101 ปฏิบัติการพลิกชีวิต (ตอนที่ 7 รวย หรือ จน ?)

  มาถึงตอนนี้ หลังจากที่ไปยืนอยู่ตรงหน้ากระจกเพื่อสำรวจตัวเอง ผมหวังว่าพวกคุณคงตระหนักแล้วว่า ที่ผ่านมาคุณคือคนที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบอย่างสำคัญที่สุดที่ปล่อยให้ตัวเอง มีสภาพเป็นแบบนี้
  
     ขณะเดียวกันผมเชื่อว่า คุณส่วนใหญ่คงอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น ไม่อยากตกอยู่ในสภาพของคนสายตาสั้นที่ต้องกลายเป็นเพียงคนธรรมดาๆส่วนใหญ่ ของสังคม หรือเป็นคนชั้นกลางจำนวนมากที่ชอบยืนอยู่ตรงกลางสี่แยกแบบงงๆ จนทำให้มีโอกาสจะประสบอุบัติเหตุในชีวิตได้ตลอดเวลา เพราะ “ไม่รู้” ในสิ่งที่ตัวเอง “ไม่รู้”

     เพราะหากจนถึงนาทีนี้ คุณยังไม่ตระหนักว่าจะต้องเปลี่ยนแปลง เพราะยังคงมีความเชื่อ และเห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตก็ดูเหมือนจะ “ราบรื่น” ดี และคุณยังคงพอใจในจุดที่คุณยืนอยู่ตรงนี้ และยังคงทำในสิ่งเดิมๆต่อไป แน่นอนคุณก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิม 

     ผมเกรงว่า หากถึงวันหนึ่งที่คุณจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วเหมือนที่ผมเคย เผชิญมากับตัวเองในอดีต มันคงเป็นเรื่องที่ต้องเผชิญความเจ็บปวดที่หนักหนาสาหัสทีเดียว 

     อย่าโกหกตัวเองอีกต่อไปเลยครับ  เพราะผมมั่นใจว่า ลึกลงไปในจิตใต้สำนึกของคุณ มันมีบางสิ่งบางอย่างที่คุณเองก็รู้สึกไม่สบายใจนักกับวิถีชีวิตตอนนี้ของ คุณ 

     ที่สำคัญผมมั่นใจว่า คุณคงไม่ปฏิเสธความจริงว่า “ตราบใดที่ยังไม่ตาย ก็ยังจำเป็นต้องใช้เงิน

     แน่นอน!!! เงินไม่ได้เป็นทุกอย่างของชีวิต และผมก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะให้ใช้ “เงิน” มากหรือน้อย เป็นตัววัดความสำเร็จ หรือ ล้มเหลว ของแต่ละคน

     มหัศจรรย์แห่งชีวิตไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงิน 
     คนบางคนอาจมีน้อย แต่อยู่ได้อย่างมีความสุขตามอัตถภาพ ที่สำคัญคือการมีเงินใช้ตลอดชีวิตได้อย่างสบาย สามารถควบคุมได้ ไม่ต้องห่วง หวาดกลัว

     การคิดถึงอนาคตที่ยาวไกลขึ้น จึงไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องมีเงินมากมายมหาศาล แต่อยู่ตรงที่การรู้ด้วยตัวเองว่าเวลานี้คุณอยู่ตรงไหน และมีแผนในชีวิตอย่างไรจากนี้ไป เพื่อให้ชีวิตปราศจากความกลัวเหมือนในอดีต

     เป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือ การมีอิสรภาพและความมั่งคั่งทางการเงิน และเข้าใจในความหมายของ “เพียงพอ ย่อม พอเพียง”

     อย่าเสียเวลา ปล่อยให้เป้าหมายไกลออกไปเรื่อยๆ    เริ่มต้นวันนี้แล้วคุณจะพบว่าทุกๆวันจะยิ่งมีค่า และเมื่อยิ่งใกล้เป้าหมายของความสำเร็จ คุณก็จะยิ่งภูมิใจ

     แต่ก่อนที่จะเราจะออกเดินทางเพื่อมุ่งหน้าไปสู่การมีอิสรภาพทางการเงิน เราลองมาดูกันก่อนว่าแต่ละคนกำลังยืนอยู่ตรงจุดไหน เพื่อให้ง่ายขึ้นในการที่จะกำหนดเป้าหมาย และแผนในการเดินไปสู่จุดหมายในอนาคตของเรา

     การคิด “มูลค่าสุทธิ หรือความมั่งคั่ง” (Net worth) เปรียบเสมือนการชั่งน้ำหนักของแต่ละคน เพื่อให้รู้ว่า ฐานะทางการเงินของคุณในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ต่ำหรือสูงกว่ามาตรฐานแค่ไหน และหากคุณต้องการที่จะมีเงินใช้ไปตลอดชีวิตเท่าที่คุณต้องการ คุณจะต้องหาวิธีเพิ่ม “เงิน” ของคุณอีกมากน้อยแค่ไหน

     ยิ่งไปกว่านั้น การทราบฐานะทางการเงินที่แท้จริงของคุณ มันอาจช่วยสร้าง “แรงบันดาลใจ” และทำให้ได้รู้ความจริงว่าที่ผ่านมาคุณสามารถสร้างฐานะของตัวเองมาได้ถึงจุดไหน

     การคำนวณ “มูลค่าสุทธิ” ก็ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร เพียงแค่เอาทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่เป็นตัวตั้ง ลบด้วยหนี้สินสุทธิที่มี เพียงแค่นี้ก็รู้แล้วว่า ฐานะทางการเงินของคุณตอนนี้เป็นอย่างไร

     มูลค่าสุทธิ หรือ ความมั่งคั่ง = ทรัพย์สิน – หนี้สิน
     ทรัพย์สินทั้งหมด มาจากการรวบรวมทรัพย์สินทุกอย่างที่คุณมี เงินสด (รายได้ต่อปี) เงินในบัญชีออมทรัพย์ ฝากประจำ ทุนประกันชีวิต พันธบัตร กองทุนรวม หุ้น บ้าน ที่ดิน พระเครื่อง อัญญมณี รถยนต์ หรือพูดง่ายๆว่าทุกอย่างที่สามารถนำไปเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ แต่ต้องอย่าลืมว่า ต้องคิดตามมูลค่าปัจจุบัน (ไม่นับรวมข้าวของ “แบรดน์เนม” ที่ซื้อมาสนองตัณหาและความต้องการ (Want) ส่วนตัว)

     หนี้สินทั้งหมด มาจากการรวบรวมหนี้สินทั้งหมดที่มี แต่คิดเฉพาะหนี้ที่ยังจ่ายไม่หมดค้างชำระอยู่ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อบ้าน รถยนต์ เบี้ยประกันชีวิต เงินกู้ หนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนตัว หรือแม้แต่ หนี้นอกระบบ ที่ยังคงมีภาระหนี้ผูกพันอยู่

     หาตัวเลขทั้งสองตัวออกมาแล้ว นำมาหักลบกัน แค่นี้คุณก็สามารถจะรู้ได้แล้วว่า ฐานะของคุณอยู่ในสภาพอย่างไร เป็นบวก หรือลบ

คลิกที่นี่เพื่อดูตารางแสดงตัวอย่างความมั่งคั่งที่แท้จริงของคุณ

     เมื่อคุณเห็นตัวเลขฐานะทางการเงินของคุณแล้ว ผมเชื่อว่าบางทีอาจทำให้ทัศนคติที่มีต่อ “ความรวย” ของคุณเปลี่ยนไป เพราะบางทีคุณอาจจะเป็นคนหนึ่งที่ “ดูดี” ในสายตาคนอื่น ทั้งๆที่ฐานะการเงินติดลบ “แดง” โร่

     ในขณะเดียวกัน คุณก็อาจจะเปรียบเสมือน “ผ้าขี้ริวห่อทอง” คือดูเหมือนจะจน แต่กลับมีทรัพย์สินมากมายเข้าขั้น “เศรษฐี” ก็เป็นได้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘