินส่วนบุคคล (Personnel Finance Management)” นั่นเอง (คนที่เป็นเจ้าของกิจการ , คนรวยแล้ว โปรดข้ามเนื้อหาต่อจากนี้ไป)

การ จัดการการเงินส่วนบุคคล อาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย เพราะไม่มีให้เรียนในระดับมัธยม หรือประถม จะมีให้เรียนเฉพาะสาขาบริหารที่เกี่ยวข้องเท่านั้นในตอน ป.ตรี ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศ ที่เขาปลูกฝังเด็กของเขา มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว

ตำรา ที่เกี่ยวกับการจัดการการเงินส่วนบุคคลนั้นถือว่าที่เป็นภาษาไทยจริงๆ ยังมีไม่แพร่หลายนัก การนำตำราต่างประเทศมาแปล วัฒนธรรมในการดำเนินชีวิตก็แตกต่างจากคนไทย เพราะคนไทยอยู่กันเป็นครอบครัว บางครอบครัวมีภาระที่ต้องดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศ ที่แยกครอบครัวเป็นเอกเทศ คนไทย (บางคนที่กตัญญู) จึงมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการดูแลพ่อแม่ของตน รวมถึงการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งต่างประเทศโดยเฉพาะอเมริกา หากมีวุฒิภาวะพอสมควรแล้ว ผู้ใหญ่จะสอนให้เด็กหาเงินเรียนเอง ประมาณว่าหากยูอยากจบ ป.ตรี ก็หาเงินเรียนเอง ไอจะส่งให้แค่ไฮสคูล ซึ่งแตกต่างจากคนไทยอย่างสิ้นเชิง

ผม จึงอยากจะสรุปแนวคิดการจัดการการเงินส่วนบุคคลแบบสั้นๆ ตรงตามวัฒนธรรมของคนไทย และไม่อ้างอิงทฤษฎีใดๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที

แนวคิดแรก คือ ให้รายรับที่ได้รับมา “คงอยู่เต็มเม็ดเต็มหน่วยที่สุด” กล่าวคือ พยายามอยู่อย่างพอเพียง อย่าเป็นหนี้ โดยไม่จำเป็น (ผมตั้งใจไว้ว่า ผมจะไม่ยอมเป็นหนี้ จนกว่าผมจะมีเงิน “พอ” ที่จะนำไปลงทุนในหุ้นให้เกิดดอกออกผล (มั๊ง) ได้) วอเรน บัฟเฟต์ ตอนรวยใหม่ๆ เขาก็ยังใช้รถกระบะเก่าๆ และอยู่บ้านในสวนแถบชานเมืองอยู่เลย (ผมยึดคติว่า ไม่รวย อยู่อย่างรวย ไม่มีทางรวย)

แนวคิดสอง คือ เมื่อรายรับ ไม่กระเด็นกระดอนออกไปมาก จะมีวิธีจัดสรรการออมเงินอย่างไรให้ลงตัวที่สุด จากการทดลองจากชีวิตมนุษย์เงินเดือนของผม ผมเสนอแนวคิดดังนี้
ให้พ่อแม่ = 20% ของเงินเดือน
ออม = 25% ของเงินเดือน (โดย 20 % ของเงินออมห้ามถอนออกเด็ดขาด เพื่อกันไว้ใช้ยามฉุกเฉินจริงๆ ส่วนอีก 80% ให้แยกบัญชีไว้ต่างหาก โดยเงินส่วนนี้จะเป็นส่วนที่จะนำไปลงทุนให้เกิดดอกออกผลในอนาคต)
ใช้จ่าย = 55% ของเงินเดือน (ผมใช้เงินเดือนส่วนนี้ทั้งเดือน ยังมีเงินเหลือจากส่วนนี้ไปโป๊ะส่วนเงินออมอีกต่างหาก)

แนวคิดที่สองนี้ผมลองใช้จริงแล้วพบว่าเวิร์คสุด โดยผมจะยกตัวอย่างเป็นเงินจริงๆ ดังนี้
เงินเดือนเริ่มแรกตอนผมทำงานใหม่ 20,000 บาท (วุฒิ ป.โท)
ให้พ่อแม่ และน้าที่เลี้ยงผมมาแต่เด็ก 4,000 บาท
ออมแบบห้ามถอน 1,000 บาท
ออม แบบรอไปลงทุนต่อ 4,000 บาท (เงินออมส่วนนี้ ขึ้นอยู่กับอายุของแต่ละคนด้วย ผมยังหนุ่ม ยอมรับความเสี่ยงจากการสูญเงินส่วนนี้ได้สูงหน่อย แต่ถ้าคนที่อายุมากแล้ว สัดส่วนก็จะต้องลดลงไปให้เหมาะสม)
ใช้จ่ายรายเดือน 11,000 บาท (ผมไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เที่ยว จึงมีเงินเหลือจากส่วนนี้อีกต่างหาก) จริงๆ ต้องหักค่าประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกด้วย

เป็นวิธีที่ง่ายๆ แบบนี้แหละครับ ผมว่าใครๆ ก็น่าจะทำได้ หากมีวินัยในการออม และมีวิธีจัดการการเงินส่วนบุคคลที่ดีพอ

พอผมมีเงินออมพอสมควร ผมก็จะเลือกสรรหาหุ้นที่จะไปลงทุน แล้วก็โซโล่ ซึ่งจะว่ากันในตอนต่อๆ ไป

ขอให้คนที่มีเงินออมอยู่แล้วมีเงินออมมากๆ ยิ่งขึ้น คนที่ยังไม่มีก็ขอให้มีเงินออมในเร็ววัน

“แมงเม่าของเมื่อวันวาน คือ เซียนหุ้นของพรุ่งนี้”

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘