101 ปฎิบัติการพลิกชีวิต ตอนที่ 55 "ดัชนีความสุข"

The global financial crisis was a reminder that much of the world’s wealth is “illusory” and can quickly “disappear without a trace”

     “วิกฤติการณ์ด้านการเงินเมื่อเร็วๆนี้เป็นเครื่องเตือน ใจที่ทำให้เราได้ตระหนักว่า ความมั่งคั่งนั้นเป็นเพียงภาพลวงตา และสามารถหายไปในชั่วพริบตา โดยไม่เหลือทิ้งไว้แม้แต่รอยเท้า” 
    
     ประโยคข้างบนเป็นส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์ของ เจ้าชายจิกมี ทินเลย์แห่งราชอาณาจักรภูฎานที่กล่าวไว้ในที่ประชุมใหญ่ 2010 เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหสหวรรษ” ที่สำนักงานใหญ่ ของสหประชาชาติ มหานครนิวยอร์ค เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา
           
     การประชุมสุดยอด “สหัสวรรษแห่งการพัฒนา เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.2000 โดยสมาชิกสหประชาชาติ 189 ประเทศลงนามให้สัตยาบันร่วมกันที่จะนำเป้าหมาย 8 ข้อไปพัฒนาเพื่อต่อสู้กับความยากจนให้หมดสิ้นไปจากโลกนี้
             
     เป้าหมายทั้ง 8 ข้อมีดังนี้
     1. กำจัดความยากจนและความหิวโหย
     2. ให้ผู้คนเข้าถึงการศึกษาพื้นฐานอย่างทั่วถึง
     3. ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศโดยเพิ่มบทบาทของผู้หญิง
     4. ลดอัตราการเสียชีวิตของเด็ก
     5. พัฒนาสุขภาพของสตรีมีครรภ์ 
     6. ต่อสู้กับโรคเอดส์  มาลาเรีย  และโรคร้ายอื่นๆ 
     7. รักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน 
     8. ส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเพื่อพัฒนาของประชาคมโลก
             
     ข้อเสนอของ จิกมี ทินเลย์ นายกรัฐมนตรีภูฏาน  ได้เรียกร้องให้ที่ประชุมใหญ่เพิ่มเป้าหมายลงไปอีกข้อเป็น ข้อที่ 9 ก็คือ "ความสุข" ที่ก้าวพ้นจากคำว่า “รวยและจน”  
           
     เพราะโลกเรามีทรัพยากรที่จำกัด เจ้าชายจิกมี ให้ความเห็นว่า การพยายามไขว่คว้าทางวัตถุนิยมอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เป็นการกระทำที่ “อันตรายและโง่สิ้นดี” โดยยกตัวอย่าง จีน และ อินเดีย สองประเทศยักษ์ ใหญ่ที่มีเศรษฐกิจขยายตัวโตเร็วที่สุดในโลก  ที่พยายามจะไต่เต้าขึ้นไปเทียบชั้นกับสหรัฐฯในเรื่องการบริโภค
             
     ลองคิดดูซิว่า โลกเราจะเป็นอย่างไร หากประชาชนทุกคนมีแต่ "ความละโมบ" ที่ไม่มีที่สิ้นสุด พร้อมกับทิ้งท้ายว่าแทนที่จะมุ่งไปสู่หายนะ ทำไมเราไม่หันกลับมาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราเสียใหม่ โดยหันมาเน้นเรื่องของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของ คุณค่าของวัฒนธรรมที่ดีงาม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล ที่จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้โลกมี “ความสุข”
             
     ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่คงจำ เจ้าชายจิกมีแห่งประเทศภูฏาน ที่มีพระจริยวัตรงดงามได้เป็นอย่างดี  สมัยที่เสด็จเยือนเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อน
             
     ภูฎานเป็นประเทศที่นำ "ดัชนีแห่งความสุขของ ประชาชน" มาใช้เป็นเครื่องวัดการพัฒนาประเทศแทน "จีดีพี" ที่ทั่วโลกใช้กัน โดยมีนโยบายหลัก ในการกระจายการศึกษาฟรี ยกระดับมาตรฐานสุขภาพ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของประเทศภูฎาน ที่มีประชากรเพียง 5.5 แสนคนเอาไว้
             
     ข้อเสนอของเจ้าชายจิกมีไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย เพราะแนวความคิดในเรื่องของ ดัชนีความสุข หรือ Gross National Happiness-GNHนั้น ได้เคยถูกหยิบยกมาเป็นวาระแห่งชาติ ในการกำหนด แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 ตั้งแต่ปี 2530-2534 ที่ต้องการเน้น “คน”เป็น ศูนย์กลางในการพัฒนามากกว่าเน้นการเจริญเติบโตในด้านวัตถุนิยม โดยพยายามที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
             
     แต่เพราะกระแสบริโภคนิยมที่โหมทะลักเข้ามา ทำให้สังคมไทยต้องถูกนำพาไปตรงข้ามกับเข็มทิศที่ตั้งไว้เดิม โดยหันกลับไปให้ความสำคัญกับตัวเลข จีดีพี จนทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมขยายกว้างออกเรื่อยๆจนถูกนำไปใช้เป็น เครื่องมือในการปลุกกระแสความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ ผ่านมา
             
     หากเราหันกลับมามองคนเป็นตัวตั้ง และพยายามที่จะทำให้คนในสังคมมีความสุข แนวคิดในเรื่องของ “ความเพียงพอ” คือคำตอบที่จะช่วยลดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมลงได้
             
     มันเป็นเรื่องที่เป็นไม่ได้หรอกครับที่จะทำให้ทุกคนรวยเท่ากัน หรือไม่มีคนจน แต่เราสามารถทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีความสุขได้ หากเราก้าวข้ามความรวยหรือจน และทำให้ทุกๆคนไม่ว่าจะ “รวย”หรือ “จน”ได้ ตระหนักว่า ความมั่งคั่งของแต่ละคน ย่อมขึ้นอยู่กับความเพียงพอ เพราะการมีมากจนเกินไป นอกจากไม่ได้ทำให้มีความสุขแล้ว กลับทำให้เป็นทุกข์เสียด้วยซ้ำไป
             
     สำคัญไปกว่านั้น ความสุขที่แท้จริง สำหรับบางคน การ”ให้”หรือ“แบ่งปัน”อาจจะทำให้เกิดความสุขที่ยิ่งใหญ่ และทำให้เข้าถึง “คุณค่าของการเป็นมนุษย์”อย่างแท้จริง
             
     ไม่เชื่อลองดูปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ซิครับ ที่บรรดามหาเศรษฐีที่รวยล้นฟ้าทั้งหลายที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยวเหงาจาก ความรวยที่ไม่สิ้นสุด จนต้องพยายามหันมาหาความสุขในชีวิตด้วยการ “ให้”
              
     ผมเห็นด้วยกับเจ้าชายจิกมีที่ มันน่าจะถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติในการมองวิถีชีวิตของเรา ใหม่เสียที แทนที่จะปล่อยให้ความละโมบที่ไม่มีจุดสิ้นสุด นำพาเราไปสู่ความล่มสลายทางจิตและวิญญาณ
           
     It does not demand much imagination intelligence to understand that endless pursuit of material growth in a world with limited natural resources within a delicately balanced ecology is just not sustainable—that is dangerous and stupid.” Bhutan’s Prime Minister, Jigmi Thinley 

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘