101 ปฏิบัติการพลิกชีวิต ตอนที่ 43 "ธนาคารความดี"

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เริ่มจัดการเรื่องเงินๆทองได้อย่างเป็นระบบ หลังจากก้าวเข้ามาในเส้นทางของการเปลี่ยนแปลง จนสามารถก้าวไปสู่จุดที่มีอิสรภาพทางการเงินได้อย่างแท้จริงแล้ว ผมมั่นใจว่า คุณจะเริ่มพบกับความสุขในการมีชีวิต 
          
     หลายคนอาจจะมีความรู้สึกเหมือนพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์อย่างไรอย่างนั้น มันอาจจจะเป็นช่วงเวลาที่วิเศษสุด ที่รอยยิ้มจะปราฏบนใบหน้าของคุณ เมื่อคุณรู้สึกได้ด้วยตัวเองว่า คุณสามารถควบคุมให้เงินมันทำงานแทนคุณได้ แทนที่คุณจะต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของเงินตราเหมือนในอดีต
          
     แต่ก็อย่างที่เคยบอกเอาไว้ จำนวนของเม็ดเงินและความมั่งคั่งของแต่ละคน ย่อมขึ้นอยู่กับ “ความเพียงพอ” เพราะบางครั้งการมีมากจนเกินไป นอกจากไม่ได้ทำให้คุณมีความสุขแล้ว กลับทำให้เป็นทุกข์เสียด้วยซ้ำไป
          
     บางคนบอกว่า ความสุขจากการมีเงินนั้นมี 3 ระดับ ระดับแรก เราจะเริ่มรู้สึกดีเมื่อเราเริ่มรู้สึกว่าเราสามารถควบคุมมันได้ ระดับที่สอง เมื่อเรารู้จักที่จะลงทุน โดยการให้เงินทำงานแทนเรา และ ระดับสุดท้าย เมื่อเราเริ่มรู้จักที่จะ “แบ่งปัน” โดยการบริจาค หรือตอบแทนกลับให้กับสังคม
          
     สิ่งที่คุณต้องระมัดระวัง ก็คือ อย่าปล่อยให้เงินกลับเข้ามาควบคุมคุณได้อีกครั้ง เพราะปัญหาของกลายเป็นคนรวยหรือมีความมั่งคั่งก็คือ คุณอาจจะตกไปอย่ในกับดักของ “ความลุ่มหลง” และหาจุดพอดีไม่เจอ และมันจะเป็นตัวการทำงายความสงบ และความสุขของตัวคุณเองในที่สุด
          
     “คนรวยที่ถูกควบคุมโดยทรัพย์สินที่ตัวเองมีอยู่ ไม่ได้มีอิสรภาพในชีวิตมากไปกว่าคนที่มีหนี้สิน เพราะเขาอาจจะกลายเป็นคนที่ต้องสะสมความมั่งคั่งอย่างไม่รู้จักพอ เพียงเพราะกลัวที่จะสูญเสียมันไป” 
          
     อาจจะเป็นเพราะทุกวันนี้ เราอยู่ในโลกแห่งทุนนิยมเสรี ที่แข่งขันกันเพื่อสร้างความร่ำรวย และความมั่งคั่งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และทุกๆปีมักจะมีการจัดอันดับมหาเศรษฐีของโลก หรือ ของแต่ละประเทศ แต่คุณสังเกตไหมครับว่า ในระยะหลังๆ มหาเศรษฐีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับรู้ถึงความสุขของการมีเงินล้นฟ้า บางคนรู้สึกถึงความเปลี่ยวเหงา และหดหู่กับการที่จะต้องรักษาสถานภาพของตัวเองเอาไว้
          
     บิลล์ เกตส์ และวอร์เรน บัฟเฟตต์ คือตัวอย่างของคนที่เริ่มตระหนักว่า “การให้”และ “แบ่งปัน” ทำให้เกิดความสุขที่ยิ่งใหญ่ และทำให้เขามีความเข้าใจถึง “คุณค่าของการเป็นมนุษย์” อย่างแท้จริง
          
     การประกาศอุทิศเงินจำนวนมหาศาลให้กับองค์กรการกุศล ที่เน้นเรื่องการศึกษา พร้อมทั้งรณรงค์ให้บรรดาเศรษฐีอื่นๆทำตามนั้น อาจเป็นเพราะพวกเขาเข้าใจและตระหนักว่า ถึงเวลาแล้วที่โลกควรหันกลับมาให้ความสำคัญกับการทำให้สังคมเติบโตอย่าง สมดุล พอมีพออยู่ และสมเหตุสมผล

      เพื่อให้คุณที่ก้าวมาตามเส้นทางของการเปลี่ยนแปลง ได้พบกับ “ความสุขที่แท้จริง” และสมบูรณ์พร้อม หรือเพื่อให้ไปถึงจุดสุดยอด สำหรับปฏิบัติการพลิกชีวิตได้นั้น ผมอยากให้คุณคิดถึงการ “แบ่งปัน” ให้กับสังคม     
          
     ทำอย่างไรที่จะให้คนอื่นๆสามารถก้าวไปถึงจุดเดียวกัน คุณพร้อมหรือไม่ที่จะยื่นมือของคุณออกไป พร้อมใจที่จะให้ความช่วยเหลือแก่คนอื่น พร้อมที่จะเป็นผู้ให้ก่อนจะเป็นผู้รับ
          
     สอนให้เขารู้จักวิธี “เลี้ยงปลา” ก่อนที่ให้เบ็ดเขาไป “ตกปลา” และที่สำคัญอย่าคิด เพียงแค่การเอา “ปลา”ไปให้เขากิน  
          
     หลายวันก่อน ผมอ่านพบเกี่ยวกับ แนวคิดในเรื่องการจัดตั้งโครงการ “ธนาคารความดี” ที่ ตำบลหัวง้ม อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ของพระอาจารย์สุจินต์ กัลยาณธรรม เจ้าอาวาสวัดศรีเมืองมูล รองเจ้าคณะอำเภอพาน ตำบลหัวง้ม อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงที่สร้างธนาคารความดีขึ้นมา
          
     "ธนาคารความดี ตำบลหัวง้ม เกิดขึ้นท่ามกลางความสับสนในการร่วมทำดีที่ผ่านมา และต้องการจะตอบคำถามที่เกิดขึ้นในใจของผู้คนในสังคม ปัจจุบันว่า ความดีคืออะไร ความดีมีจริงหรือไม่ ทำดีแล้วได้อะไร"
          
     แนวความคิดในเรื่องนี้  เริ่มต้นที่การทำให้ความดีที่มีอยู่ในตัวของทุกคน ซึ่งเป็นนามธรรมให้เป็น”รูปธรรม” จับต้องได้ ใช้ได้ กินได้ และมีจุดหมายสูงสุดอยู่ที่ทุกคนกลับมาทำความดีเพื่อความดี ทำความดีเพื่อความสุขที่เกิดจากใจที่เป็นสุขตามแนวทางแห่งพุทธศาสนา ซึ่งก็คือนามธรรมอีกครั้งหนึ่ง
          
     ธนาคารความดีแห่งนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2550 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหัวง้ม ซึ่งอาจจะเป็น “ธนาคารความดีแห่งแรกในโลก” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลุกจิตสำนึกให้ผู้คนได้ดำเนินชีวิตตามหลักของพุทธ ศาสนา สร้างความสุขให้กับตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม รวมทั้งช่วยในการยกย่อง เชิดชูคนดี สร้างกระบวนการเรียนรู้คุณค่าของการทำดี และมั่นใจในการทำดี ไม่ย่อท้อกับการทำดี
          
     รูปแบบของธนาคารความดี คือ การประยุกต์เอารูปแบบของกองทุนหมู่บ้าน และธนาคารพาณิชย์ มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจกับมวลสมาชิก โดยอยู่ภายใต้หลักการ "ทำความดี สร้างค่าความเป็นคน ยามขัดสนเราให้แลกเป็นสิ่งของ" 
          
     ธนาคารความดีได้นำหลักของพุทธศาสนามากำหนดเป็นผังบัญชีธนาคารความดี โดยมุ่งที่จะให้ศีลห้าคอยควบคุมทางกาย วาจา และหลักของธรรมมาน้อมนำจิตใจในการทำดีของทุกคน เปลี่ยนความดีที่เป็นคุณค่าให้เป็นมูลค่าที่สามารถจับต้องได้

     สมาชิก ของธนาคารความดี มีประเภทสมาชิกประกอบด้วย สมาชิกสามัญ คือ นักเรียน ประชาชนทั่วไป ฝากถอนได้ตามเงื่อนไขธนาคาร สมาชิกวิสามัญ หมายถึง กลุ่มผู้นำชุมชน พระสงฆ์ สมาชิก อบต. พนักงาน ข้าราชการ และหน่วยงาน ฝากได้ แต่ถอนไม่ได้
          
     การฝากความดี สมาชิกสามารถฝากความดีได้ทั้งแบบสะสมและแบบสัจจะ โดยความดีประเภทการเลิกข้องเกี่ยวกับอบายมุข และการเว้นจากการละเมิดศีลห้าตลอดไป ต้องฝากโดยการตั้งสัจจะอธิษฐานที่จะตั้งมั่นในการทำความดีต่อหน้าองค์พระ รัตนตรัย

     ส่วนการฝากความดีประเภทการเสียสละกำลังกาย กำลังทรัพย์ สามารถฝากได้กับเจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ได้แก่ เจ้าอาวาสวัดทุกวัด ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน ในตำบลหัวง้ม
          
     แต่ละคนสามารถสะสมความดีด้วยการฝากเอาไว้ในบัญชีความดีของแต่ละคน และสามารถเบิกถอนได้ แต่จะต้องสะสมอย่างน้อย 250 ความดี ถึงจะถอนความดีได้ และต้องเหลือคะแนนความดีไว้ในบัญชีอย่างน้อย 100 ความดี
          
     การทำความดี ในอดีตอาจะเปรียบเสมือนการปิดทองหลังพระ แต่วิธีการนี้นอกจากจะเป็นการปิดทองหน้าพระแล้ว ยังสามารถเปลี่ยนความดีเป็นคะแนน สามารถแลกสิ่งของเป็นการตอบแทนได้อีกด้วย ตามมูลค่าของความดีกำกับ
          
     ผลการดำเนินงาน จากข้อมูล ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2553 จำนวนสมาชิกทั้งหมด 1,086 คน แยกเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ จำนวน 59 คน สมาชิกสามัญ จำนวน 1,027 คน จำนวนความดี ความดีสะสมรวมทั้งสิ้น 228,677 ความดี ความดีที่ถอนเพื่อแลกเป็นสิ่งของจำนวน 35,371 ความดี
          
     น่าอัศจรรย์ไหมครับ จากแรงบันดาลใจที่เริ่มจากจุดเล็กๆ แต่สามารถทอประกายสร้างสรรค์จากสังคมเล็กๆฝันร่วมกันว่าจะขยายเติบโตขึ้นไป เรื่อยๆ
มาถึงบรรทัดนี้ คิดเหมือนผมไหมครับว่า อยากต่อยอดสานฝันนี้ให้เติบใหญ่ เพื่อช่วยปลุกจิตสำนึกดีๆให้กับสังคมไทย

     เศรษฐี หรือ สถาบันการเงินใหญ่ๆทั้งหลายน่าลองนำไปพิจารณานะครับ ยิ่งตอนนี้เห็นกำลัง ”เห่อ” กับเรื่อง Corporate Social Responsibility-CSR ที่บรรดาทุกองค์กรชั้นนำต่างลุกขึ้นมาทำกิจกรรมตอบแทนสังคมกันมากมาย ลองมาทำโครงการแบบนี้กับผม และใครๆอีกหลายคนไหมครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘