101 ปฏิบัติการพลิกชีวิต ตอนที่ 48 "คำถามจากทางบ้าน-1"

หลายวันก่อนมีคำถามจาก คุณลุงคณิตจากทางบ้านส่งเสียงตามสายเข้ามาในรายการวิทยุ 101 ปฏิบัติการพลิกชีวิตที่ผมจัดรายการอยู่ ขอคำปรึกษาเรื่องการมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก 20 ปีหลังเกษียณ ด้วยเงินสองล้านบาท!!!
 
     ฟังจากน้ำเสียงคุณลุงน่าจะเป็นคนสูงวัยที่มี “จิตอาสา” เนื่องจากตัวคนเดียวไม่มีพันธะทางครอบครัว จึงมีความตั้งใจว่าหลังเกษียณในปีนี้อยากหันไปทำงานการกุศลเพื่อสังคม โดยจะไปพักอาศัยและทำงานอยู่กับมูลนิธิแห่งหนึ่ง แต่ไม่อยากจะรบกวนรายจ่ายอื่นๆจากทางมูลนิธิ จึงอยากจะหาวิธีจะทำให้สามารถมีเงินใช้สักวันละประมาณ 400-500 บาทอย่างต่อเนื่องไปจนอายุ 80 ปี จากเงินสองล้านบาทที่เก็บหอมรอมริบเอาไว้           
           
     คงต้องยอมรับว่า เริ่มต้นก็โดนคำถามยากขนาดนี้ ผมเองก็เกือบแย่ไปเหมือนกัน เพราะคุณลุงคณิตท่านเพิ่งมาคิดวางแผนชีวิต เรื่องเงินๆทองๆเอาอีกตอนกำลังจะเกษียณแบบนี้ ต้องบอกว่า ถ้าช้าไปอีกนิดเดียวรอจนถึงวันสุดท้ายก็คงสายเกินไปเสียแล้ว
          
     จากปากคำของลุงคณิต แกไม่มีทรัพย์สินอื่นใดอีกนอกจากเงินสองล้านบาท ซึ่งหากไม่หาวิธีที่จะ“ให้เงินทำงาน”แทนคุณลุงคณิต การจะมีเงินใช้วันละ 400- 500 บาท ก็หมายความว่าต้องใช้เงินปีละประมาณ 150,000-180,000 บาท

     ถ้าลองเอาเงินที่คุณลุงต้องใช้ในแต่ละปีไปหารด้วยเงินสองล้านบาท อย่างเก่งเต็มที่คุณลุงก็คงจะหมดตัวเอาแถวๆปีที่ 11-13 แต่คุณลุงอยากมีเงินใช้แบบนี้ไปตั้ง 20 ปี จนถึงอายุ 80 ปี
 
     หากเป็นคุณจะให้คำแนะนำคุณลุงว่า ควรจะทำอย่างไรกันดีละครับ?

     โชคดีที่คุณลุงคณิตยังมี “ต้นทุน” ความมั่งคั่งสุทธิอยู่สองล้านบาท แต่ปัญหาน่าปวดหัวก็คือ จะจัดสรรเงินจำนวนนี้อย่างไรให้มันสามารถทำงานสร้างผลตอบแทนให้จนสามารถจะ ประคับประคองตัวไปได้อีก 20 ปีข้างหน้า
ผมอยากแนะนำให้คุณลุงลองย้อนกลับไปใช้ สูตรวิธีการจัดสรรการลงทุนที่ผมเคยให้คำแนะนำไปแล้ว เพียงแต่ปรับเปลี่ยนในเรื่องของรายละเอียดให้เหมาะกับ “ต้นทุน”ที่มีอยู่ โดยแบ่งเม็ดเงินสองล้านบาทออกเป็น 3 กอง

     กองแรกจำนวน สองแสนบาท คุณลุงควรนำไปเปิดบัญชีออมทรัพย์เอาไว้ และเบิกถอนออกมาใช้จ่ายในปีแรกเดือนละประมาณ 15,000 บาท ภายใน 1 ปี คุณลุงจะใช้เงินประมาณ 180,000 บาท เหลือไว้เผื่อสำรองฉุกเฉินประมาณสองหมื่นบาท สำหรับกรณีเจ็บป่วย หรือ เหตุฉุกเฉินที่อาจจำเป็นต้องใช้เงิน

     กองที่สอง จำนวนหกแสนบาท นำไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวแบบขั้นบันได มีอายุตั้งแต่ 1-4 ปี ปีละ 1.5 แสนบาท ตามลำดับ โดยหากไม่สามารถหาซื้อในรูปของพันธบัตร หรือ หุ้นกู้ ได้ ก็อาจจะต้องเปลี่ยนมาลงทุนในกองทุนตราสารหนี้แทน โดยเม็ดเงินในกองที่สอง จะมีผลตอบแทนในรูปของอัตราดอกเบี้ยไม่สูงมากนักเฉลี่ยปีละประมาณ 4-5 % และผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยรวมกันในแต่ละปีจะลดลงตามเงินต้นที่เราค่อยๆทะ ยอยเบิกถอนออกมา ซึ่งคุณลุงคณิตอาจจะกันผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยไว้เป็นเงินสำรองค่ารักษาพยาบาล หรือเผื่อเหตุฉุกเฉินในบัญชีออมทรัพย์ ในระหว่างปีที่ 2-5
     
     สำหรับกองสุดท้ายที่เป็นก้อนใหญ่ที่สุด คือประมาณ 1.2 ล้านบาท คุณลุงคณิตควรนำไปลงทุนระยะยาวในช่วง 5 ปีแรกที่ยังสามารถใช้เม็ดเงินจาก กองที่ 1 และกองที่ 2 ซึ่งเริ่มทะยอยเบิกออกมาใช้จ่ายในแต่ละปี      
          
     ถ้าเราตั้งเป้าหมายอัตราผลตอบแทนการลงทุนของเงินกองสุดท้ายจำนวน 1.2 ล้านบาท เฉลี่ยประมาณปีละ 8% โดยอาจจะแบ่งเม็ดเงินออกเป็น 2 ก้อนย่อยๆ นำไปลงทุนใน “กองทุนหุ้น” และ “กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์” ซึ่งน่าจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยได้ใกล้เคียงกับที่เราตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี เม็ดเงินจำนวนนี้จะเติบโตขึ้นกลายเป็น 1,763,192 ล้านบาท หรือ ประมาณ 1.8 ล้านบาท
          
     เมื่อเข้าสู่ปีที่ 6 คุณลุงคณิต ก็ใช้สูตรเดิมโดยนำเงินที่งอกเงยขึ้นในกองที่สามประมาณ 1.8 ล้านบาท มาจัดสรรใหม่ในรูปแบบเดิม โดย 8 แสนบาทแรก กันไว้สำหรับกองที่ 1-2 เพื่อให้สามารถมีเงินใช้เท่าเดิมต่อไปอีก 5 ปี เพียงแต่เม็ดเงินที่เหลือไปลงทุนระยะยาว 5 ปีในคราวนี้จะลดลงเหลือประมาณ 1 ล้านบาท
          
     หากใช้กลยุทธ์การลงทุนในรูปแบบเดิม เพื่อให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณปีละ 8 % เมื่อถึงปีที่ 10 เม็ดเงิน 1 ล้านบาท จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1.6 ล้านบาท
          
     ในอีก 5 ปีต่อไป ก็ทำแบบเดิม คือ กันเงินไว้ใช้ในปีที่ 11 สองแสนบาท และนำไปลงทุนในตราสารหนี้ หรือ กองทุนตราสารหนี้แบบขั้นบันไดอีก 6 แสนบาท เหลือเงินไปลงทุนระยะยาวในช่วง 5 ปี ประมาณ 8 แสนบาท
          
     เมื่อถึงปีที่ 16 เม็ดเงิน 8 แสนบาทจะเติบโตขึ้นเป็นประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งหากมาถึงจุดนี้ คุณลุงสามารถที่จะใช้เงินที่เหลือปีละ 2 แสนบาทไปได้อีก 5 ปี ไปจนถึงอายุ 80 ปีได้ตามเป้าหมายอย่างสบายๆ



     แต่ที่สำคัญในปีที่ 16 อาจจะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ หรือ จุดที่ต้องตัดสินใจกันใหม่อีกครั้งก็ได้ เพราะหากถึงเวลานั้น สุขภาพท่านยังดีและมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาวต่อไปมากกว่า 80 ปี ก็อาจจะต้องตัดสินใจว่าจะนำเงิน 1 ล้านบาทไปลงทุนอย่างไรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ อีกครั้งหนึ่ง
          
     หากเราสังเกตให้ดี จะเห็นว่า จากข้อจำกัดของคุณลุงคณิต ที่มีการสร้างกองทุนในวัยเกษียณของตัวเองเอาไว้ไม่มากนักคือเพียงประมาณ สองล้านบาท แต่ตั้งเป้าหมายของการใช้ชีวิตในช่วงวัยชราไว้ค่อนข้างสูง คือ อยากมีเงินใช้ถึงเดือนละประมาณ 1.5-1.8 แสนบาท ไปจนถึงวัย 80 ปี จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก
          
     เงื่อนไขสำคัญที่สุดสำหรับกรณีนี้คือ เม็ดเงินลงทุนระยะยาวในทุกๆช่วง 5 ปี ที่ต้องพยายามสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยให้ได้ปีละประมาณ 8% ทำให้คุณลุงคณิต อาจจะต้องให้ความสนใจคอยตรวจเช็คผลตอบแทนในการลงทุนให้ดี โดยอาจจะต้องปรับพอร์ตการลงทุนในส่วนนี้ เพื่อจัดวางน้ำหนักการลงทุนให้เหมาะสมเป็นระยะๆ เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถรักษาผลตอบแทนเฉลี่ยไว้ได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ ตั้งเอาไว้
           
     สิ่งที่อยากจะเสริมให้คุณลุงคณิตไม่ควรลืมก็คือ การใช้สวัสดิการต่างๆที่รัฐมีให้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการักษาพยาบาลด้วย บัตรทอง หรือ บัตรประกันสังคม รวมไปจนถึงการยื่นขอ เบี้ยผู้สูงอายุ หรือสวัสดิการอื่นๆจากรัฐบาล ถึงแม้จะเป็นเม็ดเงินเพียงเดือนละไม่กี่บาทก็ตาม
          
     แต่บอกตรงๆว่าเท่าที่ผมฟังเรื่องราวของคุณลุงคณิตแบบย่อๆ ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า มีคนในสังคมอีกมากแค่ไหนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ โดยขาดการเตรียมความพร้อม เพราะขนาดคุณลุงคณิตแกตัวคนเดียว และอุตส่าห์เก็บเงินมาทั้งชีวิตได้ตั้งสองล้านบาท แต่เมื่อวันสุดท้ายของการทำงานกำลังจะมาถึง จึงเพิ่งตระหนักได้ว่าเม็ดเงินที่ตัวเองมีอยู่อาจจะไม่พอใช้ชีวิตในช่วงบั้น ปลายได้อย่างที่ต้องการได้

     คงต้องย้อนกลับไปถามคุณและอีกหลายๆคนว่า เรื่องที่สำคัญต่อชีวิตขนาดนี้ คุณให้ความสนใจ และเตรียมวางแผนกันไว้มากน้อนแค่ไหน เชื่อผมเถอะครับ ให้ความสำคัญกับแผนการในอนาคต และเริ่มต้นเสียตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไปเมื่อวันนั้นมาถึงตัวคุณ 

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘