101ปฏิบัติการพลิกชีวิต(ตอนที่ 6 อดีต ปัจจุบัน อนาคต)

เมื่อตอนที่ผมประสบมรสุมทางการเงินในชีวิตในช่วงอายุขึ้นเลข 3 ต้องตกงานแบบไม่ทันตั้งหลัก ชีวิตเต็มไปด้วยหนี้สินพะรุงพะรัง จนทำเอา “เสียศูนย์” ออกอาการฟูมฟาย ก่นด่าชะตากรรมของตัวเองอยู่พักใหญ่

     แต่คงเพราะความกลัวจะสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ไป ทำให้ผมเริ่มตั้งสติค้นหาตัวเอง และความหมายของชีวิตอย่างจริงจังใหม่อีกครั้ง

     โชคดีที่ผมพบว่า ปัญหาทั้งหมดมันเกิดขึ้นเพราะตัวเราเอง ทุกอย่างเริ่มต้น และมันจะต้องจบลงจากคนที่อยู่ในกระจกตรงหน้าตัวเรา ไม่มีใครทำให้เราจน หรือกลายเป็นคนที่จัดการการเงินไม่ได้เรื่องจนต้องเผชิญวิบากกรรมขนาดนี้ เราจึงต้องรับผิดชอบในความเขลาของตัวเราเอง

     นอกเหนือจากพบว่าตัวเอง มีทัศนคติที่อันตรายอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆ จนทำให้ชีวิตต้องเผชิญกับหายนะครั้งยิ่งใหญ่ มันยังทำให้ผมค้นพบว่า อะไรคือ ความแตกต่าง ระหว่าง คนรวย คนจน และ คนชั้นกลาง

     หลังจากตกผลึกทางความคิด ผมพบว่าคำตอบของเรื่องนี้ มันอยู่ตรงที่ วิสัยทัศน์  (Vision) ของแต่ละคน

     คนที่มี “วิสัยทัศน์” ที่ดี มักจะมีการวางเป้าหมายของชีวิตไว้ไกล และยึดถือเป็นพันธะสัญญา ในการที่จะมุ่งมั่นปฏิบัติตาม พันธกิจ (Mission) ของตัวเอง เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตัวเองกำหนด

     ความแตกต่างของ “ระยะความคิด” นี่เอง คือตัวตัดสิน เพราะในขณะที่คนจนมักจะเป็นคนสายตาสั้น คิดแค่วันต่อวัน (ตำข้าวสารกรอกหม้อ) คนชั้นกลางคิดแค่เดือนต่อเดือน (มนุษย์เงินเดือน) แต่คนรวยส่วนใหญ่จะมีสายตายาวคิดปีต่อปี

     คนจนมักจะนำเอาอดีตมาตัดสินปัจจุบันและอนาคตของตัวเอง ทำให้เกิดความกลัวที่จะเปลี่ยนแปลง ในขณะที่คนชั้นกลางก็มักจะชอบยืนอยู่กลางสี่แยกแบบมึนงง จนบางทีต้องโดนรถชนตาย เพราะไม่รู้จะไปทางไหน (แม้แต่เรื่องจุดยืนทางการเมือง)

     บางเรื่องก็ไปเอาอดีตมาตัดสินปัจจุบัน บางเรื่องก็ตัดสินใจไปตามสถานการณ์ แต่บางเรื่องกลับใช้อนาคตมาตัดสินปัจจุบัน สับสนจนชนต้นชนปลายไม่ถูก มีสภาพไม่ต่างกับชีวิตที่ไร้เข็มทิศนำทาง

     ตรงกันข้ามกับ คนรวย ที่จะมีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน แต่มีการกำหนดแผนในอนาคต พร้อมไปกับการมุ่งหน้าไปยังเป้าหมายที่ตัวเองกำหนด

     ยิ่งไปกว่านั้น มันยังทำให้ผมค้นพบ และเข้าใจในกฏมหัศจรรย์ของ “พาเรโต” 80/20 ของ วิลเฟโดร พราเรโต ( Vilfedro Pareto) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาเลียนที่บัญญัติขึ้นมากว่า 100 ปีมาแล้ว ซึ่งมีหลักการง่ายๆว่า vital few and trivial many”

     กฏของ 80/20 ทำให้ผมตระหนักว่าการที่จะประสบความสำเร็จทางการเงินนั้น 80% คือการลงมือกระทำ 20% คือ การค้นหาเคล็ดลับความรู้ที่ดีที่สุด

     หลักการนี้เองที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างคนธรรมดา กับ คนที่ไม่ธรรมดา และ ทำให้คนรวยที่อยู่บนยอดปิรามิดที่มีเพียง 20% จึงสามารถครอบครองความมั่งคั่งถึงกว่า 80% ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมทุกวันนี้

     วิธีที่ดีที่สุดเพื่อปลดพันธการของเราจากเรื่องเงิน คือ การเรียนรู้ให้ได้ว่า “เงิน” มันทำงานอย่างไร และทำอย่างไรที่จะให้เงินทำงานแทนเราบนหลักการ “จ่ายน้อยกว่า และ ลงทุนมากกว่า” (spend less and invest more) ที่เป็น “กุญแจ” สำคัญที่จะพาเราไปสู่อิสรภาพ และความมั่งคั่งทางการเงิน

     แล้วคุณล่ะ?
     มาถึงตอนนี้  คุณยอมรับหรือยังว่า คนที่ยืนอยู่ในกระจกตรงหน้าคุณ คือ คน ที่ปล่อยให้ตัวเองตกอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ถ้าคุณรู้และยอมรับ ลองตอบคำถามต่อไปนี้ใหม่อีกครั้งว่าคุณยอมรับความจริงในเรื่องเหล่านี้หรือ ไม่

     ถ้าผลที่ออกมาคือ “ยอมรับ” ผมขอแสดงความยินดีกับคุณด้วย คุณได้ผ่านการตรวจสอบอย่างแท้จริงขั้นแรกเพื่อที่จะปรับปรุงการจัดการการเงินของคุณแล้ว
  1. ฉันไม่รู้ว่าเงินทำงานอย่างไร
  2. ฉันติดขัดกับภาระหนี้สินเพราะการตัดสินใจแย่ๆของฉัน
  3. ฉันเป็นบุคคลสำคัญที่ต้องรับผิดชอบในการที่ภาวะทางการเงินของฉันเองเป็นแบบนี้
  4. ฉันรู้ว่าต้องทำยังไงกับเงิน แต่ฉันก็ไม่ได้ทำมัน
  5. ฉันไม่เคยตั้งใจอย่างจริงจังที่จะรับผิดชอบในการเรียนรู้ว่าเงินทำงานอย่างไร
  6. ฉันขี้เกียจมาตลอด ที่จะมีวินัยทางการเงิน
  7. ฉันเต็มใจที่จะยอมรับว่าสถานการณ์การเงินตอนนี้ของฉันเกิดขึ้นเพราะฉันทั้งหมด
  8. ฉันยินดีที่จะเปลียนแปลงทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อที่จะประสบความสำเร็จด้านการเงิน  
     คงไม่มีใครปฏิเสธในสัจธรรมที่ว่า “ไม่ว่า จะเงินทองล้นฟ้าขนาดไหน เมื่อตายไปแล้วก็เอาเงินติดตัวไปไม่ได้ แต่ความจริงที่น่าตระหนกกว่านั้นก็คือ ตราบใดที่เรายังไม่ตาย เราก็ยังจำเป็นต้องใช้เงิน”

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘