101 ปฎิบัติการพลิกชีวิต ตอนที่ 60 "Strategic Decision"

“กลัวตกรถ” หรือ “ติดยอดดอย” ดูเหมือนจะเป็นคำถามที่เข้ามาถึงผมมากเหลือเกิน สำหรับคนที่อยากกระโจนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในยามที่ดัชนีหุ้นไทยพุ่งขึ้นไปไม่หยุดแบบนี้ (ล่าสุด ณ สิ้นเดือนกันยายน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยพุ่งทะยานขึ้นไปถึงระดับ 975 จุด)
         
     ก่อนจะตอบคำถามในเรื่องนี้ ผมคิดว่าคงต้องกลับไปยืนอยู่ที่จุดเริ่มต้นก่อนนะครับว่า เพื่อไม่ให้สับสน คือคุณต้องตัดสินใจเสียก่อนว่าจะเลือกเป็นอะไร ระหว่าง “นักลงทุน” หรือ “นักเก็งกำไร” เพราะปรัชญาในการลงทุนจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
          
     หากคุณเชื่อเหมือนผมว่าในช่วงชีวิตของมนุษย์เรา การที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น เราอาจจะต้องผ่านการตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญๆในชีวิตกันมากทั้งนั้น แต่ลองหันกลับไปมองย้อนดูอดีตให้ดี ก็จะพบว่าการตัดสินใจที่ถูกต้องในบางเรื่องเท่านั้น ที่สามารถจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงที่นำไปสู่สิ่งดีๆให้กับชีวิต เรา 

     สำหรับบางคน การตัดสินใจครั้งสำคัญๆในบางครั้ง สามารถนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิต จนอาจทำให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ หรือทำให้ได้รับชื่อเสียงมากกว่าเพื่อนฝูงในแวดวงเดียวกัน ไปจนถึงบางครั้งมันอาจทำให้เรามีความสุขมากขึ้นกว่าในอดีตอย่างไม่เคยมีมา ก่อน เช่น การตัดสินใจเลือกคู่ครอง
          
     ในทางทฤษฎีการบริหารจัดการทางธุรกิจ การตัดสินใจดังกล่าวอาจจะเรียกได้ว่า เป็นการตัดสินใจในระดับยุทธศาสตร์ หรือ Strategic Decision เช่น การตัดสินใจออกผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาด หรือการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ กระบวนการทำงานบางอย่าง ที่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานะของบริษัทอย่างสิ้นเชิง และทำให้บริษัทประสบความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในขณะที่การตัดสินใจอื่นๆอีกมากมาย อาจจะไม่มีผลอะไรกับตัวธุรกิจเลย
          
     ไม่ต่างอะไรกับเรื่องของหุ้น หากคุณเลือกที่จะเป็นนักเก็งกำไร มันอาจจะทำให้คุณต้องปวดหัวว่า ควรจะโดดเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯในช่วงนี้หรือไม่
          
     แต่หากคุณเลือกที่จะเป็น นักลงทุนประเภท VI-Value Investor ที่เน้นการลงทุนในหุ้นมูลค่าที่สามารถให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในรูปของเงินปันผล ตามสไตล์ของ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ที่เคยพูดไว้ว่า เวลาจะลงทุนซื้อหุ้นแต่ละตัวนั้น ให้คิดว่าในชีวิตนี้เรามีสิทธิ์ที่จะซื้อได้เพียง 20 ตัว ดังนั้น เราก็จะต้องคิดหนักว่าเราจะซื้อตัวไหน เราจะต้องเลือกหุ้นที่มีความแข็งแกร่งสุดยอด มี “ป้อมค่ายและคูเมืองป้องกันข้าศึก” ที่ทนทานถาวร และกิจการจะต้องโตไปได้เรื่อยๆ เป็นสิบๆ ปี
          
     ถ้าเลือกแนวทางนี้ ถึงแม้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯจะยังคงพุ่งทะยานต่อไป แต่เราก็ยังสามารถที่จะค้นหา “หุ้นในดวงใจ” หรือ “หุ้นห่านทองคำ” มาเก็บเข้าพอร์ตการลงทุนของเราได้เสมอ โดยไม่จำเป็นต้อง เข้าซื้อๆขายๆไปเรื่อยๆ เพราะสิ่งนี้มักจะไม่สร้างความแตกต่างให้กับชีวิตเรา
          
     หากคุณเชื่อในหลักการว่า ราคาหุ้นกับกำไรจะเดินทางไปในเส้นทางเดียวกันเสมอ ถึงแม้ในบางจังหวะตลาดหุ้นอาจจะเกิดภาวะเก็งกำไรจนทำให้ ราคาหุ้นบางตัว วิ่งห่างออกไปจาก เส้นกำไรอยู่บ้าง แต่ในที่สุดมันก็จะต้องมีการปรับตัวลงมาวิ่งอยู่ในแนวเดียวกันเสมอ

     ที่สำคัญ หากเราอยู่บนหลักการของการลงทุน เหมือนการซื้อทรัพย์สินบางอย่างมาเป็นของเรา โดยหวังว่ามันจะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดี “ราคา”อาจจะไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด สิ่งที่สำคัญกว่าคือ สินทรัพย์นั้นสามารถทำให้เรามีรายได้กลับมาอย่างสม่ำเสมอหรือไม่มากกว่า

     เพราะอย่างนั้น ไม่ว่าราคาสินทรัพย์ที่ซื้อมาจะขึ้นหรือลง ก็ไม่สำคัญเท่ากับ ผลตอบแทนหรือที่จะได้รับจากสินทรัพย์นั้น แม้ว่าสินทรัพย์นั้นจะราคาขึ้นไปมหาศาล เราก็คงไม่ขายมันแค่เพียงเพื่อหวังกำไรตรงหน้า เพราะเราอาจจะไม่มีรายได้ และต้องวิ่งหาทรัพย์สินชิ้นใหม่ไม่มีที่สิ้นสุด
  
     ยกตัวอย่าง คุณลงทุนซื้อห้องชุดคอนโดมีเนียมมา 1 ห้อง เป็นเงิน 10 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าในปีต่อมา ราคาอสังหาริมทรัพย์เกิดตกต่ำ ราคาตลาดของห้องชุดของคุณอาจจะเหลือมูลค่าแค่ 6 ล้านบาท คุณอาจจะรู้สึกไม่ค่อยดี แต่หากมันยังสามารถปล่อยให้คนต่างชาติมาเช่า และทำเงินให้กับคุณได้เหมือนเดิม ก็ไม่เห็นต้องเดือดร้อนอะไรมากมายนัก

     ตรงกันข้าม หากอีก 2 ปี ต่อมา ราคาอสังหาริมทรัพย์ดีดตัวขึ้น ห้องชุดของคุณอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านบาท หากคุณตัดสินใจขายออกไป ก็เท่ากับรายได้ในอนาคตของคุณจะหายไปทันที

     คงพอจะมองเห็นภาพนะครับว่า ทำไมนักลงทุน จึงไม่ค่อยสนใจมูลค่าพอร์ตการลงทุนมากนัก แต่จะให้ความสำคัญกับ รายได้หรือ ผลตอบแทน ที่เกิดจากการลงทุนที่สม่ำเสมอมากกว่า

     เพราะเหตุนี้ ไม่ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯจะอยู่ในช่วงเวลาแบบไหน จะเป็น “กระทิง” ขาขึ้น หรือ เป็น “หมี” ขาลงอย่างไร หากเราค่อยๆ “พินิจ” ศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อร่อนหา “หุ้นในดวงใจ”ดีๆ รับรองว่า การตัดสินใจน้อยครั้ง โดยมั่นใจว่าทุกครั้งสำคัญจริงๆ มันสามารถจะทำให้เราประสบความสำเร็จในการลงทุนได้อย่างแน่นอนกว่า

     ถ้าคุณเชื่อในกฏมหัศจรรย์ของ “พาเรโต” หรือ กฏ 80-20 ที่มีมากว่า100 ปีแล้ว ลองคิดดูให้ดีนะครับว่า จะมีประโยชน์อะไรหากจะต้องนั่งเฝ้าหน้าจอด้วยใจระทึก คอยสั่งซื้อๆขายๆหุ้นตัวนั้นตัวนี้ตลอดเวลา ทั้งๆที่อาจจะมีหุ้นเพียงไม่กี่ตัวในในชีวิตเท่านั้นที่สามารถสร้างผลตอบแทน ให้อย่างสม่ำเสมอ แต่ที่เหลือนอกจากไม่สร้างความแตกต่างอะไรกับผลการลงทุนของเรา บางครั้งกับทำให้ขาดทุนเสียฉิบ 

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘