101 ปฎิบัติการพลิกชีวิต ตอนที่ 56 "จดแล้วรวย"

คงมีใครหลายคนที่ถึงแม้จะไปยืนอยู่ตรงหน้ากระจกเพื่อสำรวจตัวเอง และพบกับความจริงที่หน้าตระหนกว่า รูปร่างหน้าตาเริ่ม “ย่ำแย่”จนตกใจกับสารรูปของตัวเอง และ ถึงแม้จะตระหนักว่า ที่ผ่านมาคุณคือคนที่ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบอย่างสำคัญที่สุดที่ปล่อยให้ ตัวเองมีสภาพแบบนี้ แต่ก็ยังอุตส่าห์มีข้ออ้างว่าไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร  
         
     อาจเป็นเพราะผู้คนในยุค “ดิจิตอล”ที่ มีวัฒนธรรมการบริโภคแบบ Fast Food ทำให้ผู้คนต้องการที่จะเห็นการสัมฤทธิผลเร็ว เห็นได้ชัดจากการที่ ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อลดน้ำหนัก ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ช่วยกระชับสัดส่วนที่โหมโฆษณาอ้างสรรพคุณว่า เห็นผลได้เร็วภายใน 3-7 วัน กลายเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถทำรายได้กันเป็นกอบเป็นกำ

     เป็นเรื่องน่าแปลก ทั้งๆที่ลึกๆลงไปในจิตสำนึกของคุณ เกือบทุกคนก็ไม่ค่อยจะเชื่อในสรรพคุณสักเท่าไร แต่ก็พร้อมที่จะโกหกตัวเอง เพียงเพื่อต้องการจะหนีความจริงที่จะยอมรับว่า ทั้งหมดมันขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการบริโภค และการใช้ชีวิตของตัวเองทั้งนั้น 

     ไม่ต่างอะไรกับเรื่องเงินๆทองๆ มีคนจำนวนมากที่พยายามจะลองตรวจสอบสุขภาพทางการเงินของตัวเองดู แต่เมื่อค้นพบความจริงว่า ปัญหาอยู่ที่พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยที่เกินตัว เลือกที่จะใช้เงินเพื่อตอบสนอง “ความต้องการ” เพียงชั่ววูบ แต่ก็ไม่พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิต

     มีคนจำนวนมากที่หากินไม่พอจ่าย หรือหาได้มากก็จ่ายมาก ทำงานแทบตาย แต่จนลงทุกวัน ทั้งๆที่หากมองลึกๆลงไปแล้ว คนเหล่านี้อาจจะไม่ได้จนเงินทองทรัพย์สินอย่างที่ตัวเองเข้าใจ แต่จนโดยตั้งใจมากกว่า คือ “จนปัญญา” ไม่พยายามที่จะ “รู้จัก”ตัวเองให้ดีพอ

     วิธีการหนึ่งเพื่อให้รู้จักตัวเองลึกซึ่งขึ้นได้ อาจเริ่มจากพื้นฐานง่ายๆ คือ การทำบัญชีรับ-จ่าย รายเดือนขึ้นมา เพื่อ “เปลือย” พฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเองดู รับรองว่ามันจะช่วยให้คุณหายโง่ขึ้นเยอะเลยทีเดียว 

     วิธีการทำบัญชีนั้นก็ง่ายมาก โดยเฉพาะในยุคนี้ สามารถที่จะลองไปสอบถามจากบรรดาสถาบันการเงิน หรือธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง เขาก็จะมีโปรแกรมแบบนี้กันทั้งนั้น หรือจะลงมือทำด้วยตัวเองก็ยังได้ เพียงแค่แยกระหว่างรายรับ กับรายจ่าย และยอดยกไปในแต่ละเดือน

     ในส่วนของรายรับ มีรายได้มาเท่าไหร่ก็แยกเอาไว้ให้ชัดเจน ทั้งที่อาจจะมาในรูปของเงินเดือน เงินพิเศษรายเดือน หรือ รายปี (โบนัส) หรือ ผลตอบแทนจากการลงทุน

     ในส่วนของรายจ่าย ก็ไล่เรียงไปตามลำดับความสำคัญ โดยอาจจะแยกย่อยออกเป็น 3 หมวด คือ รายจ่ายที่จำเป็น รายจ่ายที่ไม่จำเป็น และ รายจ่ายอื่นๆ

     ในส่วนของรายจ่ายจำเป็น ก็ไล่ไปตั้งแต่ ค่าอาหาร ค่าที่พัก(เช่าหรือผ่อน) ค่าเครื่องนุ่งห่ม ค่ายา ค่าเดินทาง (ผ่อนรถ-น้ำมัน-ค่าโดยสาร)
สำหรับรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ที่อาจจะมีเช่น ค่าบุหรี่ของมึนเมา ค่าล็อตเตอรรี่ หวย หรือการพนัน ค่าซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ค่าชำระหนี้เงินต้นหรือค่าดอกเบี้ย
ส่วนสุดท้าย คือ รายจ่ายอื่นๆ ไล่มาตั้งแต่ ค่าพักผ่อนท่องเที่ยว ค่าซื้อสิ่งของฟุ่มเฟือยต่างๆ ค่าเลี้ยงดูบุพพการี ไปจนถึง เงินบริจาค

     เมื่อเราลองทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างต่อเนื่องสัก 6 เดือน มันจะทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนว่า เรามีพฤติกรรมการใช้จ่ายเป็นอย่างไร มีโครงสร้างในการใช้จ่ายอย่างไร เพื่อให้เราค้นพบต้นตอของปัญหาทางการเงินของเรา

     เมื่อเห็นข้อมูลแล้ว บางทีไม่ต้องให้ใครมาสอน เราก็สามารถรู้ได้ด้วยตัวเองว่า อะไรควรประหยัดหรืออะไรควรที่จะลด-ละ-เลิก เพื่อช่วยให้ชีวิตของเราไม่ต้อง “ติดลบ”ในแต่ละเดือน 

     สำหรับบางครอบครัว รายรับอาจจะมาเป็นก้อนใหญ่ๆในแต่ละปี โดยเฉพาะคนที่มีอาชีพด้านเกษตรกรรมที่จะขายผลผลิตได้เป็นก้อนใหญ่ๆ ซึ่งหากไม่ทำบัญชีรับจ่ายรายเดือนเอาไว้ ก็จะไม่รู้ว่าควรจะบริหารจัดการค่าใช้จ่ายรายเดือนอย่างไรให้อยู่รอดได้ทั้ง ปี

     ในทางตรงข้าม รายจ่ายบางรายการอาจจะเข้ามาปีละครั้ง หากไม่เตรียมเงินเอาไว้ก็อาจจะพบปัญหา เงินสด “ขาดมือ” ในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งหากเริ่มลงบัญชีรับ-จ่าย ก็อาจจะใช้วิธีนำค่าใช้จ่ายประเภทนี้หารเฉลี่ยใส่เข้าไปในค่าใช้จ่ายหลักใน แต่ละเดือน เช่นค่าเบี้ยประกันชีวิต ค่าเบี้ยประกันรถยนต์ หรือแม้แต่ค่านิติบุคคลของอาคารชุด

     สำหรับชนชั้นกลางบางคนที่มีวินัย และเพื่อคุมค่าใช้จ่ายให้เป็นระบบ อาจเลือกวิธีการแยกการชำระรายจ่ายไว้ 3 รูปแบบ

     รายจ่ายที่จำเป็นจะอยู่ในรูปของบัญชีออมทรัพย์ และใช้บัตรกดเงินสด หรือ เอทีเอ็ม มาใช้เป็นรายสัปดาห์ โดยพยายามใช้ให้เพียงพอในแต่ละสัปดาห์

     รายจ่ายที่สอง คือรายจ่ายที่ไม่จำเป็น อาจจะใช้จากบัญชีบัตรเครดิต เพราะหากมีวินัยพอ การจะ “รูด”บัตรเครดิตในแต่ละครั้ง ก็ต้องกระตุกสำนึกว่า กำลังจะเริ่มเป็น “หนี้” ที่อาจไม่ก่อให้เกิดรายได้

     ส่วนสุดท้าย ในกรณีที่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ หรือพอจะมีเงินออมเหลือเพื่อนำไปลงทุน ก็อาจจะมี “สมุดเช็ค” เพื่อป้องกันเรื่อง การพกเงินสดครั้งละมากๆ

     ทั้ง 3 รูปแบบ เมื่อถึงสิ้นเดือนก็ลองนำมาลงบัญชีรับ-จ่ายรวมกัน เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ของรายรับรายจ่ายของแต่ละครอบครัว

     น่าดีใจที่ปัจจุบัน แนวคิดในเรื่องของการทำสมุดบัญชีรับ-จ่ายรายเดือน เริ่มแพร่หลายมากขึ้น และมีหลายๆกรณีตัวอย่างที่ได้ผลอย่างมากในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนใน ต่างจังหวัด เพราะทำให้เขาค้นพบว่า บางครั้งรายจ่ายที่ควักกระเป๋าออกไปในแต่ละเดือนนั้น เป็นเรื่อง “ฟุ่มเฟือย” และเกินความจำเป็นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นค่า บุหรี่ เหล้า หรือหวย แม้แต่ค่าโทรศัพท์มือถือ ที่บางครั้งหมดไปโดยไม่มีความจำเป็น

     เม็ดเงินที่สามารถประหยัดลง ทำให้เขามีเงินเหลือมากพอที่จะนำไปปลดหนี้สินบางส่วน และที่สำคัญทำให้ทุกคนเริ่มเห็นคุณค่าของเงินมากขึ้น

     ยิ่งไปกว่านั้น หลายๆชุมชนถึงขนาดลองนำรายรับรายจ่ายของแต่ละครอบครัวในชุมนุมมาวิเคราะห์ และร่วมกันในการรณรงค์ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นบางอย่างลง และเป็นจุดเริ่มต้นในการรวมกลุ่มกันในการจัดตั้งสหกรณ์ชุมชน เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ในการขายผลผลิตการเกษตร หรือซื้อ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช หรือ จักรกลการเกษตร รวมไปจนถึงอาจจะมีการจัดตั้งร้านค้าชุมชนขึ้น  

     จากจุดเริ่มต้น เพียงแค่ “บัญชีรายรับ-รายจ่าย”รายเดือน ก็อาจนำไปสู่การทำให้เกิดปัญญา และสร้างสำนึกของการมีวิถีชีวิตที่พอเพียง อย่างสมเหตุผล

     ใครที่จนแล้วยังขี้เกียจแม้แต่จะเริ่มต้นจดบันทึก มาถึงบรรทัดนี้คงต้องบอกว่า ความจนจะอยู่เป็นเพื่อนสนิทกับคนๆนั้นตลอดไป เพราะคุณมีคุณสมบัติของ คนจนอย่างครบถ้วน คือ ทั้ง ขี้เกียจ โง่ และ ยัง เดินหลงทางอีกต่างหาก

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘