101 ปฏิบัติการพลิกชีวิต ตอนที่ 44 "เงินฝาก"

ไม่น่าเชื่อนะครับ เป็นเรื่องแปลกแต่จริง ทั้งๆที่เป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ แต่ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่ค่อยจะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่อง “เงินฝาก” สักเท่าไร ทั้งๆที่คนส่วนใหญ่ต่างก็มีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อย่างน้อยหนึ่งบัญชีกัน ทั้งนั้น   
           
     ที่เป็นอย่างนี้อาจเป็นเพราะ “บัญชีเงินฝากออมทรัพย์” กับธนาคารพาณิชย์ คือ บัญชีเงินฝากที่เรามีไว้เพื่อให้เกิดสภาพคล่อง อำนวยความสะดวกในการรับ และจ่ายเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกวันนี้คนส่วนใหญ่จะเปิดบัญชีฝากออมทรัพย์พร้อมไปกับการทำ “บัตรเงินด่วน” เอทีเอ็ม เพื่อไว้กดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มที่มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหงในประเทศได้ภายใน ไม่กี่วินาที แต่เงินฝากประเภทอื่นๆกลับเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับใครหลายๆคน



     ตามสถิติในช่วงปลายปี 2552 มีจำนวนบัญชีเงินฝากรวมกันประมาณ 76 ล้านบัญชี คิดเป็นเม็ดเงินทั้งระบบเกือบ 7 ล้านล้านบาท แต่สังเกตไหมครับ 88.6% หรือกว่า 67.5 ล้านบัญชี มียอดเงินฝากไม่ถึง 50,000 บาท คิดเป็นเม็ดเงินเพียงแค่ 2.84 แสนล้านบาท หรือเพียง 4% ของยอดเงินฝากทั้งระบบ

     ในเวลาเดียวกัน คนที่มีเงินในบัญชีเกิน 1 ล้านบาท ไปจนถึง 500 ล้านบาทขึ้นไป มีไม่ถึง 2% หรือไม่ถึง 9 แสนบัญชี แต่มีเม็ดเงินรวมกันถึงราว 5 ล้านล้านบาท

     เห็นภาพอย่างนี้แล้ว ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า คนไทยยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มากมายขนาดไหนใช่ไหมครับ

     ในจำนวนบัญชีเงินฝากเหล่านี้ แน่นอนว่าส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เพราะตราบใดที่เงินในบัญชีออมทรัพย์ของคนส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพ “ปริ่มน้ำ” ก็คงไม่มีใครสนใจที่จะดิ้นรนหรือคิดจะโยกย้ายเงินเพื่อไปหาผลตอบแทนอย่าง อื่นที่ดีกว่า แต่เมื่อคุณมีเงินเหลือใช้ การนั่งดูตัวเลขเงินในบัญชีและเผลอ “ยิ้ม” ไปกับตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเพียงแค่นั้น คงเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดสักเท่าไร เพราะมันเป็นบัญชีที่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำมากๆๆๆ คือเพียงประมาณ 0.75% ต่อปี
          
     ที่น่าเสียดายก็คือ มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ปล่อยโอกาสในการสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองหลุด ลอยไปวันแล้ววันเล่า โดยเฉพาะคนที่เพิ่งสามารถเก็บหอมรอมริบ จนสามารถมีตัวเลขในบัญชีทะลุหลักแสน หรือหลักล้านบาทได้สำเร็จ คนกลุ่มนี้บางครั้งมัวแต่ “แอบปลื้ม” ไปกับตัวเลขเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นทุกๆเดือนของตัวเอง แต่ไม่เคยคิดจะเคลื่อนย้ายเงินออกไปเพื่อให้มันช่วยเราทำงานแทนเรา
          
     “บัญชีเงินฝากประจำ” คือ การลงทุนสร้างผลตอบแทนอย่างหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่ำ มีความมั่งคงสูง แต่อาจจะได้ผลตอบแทนไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่น
          
     ปัจจุบันบัญชีเงินฝากประจำจะมีอยู่ 2 รูปแบบ รูปแบบแรก คือ การฝากประจำที่กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ฝากต้องนำเงินไปฝากทุกเดือนเท่าๆกันจน กว่าจะครบตามระยะเวลา จึงจะได้รับอัตราดอกเบี้ยตามที่กำหนด ซึ่งมีข้อดีคือ ผู้ฝากจะไม่ต้องเสียอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่าย 15% จากดอกเบี้ยที่ได้รับ เนื่องจากรัฐบาลถือว่าเป็นการส่งเสริมการออมอย่างหนึ่ง
          
     เงินฝากประจำในรูปแบบนี้จะเหมาะสำหรับ คนที่ต้องการจะเริ่มต้นออมเงินในแต่ละเดือน และ ต้องการสร้างวินัยให้กับตัวเองในทางอ้อม หรืออาจจะมีเป้าหมายการออมไว้เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในวัตถุประสงค์บางอย่าง ที่กำหนดระยะเวลาไว้ในอนาคต 
          
     รูปแบบที่สอง คือ การฝากประจำด้วยเงินก้อนครั้งเดียว โดยมีกำหนดระยะเวลา และ อัตราผลตอบแทนในแต่ละช่วงเวลาที่แน่นอน เช่น 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน หรือ 1 ปี ซึ่งแต่ละธนาคารฯจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เท่ากัน แต่อยู่บนหลักการว่า หากฝาก “ล็อค”เอาไว้ยิ่งนานก็ยิ่งได้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น
          
     แต่คำแนะนำในสภาพแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในช่วง “ขาขึ้น” อย่างในปัจจุบัน คุณควรฝากเงินระยะสั้นๆมากกว่า เพื่อให้เกิดสภาพคล่องหากต้องการโยกย้ายเงินไปหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นอีกในอนาคต

     อย่างไรก็ตาม หากสังเกตให้ดีจะพบว่า ในช่วงนี้ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่เริ่มทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำสูง ขึ้น และมีการแข่งขันกันนำเสนอโปรโมชั่น รูปแบบการฝากประจำที่พยายามจูงใจให้กับผู้ฝาก โดยส่วนใหญ่จะพยายามนำเสนออัตราดอกเบี้ยในลักษณะของ “ขั้นบันได” โดยพยายาม “ชู” อัตราดอกเบี้ยสูงสุดในช่วงท้ายๆของระยะเวลาเป็น “จุดขาย” หรือบางแห่งก็พยายามพลิกแพลง โดยการจ่ายดอกเบี้ยให้ล่วงหน้า

     กลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได บางครั้งอาจทำให้เรา “ตาลุก” เมื่อได้เห็นหรือได้ยิน ตัวเลขคำว่า “ดอกเบี้ยสูงสุด” แต่พอดูรายละเอียดแล้ว อาจจะให้ผลตอบแทนสูงสุดเฉพาะ 1-2 เดือนสุดท้ายของระยะเวลาเพียงเท่านั้น
          
     การออกโปรโมชั่นเงินฝากในรูปแบบนี้ จึงอาจทำให้ผู้ฝากเงินเกิดความสับสน และลังเล ยิ่งในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นแบบนี้ หลายคนอาจจะเกรงว่าจะเป็นการเสียโอกาส หากอัตราดอกเบี้ยขยับขึ้นไปอีก

     เพราะอย่างนั้น เมื่อคุณต้องการโยกเงินมาลงในบัญชีเงินฝากประจำในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นแบบนี้ โจทย์ใหญ่ที่ต้องตอบให้ได้ก็คือ เงื่อนไขของระยะเวลาการฝากที่สามารถถอนออกได้ก่อนกำหนด โดยยังคงสามารถรักษาสิทธิ์ได้รับอัตราดอกเบี้ยตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดหรือ ไม่ ก่อนที่จะนำไปเปรียบเทียบว่าธนาคารฯใดที่ให้ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยระยะ สั้นสูงสุด 

     นอกเหนือจากนี้ การคิด “อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย” ที่จะได้รับ หากฝากครบกำหนดก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องนำมาเปรียบเทียบด้วย แต่โจทย์สำคัญคือ การหาผลตอบแทนระยะสั้นสูงที่สุดเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจมากกว่า

     ขณะเดียวกัน เพื่อเปิดโอกาสให้เราสามารถถอนเงินบางส่วนออกมาจากบัญชีฯได้ ในตอนฝากถึงแม้จะฝากทั้งจำนวน แต่ก็สามารถแตกออกเป็นก้อนย่อยๆในบัญชี เพื่อให้ไม่จำเป็นต้องถอนหมดทั้งจำนวน  หากต้องการจะโยกย้ายเงินไปฝาก หรือ ลงทุนในทางเลือกอื่นในอนาคต

     นอกจากเงินฝากประจำแล้ว “ตั๋วแลกเงิน” หรือ BE-Bill of Exchange ก็เป็นตราสารระยะสั้นอีกประเภทหนึ่งที่ธนาคารพาณิชย์จะเสนอให้กับผู้ฝากเงิน โดยมีกำหนดระยะเวลา และอัตราดอกเบี้ยที่จะสูงกว่า อัตราดอกเบี้ยจากเงินฝากประจำเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่ จะกำหนดวงเงินขั้นต่ำเอาไว้ค่อนข้างสูง ซึ่งทำให้ผู้ฝากรายย่อยมีโอกาสเข้าถึงได้ยาก

     ทางเลือกในการนำเงินออมที่มีไปลงทุนในการฝากประจำจึงเหมาะที่จะเป็นหนทางใน การสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนสำหรับก้าวแรกๆของการเริ่มต้นสร้างเม็ดเงินใน เส้นทางของการสร้างความมั่งคั่ง ก่อนที่จะเริ่มไปสู่ทางเลือกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ตราสารหนี้อย่าง พันธบัตร หุ้นกู้ กองทุนรวม หรือ หุ้น

     มาถึงตรงนี้ ใครที่ยังมัวแต่เอาเงินออมที่มีอยู่ไปเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ฯอยู่ อีก ก็คงต้อง”ลุกขึ้นมาทำการบ้านกันแล้วละครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘