101 ปฏิบัติการพลิกชีวิต ตอนที่ 52 "ประกันชีวิตกับการออม"

เมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ประกาศแผนพัฒนาธุรกิจประกันภัยฉบับที่ 2 (พ.ศ.2553-2557) โดยตั้งเป้าหมายว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะผลักดันให้คนไทยไม่ต่ำกว่า 40% ทำประกันชีวิต คิดเป็นเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาท หรือ 6% ของ จีดีพี หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
     ปัจจุบันปี 2553 สัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อ จีดีพี ยังอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.2% ของมูลค่า จีดีพี ที่มีมูลค่าประมาณ 10 ล้านล้านบาท

     ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ คปภ.กล้าตั้งเป้าหมายที่ท้าทายสูงขนาดนี้ เพราะเชื่อว่า การที่คนไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากหลายๆปัจจัย ทั้งจากภัยธรรมชาติ โรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะโรคระบาด คนไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงในรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากสภาพความขัดแย้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่มีความรุนแรงมากขึ้น
          
     นอกจากนี้ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนสูงก็ทำให้ วิถีชีวิตของผู้คนมีความไม่มั่นคงในเรื่องของรายได้ที่อาจพลิกผันได้ตลอด เวลา
          
     ยิ่งไปกว่านั้น สังคมไทยกำลังเดินเข้าสู่สังคมของผู้สูงวัยทำให้ จึงจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นให้คนไทยสนใจในเรื่องของการบริหารความเสี่ยง เพื่อมีภูมิคุ้มกันในอนาคตมากขึ้น
          
     ถึงแม้ปัจจุบันจะมีความพยายาม ที่จะนำรูปแบบของรัฐสวัสดิการมาใช้เพื่อช่วยเยียวยาผลกระทบจากความเหลื่อม ล้ำทางสังคม แต่กลไกการบริหารของรัฐยังมีปัญหาข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ ที่อาจจะต้องบริหารงบประมาณให้เกิดความสมดุล
 
     แผนประกันภัยนี้เป็นแผนระดับชาติด้านประกันภัย ซึ่งเป็นความพยายามของรัฐบาลเอกชนในการกำหนดแนวทางการพัฒนาประกันภัยของไทย จากการวัดขนาดความสำคัญของธุรกิจประกันภัย ในระบบเศรษฐกิจหรือสัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อจีดีพีในปี 2552 มีสัดส่วนแค่ 4.07% น้อยกว่าอัตราเฉลี่ยประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 6% ซึ่งในปีที่ผ่านมาคนไทยทำประกันแค่ 25.37% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ
          
     ปัจจุบันไทยมีจำนวนประชากร 67 ล้านคน เป็นวัยทำงาน 53 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีงานทำแล้วประมาณ 39 ล้านคน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่มีระบบประกันสังคม 9.3 ล้านคน ข้าราชการ 4.9 ล้านคน อาชีพอิสระซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร และรับจ้างทั่วไป 24.8 ล้านคน ที่เหลืออีก 14 ล้านคน อยู่ในวัยการศึกษาและรอหางานทำ

     มาตรการในการที่จะทำให้สัดส่วนคนไทยทำประกันเพิ่มขึ้นจาก 25.37% ให้กลายเป็น 40% นั้น คือการผลักดันให้ กลุ่มเกษตรกร และผู้มีรายได้น้อย ที่มีสูงถึงประมาณ 24.8 ล้านคน เข้าสู่ระบบการประกันมากขึ้น ในรูปแบบของ “ไมโครอินชัวรันซ์” โดยจะมุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องประกัน และการออมเพิ่มมากขึ้น

     เป้าหมายตามแผนฯดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะการมุ่งที่จะให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการออมผ่านระบบประกัน ชีวิต การประกันสุขภาพ และ การประกันภัย เพราะต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาถึงแม้คนไทยจะรู้สึกใกล้ชิดกับเรื่องของการประกันชีวิตมานานแสนนาน มาแล้ว แต่ก็มีน้อยคนนักที่จะมีความรู้และเข้าใจถึงรูปแบบของการประกันชีวิตที่มี การเสนอขายกันอยู่ในปัจจุบัน
มันอาจจะเป็นความจริงที่แสนเจ็บปวด และทำให้วงการธุรกิจประกันไม่อยากจะแตะต้องมากนักก็คือ ระบบโครงสร้างทางการตลาดในปัจจุบันที่ผู้ประกอบธุรกิจยังคงผูกติดกับ “ตัวแทนประกันชีวิต” ซึ่งเป็นกลไกและช่องทางหลักในการเข้าถึงผู้ทำประกัน  

     ภาพลักษณ์ที่ติดลบของตัวแทนประกันชีวิต ที่มีแรงจูงใจจากค่า “คอมมิชชั่น” ในการขายและการวางโครงข่ายการขายแบบ “ลูกโซ่” ทำให้เกิดสภาพที่มีการเสนอขาย “กรมธรรม์” ให้กับลูกค้าในลักษณะ Hit & Run หรือ “ตีหัวเข้าบ้าน” มากกว่าจะทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา หรือเลือกแบบกรมธรรม์ที่เหมาะสมกับแต่ละคน ทำให้คนส่วนใหญ่พยายามที่จะหลีกให้ไกลจาก “ตัวแทนขายประกัน” 

     เพราะอย่างนี้ สิ่งสำคัญที่นอกเหนือจากการให้ความรู้กับประชาชนโดยทั่วไปแล้ว สิ่งหนึ่งที่วงการธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัยต้องเร่งแก้ภาพลักษณ์ก็คือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของการขายประกันให้ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้ ทำประกันเพิ่มมากขึ้น

     ภายใต้บริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศ และ การตื่นตัวของโลกในยุค “สังคมเครือข่าย” Social Media Network การทำตลาดเพื่อให้ความรู้ในเรื่องของธุรกิจประกันชีวิต อาจจะสามารถใช้ช่องทางผ่านสื่อที่หลากหลาย รวมไปจนถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการซื้อกรมธรรม์ที่สามารถจะซื้อผ่านช่องทาง “ออนไลน์” โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพา “ตัวแทนประกันชีวิต” เหมือนในอดีต

     สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ โดยทั่วไป กรมธรรม์ประกันชีวิตมักจะมีส่วนประกอบหลักๆ 3 ส่วน คือ การประกันชีวิตและอุบัติเหตุ การประกันสุขภาพและรักษาพยาบาล และ การออมเพื่อสะสมทรัพย์

     ในระยะหลังๆ เริ่มมีบางบริษัทที่เสนอกรมธรรม์จ่ายคืนเป็นบำนาญ แทนที่จะจ่ายคืนเป็นเงินก้อนใหญ่ก้อนเดียว โดยอาจจะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกเมื่อครบกำหนด และทยอยจ่ายในรูปคล้ายบำนาญเป็นรายปีไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้เอาประกันจะเสียชีวิต ซึ่งกรมธรรม์ในลักษณะนี้ก็ช่วยสร้างความอุ่นใจสำหรับผู้เอาประกันว่าจะมี เงินใช้ในช่วงบั้นปลายของชีวิต โดยไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่นเมื่อถึงวัยเกษียณ
 
     คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ธุรกิจประกัน เป็นสินค้าบริการที่มีลักษณะพิเศษ คือ ถึงแม้เป็นการคุ้มครองความเสี่ยงที่ทุกคนควรมี แต่ทุกคนก็ภาวนาที่ไม่ต้องมีโอกาสจะใช้ ซึ่งหากคำภาวนาเป็นผลสำเร็จ แทนที่จะดีใจ กลับเสียดายเม็ดเงินที่สูญเสียไปจากการทำประกัน 

     การนำรูปแบบของการประกันมาผูกโยงกับการออมจึงดูจะเป็นแรงจูงใจที่ดี เพราะทำให้ผู้เอาประกันไม่เกิดความรู้สึกเสียดายเม็ดเงินที่จ่ายไปเพื่อการ คุ้มครอง แต่จะดียิ่งขึ้นไปอีกไหม หากจะนำไปผูกโยงกับผลตอบแทนจากการนำเม็ดเงินไปลงทุนให้งอกเงยมากขึ้น ซึ่งเป็นโจทก์ที่ท้าทายสำหรับธุรกิจประกันภัยในอนาคต

     แนวคิดในการทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่าง “ยูนิตลิงก์” ที่ไปผูกโยงกับ การนำเม็ดเงินบางส่วนไปลงทุนในกองทุนรวม เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น ดูจะเป็นการตอบโจทย์ได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่เข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

     อย่างไรก็ตามอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับ และเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ก็คือ ตราบใดที่คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีจำนวนสูงถึง 24.8 ล้านคน ยังคงเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย แผนพัฒนาประกันภัยฯจะบรรลุตามเป้าหมายได้นั้น รัฐบาลคงจะต้องเข้ามามีบทบาทสนับสนุนอย่างมากทีเดียว ซึ่งบางทีอาจจะต้องนำไปผูกโยงกับแนวคิดในเรื่องของ พรบ.การออมแห่งชาติ ที่กำลังเตรียมการอยู่ในเวลานี้ไปในคราวเดียวกัน  

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘