101 ปฏิบัติการพลิกชีวิต ตอนที่ 41 "นักเก็งกำไร-2"

มาถึงตรงนี้ หลายคนคงพอจะเข้าใจถึงเหตุผลที่ผมไม่ค่อยสนับสนุนให้คุณเปลี่ยนแปลงตัวเองไป จนถึงขั้นพยายามยกระดับขึ้นเป็น นักลงทุนประเภทเก็งกำไรใน “หุ้น”สัก เท่าไร เพราะผมไม่อยากให้คุณกลายเป็นคนที่ไม่ธรรมดาในแบบสุดขั้วที่ยึด เอา“เงิน”เป็นตัวตั้งในชีวิตมากจนแทบไม่เหลือความสุขที่แท้จริงในชีวิตอีก ต่อไป

     ตอนนี้คุณได้เรียนรู้และเข้าใจแล้วว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่าง ระหว่าง “นักเก็งกำไรมืออาชีพ” กับ “นักเก็งกำไรมือสมัครเล่น”
    
     นักเก็งกำไรที่ประสบความสำเร็จนั้น จะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ ขนาดของ “หัวใจ” ที่พร้อมจะเข้าทำการซื้อ-ขายหุ้นในตลาดฯโดยปราศจากความกลัว สามารถที่จะปล่อยวาง และเชิดหน้าก้าวเดินต่อไป เพื่อหาโอกาสใหม่ๆในตลาดฯอยู่เสมอ ไม่ยึดติดกับความเจ็บปวดจากการขาดทุน หรือมัวแต่ “ฟูมฟาย”ผิดหวังกับสิ่งที่ได้ทำพลาดไปแล้ว

     หากคุณมั่นใจในขนาดของ “หัวใจ”ของคุณ หรือเชื่อว่า “แกร่ง”พอ ลองเขยิบไปดูกันอีกสักนิดก็ได้ว่า อะไรคือขั้นตอน หรือวิธีการที่สำคัญในการเป็นนักเก็งกำไรที่ประสบความสำเร็จ ถึงแม้ผมจะไม่ค่อยสนับสนุนเรื่องนี้สักเท่าไรก็ตาม แต่เพื่อพัฒนาความเชื่อและทัศนคติที่ถูกต้องในการเล่นหุ้นของคุณ 

     ในหนังสือ Trading in The Zone ของ Marc J. Douglas ได้วางแนวทางฝึกหัด หรือ Guide Line สำหรับการยกระดับขึ้นมาเป็นนักเก็งกำไรเอาไว้ ในตอน Trading an Edge like Casino หรือ “เก็งกำไรอย่างไรให้มีแต้มต่อ”

     การเก็งกำไรที่มีความได้เปรียบนั้น คือการที่คุณสามารถที่จะมองเห็นโอกาสจากการที่ตลาดฯได้เผยออกมาในทุกๆวัน และนี่คือสิ่งที่เขาเรียกมันว่า Edge หรือการมองเห็นโอกาส สำหรับการซื้อ-ขายครั้งใหม่ๆ

     แนวทางดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อช่วยในการฝึกฝนจิตใจของคุณ เพื่อเรียนรู้การตอบสนองที่ถูกต้องจากสิ่งที่ตลาดฯเผยออกมา และยิ่งกว่านั้นคือการเรียนรู้ที่จะเป็น“นักเก็งกำไรที่มีวินัย” ที่สามารถทำตามกฎได้อย่างเคร่งครัด จนทำให้“คุณคือระบบ และระบบกลายเป็นตัวคุณ!”

     เริ่มต้นจากการลองเลือกหุ้นมาสักตัวหนึ่ง โดยควรเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องเป็นอย่างดี และควรมีความผันผวนสูงสักหน่อย โดยอาจจะเริ่มจากหุ้นประเภท “บลูชิพ”บางตัวก็ได้

     หลังจากที่เราเลือกหุ้นที่เราจะทดลองฝึกดูได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเลือกแนวทางที่เราจะซื้อขายกับมัน เพื่อให้คุณมีระบบการลงทุนของคุณเอง

     มันอาจะเป็นการวิเคราะห์พื้นฐานหรือการวิเคราะห์ทางเทคนิคก็ได้ เพราะการฝึกนี้ไม่เกี่ยวกับว่าระบบหรือวิธีการของคุณ ไม่เกี่ยวกับว่าเมื่อคุณเห็นกราฟ แล้วคุณจะคิดอย่างไร และมันไม่เกี่ยวกับว่าคุณจะได้กำไรหรือไม่ แต่มันเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า “คุณจะสามารถทำตามระบบของคุณได้ไหม” โดยไม่ต้องสนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม

     ไม่ว่าระบบของคุณจะเป็นอย่างไรนั้น มันก็ควรจะมีองค์ประกอบ คือ มันต้องสามารถส่ง “สัญญาณ” บอกจุดเข้าซื้อให้คุณได้ ทำให้คุณรู้ว่าตรงไหนที่ควรตัดขาดทุน มีระยะเวลาหรือTime Frame ที่ชัดเจน โดยควรทดลองซื้อ-ขายเป็นจำนวนหลายๆครั้ง และมีวิธีการวัดผลที่แน่นอน และมีการจัดการความเสี่ยงควบคู่กันไปด้วย

     โดยเมื่อพูดถึงการเข้าซื้อนั้น ตัวแปรที่ใช้ในการบ่งชี้ถึงโอกาสของคุณ ควรจะมีกฏที่ชัดเจนและแน่นอนว่า ทุกๆครั้งที่หุ้น X หล่นลงมาชนกับเส้นค่าเฉลี่ยย้อนหลัง Moving Average-MA 20 วัน ในขณะที่ตลาดเป็นขาขึ้น จะเป็นจังหวะของการซื้อ หรือทุกครั้งที่เส้น Moving Average Convergence-Divergence- MACD หรือเมื่อเส้นค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 2 เส้นตัดขึ้นจะเข้าซื้อ

     พูดง่ายๆว่า หากเมื่อไรสภาพตลาดฯเข้าทางกับกฎการซื้อของคุณ จึงจะเป็นจุดซื้อของคุณ หากไม่ ก็ไม่ควรซื้อ จะซื้อก็ต่อเมื่อมันตรงกับกฎหรือระบบของคุณเท่านั้น!

     ในทางกลับกัน “การตัดขาดทุน” ก็เหมือนกับการซื้อหุ้นเช่นกัน ทุกคนควรจะมีกฎที่แน่นอนในการขายด้วย ไม่ว่าจะเป็นเมื่อมันหลุดเส้น MA 20 วัน หรือหลุดเส้น MA 50 วัน หรืออะไรก็ตาม ต้องมีกฏที่แน่นอนสำหรับการขาดทุนเช่นเดียวกับการซื้อครับ เพราะนั่นจะมีผลอย่างมากมายต่อผลกำไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหุ้นนั้นไม่วิ่งไปอย่างที่คิด

     ระบบของคุณยังต้องสามารถบอกได้ว่า ควรจะยอมเสี่ยงแค่ไหนหากว่าทุกอย่างไม่เป็นไปอย่างที่คิด พูดง่ายๆว่าหากทำตามระบบ มันจะต้องบอกได้ว่าจะต้องทำอย่างไร รอนานแค่ไหน หรือจะยอมเสี่ยงมากเท่าไร และในเวลาเดียวกัน มันจะต้องมีจุดๆหนึ่งที่คุณจะไม่สามารถ ทำกำไรเพิ่มได้อีกแล้ว และควรที่จะขายออกมา ดีกว่าหวังให้มันวิ่งกลับมาที่เดิมครับ

     เรื่องของกรอบเวลา มันจะอยู่บนระยะเวลานานแค่ไหนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะยึดโยงกับ กราฟ ราย 5 นาที 30 นาที หรือกราฟรายวัน และที่สำคัญ กฎการเข้าซื้อและขายของคุณต้องใช้กรอบเวลาเดียวกัน เช่นหากใช้กราฟราย 15 นาที ในการเข้าซื้อระหว่างวัน ก็ต้องใช้กราฟราย 15 นาทีในการขายด้วย  

     ในเบื้องต้น Marc ให้คำแนะนำไว้ว่า การเก็งกำไรที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด หรือมีความน่าจะเป็นที่จะได้กำไรมากที่สุด คือ “การซื้อเมื่อหุ้นซื้อหุ้นพักตัว” ในแนวโน้มขาขึ้น หรือ “การขายชอร์ทเมื่อหุ้นเด้งขึ้น” ในขณะที่มันยังอยู่ในขาลง

     จุดสำคัญที่ทำให้นักเก็งกำไรส่วนใหญ่ล้มเหลวก็เพราะ บ่อยครั้งทั้งๆที่มีกำไร แต่ก็จะทนไม่ไหวรีบขายออกมา ทำให้ได้กำไรน้อยกว่าที่ควรจะเป็นทั้งๆที่กำลังเดินมาถูกทาง ปัญหาในเรื่องนี้ก็เพราะตามธรรมชาติ ตลาดฯไม่เคยวิ่งขึ้นเป็นเส้นตรง มันจะขึ้นๆลงๆ หรือย่อตัวเสมอ 

     เพื่อก้าวไปอีกขั้น และวัดผลของระบบที่เรากำหนดขึ้นมาเอง ควรลองแบ่งเงินทุนออกเป็นส่วนๆ โดยไม่วางเงินทั้งหมดลงไปในหุ้นแค่หนึ่งหรือสองตัวครับ ควรจะกระจายเงินลงไปในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน เพื่อประกันความเสี่ยงในกรณีหุ้นบางตัวร่วงลงไป เงินทั้งหมดของคุณจะไม่หายไป

     นักเก็งกำไรทั่วไปนั้น มักเอาชีวิตไปแขวนไว้กับผลการซื้อขายครั้งที่พึ่งจะผ่านๆมา หากมันทำกำไรได้ เขาจะกลับไปใช้มัน แต่หากมันไม่มีกำไร เขาก็จะเลิกใช้มัน ดังนั้นคุณควรจะทดสอบระบบของคุณโดยการทดลองซื้อขายในกระดาษก่อน เพื่อสามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า อะไรคือเหตุผลในการตัดสินใจ จนคุณสามารถพูดได้ว่า นี่คือ “กฎของผม”

     ที่สำคัญอีกอย่างคือ การกำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หรือตัดขาดทุนในระหว่างการถือหุ้น เพื่อความสบายใจ ซึ่งมันแตกต่างๆโดยสิ้นเชิงกับการรับรู้ถึงความเสี่ยง 

     การฝึกแบบนี้ จะทำให้คุณกลายเป็นระบบ ทำตามระบบ และระบบจะฝึกคุณเอง พยายามทำตามระบบอย่างน้อย 20 ครั้ง ตามกฎของคุณ ไม่ใช่เพียงแค่การซื้อขายครั้งต่อไป แต่อีก 20 ครั้งต่อไป และห้ามละเมิดกฎเด็ดขาด

     บทเรียนจากการทดลอง จะทำให้คุณได้ตระหนักว่า ทุกอย่างมันจะใช้การไม่ได้ ถ้าคุณไม่ทำตามระบบ แต่หากคุณสามารถปฏิบัติตามกฏเหล่านี้ได้ คุณก็จะอยู่ในข่ายที่จะเหมือนขึ้นสววรค์ เพราะมันจะทำให้สามารถตัดสินใจได้อย่างที่ต้องการ มองเห็นโอกาสในการทำกำไรได้ตลอดเวลา โดยไม่รู้สึกว่าระบบหรือตลาดฯนั้นจะคอยเล่นงานคุณอยู่เสมอ

     นี่คือขั้นตอนสำคัญในการพัฒนาความเชื่อและทัศนคติที่ถูกต้องของคุณ และนี่คือสิ่งที่ Marc J.Douglas เขียนเอาไว้ในหนังสือ Trading in the Zone ครับ

     สำหรับบางคนมาถึงตรงนี้ อาจจะประหลาดใจว่า ทำไมไม่เห็นมีใครเคยบอกเรื่องเหล่านี้มาก่อน คำตอบง่ายๆก็คือ เพราะมันเป็นเรื่องยากพอสมควร ดังนั้นหากคุณยังอยากเดินไปต่อในเส้นทางนี้ ผมแนะนำให้ลองไปซื้อหนังสือเล่มข้างบนมาอ่านแบบเจาะลึกกันเอาเองดีกว่าครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘