101 ปฎิบัติการพลิกชีวิต ตอนที่ 58 "Total Return Approach"

ที่ผ่านมาในเส้นทางการเปลี่ยนแปลงเพื่อพลิกชีวิต เพื่อสร้างความมั่งคั่งโดยการให้เงินทำงานแทนเรา เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับเงินที่นำไปลงทุน ผมได้พูดถึงการกระจายความเสี่ยง โดยการจัดสรรสัดส่วนการลงทุน Asset Allocation ซึ่งมีหลักการสำคัญคือ การจัดสรรหรือจัดแบ่งการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ (Portfolio) ของคุณ ภายใต้ระดับความเสี่ยง และอัตราผลตอบแทนคาดหวังที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละคน

     ตามตำราในการบริหารเงินส่วนบุคคลส่วนใหญ่ มักจะยึดหลักการจัดสรรสัดส่วนการลงทุน โดยพิจารณาจากสไตล์การลงทุนที่ดูได้จากอุปนิสัยส่วนตัว และอายุ บนหลักการว่า ถ้าขนาดของหัวใจแข็งแกร่งพอ ทนทานต่อความเสี่ยง และยังอายุไม่มากนัก ก็สามารถวางน้ำหนักการลงทุนในหลักทรัพย์ หรือ “หุ้น” ในสัดส่วนที่มากหน่อย เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูง

     คำถามที่น่าสนใจก็คือ หากเราเข้าใจในเรื่องของวัฎจักรและวงจรเศรษฐกิจที่มีขึ้นมีลง การจัดวางน้ำหนักการลงทุนตามแนวทางดังกล่าวตลอดเวลา จะสามารถให้ผลตอบแทนที่คาดหวังได้จริงหรือไม่ ทำให้เริ่มมีการนำเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจระยะยาว 3-5 ปี มาพิจารณาในการปรับเปลี่ยน พอร์ตการลงทุนในแต่ละปี    

     กลยุทธ์การลงทุนแบบ Total Return Approach เป็นแนวทางที่คิดค้นขึ้น โดย Bill Gross ผู้ก่อตั้ง กองทุนตราสารหนี้ PIMCO ผู้ที่ได้รับการยก
ย่องให้เป็นผู้จัดการกองทุนเบอร์ 1 ของโลกในปัจจุบัน

     กองทุน PIMCO เป็นบริษัทจัดการกองทุนได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพของทีมงานบริหารและ กลยุทธ์การลงทุน จนได้รับความไว้ใจจากนักลงทุนทั่วโลก โดยกองทุน “PIMCO Total Return Bond Fund” นั้นมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีสินทรัพย์รวมกันสูงถึงกว่า 7 ล้านล้านบาท สามารถให้ผลตอบแทนเฉลี่ยถึง 8.6% ต่อปี นับตั้งแต่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1987

     เพราะตัวเลขผลตอบแทนที่สูง และสม่ำเสมอ ทำให้ปัจจุบันบรรดาผู้จัดการกองทุนทั่วโลก ต่างก็ต้องใช้กองทุนนี้เป็นส่วนหนึ่งในสินทรัพย์หลักสำหรับพอร์ตการลงทุน เพื่อเป็นหลักประกันผลตอบแทนในการลงทุน

     หลักการสำคัญของ Bill Gross คือการปรับเปลี่ยนการถือครองสินทรัพย์หลัก (Core Asset) ให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงของวัฏจักรเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า “Sector Rotation”

     สินทรัพย์หลัก หรือ ตราสารหนี้ ที่จะนำมาวิเคราะห์ในการทำ Sector Rotation แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ประกอบด้วย

     1. Treasuries หมายถึง พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
     2. Investment Grade Corporate หมายถึง ตราสารหนี้ภาคเอกชนระดับ BBB- ขึ้นไป
     3. Emerging Market Debt หมายถึง ตราสารหนี้ที่ออกโดยประเทศกลุ่ม Emerging Market
     4. High Yield Bond หมายถึงตราสารหนี้เอกชนระดับต่ำกว่า BBB-(Junk Bond)
     5. Convertible Bond หมายถึง หุ้นกู้แปลงสภาพ (ตราสารหนี้ที่มีสิทธิ์แปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ)
     6. Equities หมายถึง ตราสารทุน


(ภาพประกอบจาก fundmanagertalk.com โดยคุณ เจษฎา สุขทิศ)  

     หลักการสำคัญของแนวคิดนี้ คือ ไม่มีสินทรัพย์ใดที่จะสามารถให้ผลตอบแทนดีที่สุดในทุกช่วงเวลา ในแต่ละปี จะมีสินทรัพย์ที่สามารถให้ผลตอบแทนได้ดีที่สุดหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนไป ตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ที่มีการจัดแบ่งเป็น 5 ช่วงเวลา ได้แก่

     1. Early Expansion   หมายถึง    ช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มขยายตัว
     2. Mid Expansion     หมายถึง    ช่วงกลางของภาวะเศรษฐกิจขยายตัว
     3. Late Expansion    หมายถึง    ช่วงปลายของภาวะเศรษฐกิจขยายตัว
     4. Early Recession   หมายถึง    ช่วงเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
     5. Late Recession    หมายถึง   ช่วงปลายของภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

     ทีมงานของ Bill Gross พบว่าสินทรัพย์คุณภาพสูงอย่างพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้คุณภาพสูง มักจะสร้างผลตอบแทนที่ดีในช่วงต้นของภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงอย่าง High Yield Bond หรือตราสารทุนมักจะสร้างผลตอบแทนที่ดีในช่วงปลายของภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

     เมื่อวิเคราะห์ถึงผลตอบแทนของแต่ละกลุ่มสินทรัพย์ ในช่วง 20 ปีย้อนหลัง Bill Gross พบว่า หากเราสามารถคาดการณ์ถึงแนวโน้มของวัฎจักรเศรษฐกิจได้ถูกต้องว่าจะเข้าสู่ช่วงถดถอยในปี 2008 การทำ Sector Rotation โดยการปรับพอร์ตจากการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงอย่าง High Yield Bond ไปลงทุนสินทรัพย์คุณภาพเช่น Treasuries หรือ Investment Grade Corporate สามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้ถึงประมาณ 20%

     ในทางตรงข้ามหลังจากเกิดวิกฤติในช่วง Lehman Crisis เมื่อปี 2009 High Yield Bond หรือ Junk Bond ที่คนส่วนใหญ่ร้อง”ยี้” กลับเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดถึง 55% ทั้งที่ในช่วงเวลานั้นแทบจะไม่มีใครอยากถือครอง Junk Bond เพราะกลัวความเสี่ยง

     ขณะเดียวกัน หากเราสามารถวิเคราะห์ได้ถึงการสิ้นสุดช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงปี 2003 และปรับพอร์ตจากการถือ Treasuries ไปถือครอง Emerging Market Debt จะสามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้ถึง 25%

     ถึงแม้แนวคิดของ Bill Gross จะมุ่งเน้นในเรื่องของการบริหารพอร์ตการลงทุนที่สินทรัพย์หลักๆเป็น ตราสารหนี้เป็นหลัก แต่แนวคิดนี้ก็ “จุดประกาย” ทำให้บรรดา ผู้บริหารกองทุนชั้นนำของโลก นำไปปรับเปลี่ยนสินทรัพย์หลักให้เหมาะสมกับ พอร์ตการลงทุนของตัวเองเช่นกัน

     สำหรับนักลงทุนอย่างผมหรือคุณ ก็สามารถที่จะนำหลักการนี้ไปใช้เช่นกัน โดยควรให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาค และวัฏจักรเศรษฐกิจ เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดกลยุทธ์การกระจายความเสี่ยงใน พอร์ตการลงทุนของแต่ละคน แต่ก็คงต้องทำการบ้านในการหาข้อมูลหนักหน่อยนะครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘