101 ปฏิบัติการพลิกชีวิต ตอนที่ 36 "หัดเลี้ยงปลา"

ความแตกต่างระหว่างคนไม่ธรรมดาที่ประสบความสำเร็จ สามารถผลักดันตัวเองไปได้ถึงขั้นเป็นเศรษฐี กับคนธรรมดา ที่เห็นชัดเจนอย่างหนึ่งก็คือ ความตื่นตัวในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆ
  
     คนที่มีเงินมีทองถึงขั้นเป็นเศรษฐี ต่างก็ศึกษาหาความรู้ในเรื่องที่จะทำให้เงินทำงาน เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองมากขึ้น ในขณะที่บรรดามนุษย์เงินเดือน หรือคนธรรมดาๆทั่วไปในสังคมส่วนใหญ่จะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเงินเพียง ระดับอนุบาล เพราะความเพิกเฉยไม่สนใจเรื่องเหล่านี้ของตัวเอง

     บางทีก็เป็นเรื่องน่าแปลก ทั้งๆที่พวกเรากำลังอยู่ในยุคของข้อมูลข่าวสาร เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์สักเครื่อง คุณก็สามารถกระโจนเข้าสู่โลกไซเบอร์ เชื่อมโลกของคุณเข้ากับโลกของข้อมูลข่าวสารอันไร้พรมแดนได้แล้ว

     ทุกวันนี้ถ้ามีเรื่องอะไรที่คุณ “ไม่รู้” เพียงแค่ใช้ Search Engine อย่าง กูเกิล คุณก็สามารถที่จะค้นหาข้อมูลเหล่านี้ได้ในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่วินาที แต่คุณเคยถามตัวเองไหมว่า คุณใช้ประโยชน์จากโลกในยุค Now Technology อย่างทุกวันนี้ เพื่อหาความรู้เรื่องเงินๆทองๆมากน้อยแค่ไหน

     ต่างจากคนที่ไม่ธรรมดาที่ประสบความสำเร็จทุกคน คนเหล่านี้จะไม่เคยหยุดนิ่ง และมีความกระตือรือล้นพยายามศึกษาเรียนรู้ ในเรื่องที่ตัวเองไม่รู้ แม้จะอยู่ในอีกซีกโลกหนึ่งก็ตาม

     การแสวงหาความรู้ไม่ได้มาจากการอ่านแต่เพียงอย่างเดียว คนเหล่านี้จะกระตือรือล้นที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อต่อยอดความคิดเกี่ยวกับ เรื่องเงินๆทองๆกับคนอื่นๆในทุกๆโอกาส เพื่อแสวงหาช่องทาง หรือ โอกาสใหม่ๆให้กับตัวเอง

     ยิ่งมีคนแนะนำ หรือมีคนชี้แนวทางมากเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น ถึงแม้จะเป็นความล้มเหลว แต่กับคนที่ไม่ธรรมดา ทั้งหมดก็สามารถนำมาเป็นบทเรียน เพื่อไม่ให้พวกเขาเหล่านั้นต้องเดินผิดพลาดซ้ำรอย เพราะอย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่า ไม่ควรจะทำอย่างไรหากไม่ต้องการผิดพลาด 

     อาจจะเป็นเพราะผมเคยประสบความล้มเหลวเกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆมาแล้วในอดีต และพยายามฝ่าฟันปัญหาต่างๆที่ถาโถมเข้ามาอย่างมีสติ และไม่ย่อท้อ จนสามารถก้าวพ้นมันมาได้ ทำให้ผมมีความเชื่อว่า “อนาคตของตัวเรา อยู่ในมือของเราเอง” จึงไม่มีประโยชน์ที่จะโยนอนาคตของตัวเราไปอยู่ในกำมือของใคร

     เพราะอย่างนี้ บางครั้งเวลามีคนพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม ช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจน ที่เรามักจะโยนความผิด และโทษว่าสาเหตุมาจาก ผู้ที่มีอำนาจในการบริหารประเทศ หรือบรรดานักการเมือง ถึงแม้มันจะมีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่ผมคิดว่า มันอาจจะไม่ถูกเสียทั้งหมด

     เราอาจจะไม่สามารถปฏิเสธความจริงได้ว่า รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา ไม่ได้มีเจตจำนงทางการเมืองในการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างแท้จริง แต่มีวาระซ่อนเร้นในการที่จะจับประชาชนเป็นตัวประกัน โดยการใช้นโยบาย “ประชานิยม” เป็นเครื่องมือในการหาเสียง และอาศัยเป็นช่องทางในการฉ้อฉล แสวงหาผลประโยชน์จากเม็ดเงินเหล่านั้นอย่างน่าสะอิดสะเอียน

     แต่คำถามที่เราก็ต้องถามตัวเองเหมือนกันว่า พวกเราเองได้ใช้ความพยายามเพียงพอแล้วหรือยัง ในการที่จะดิ้นรนเพื่อปฏิรูปตัวเอง เปลี่ยนแปลงทัศนคติ และ ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการบริหารเรื่องเงินๆทองๆของเราเองอย่างจริงจัง 
   
     มันอาจจะเป็นความจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้ ที่โครงสร้างการกระจายรายได้ของประเทศเรายังพิกลพิการ เห็นได้ชัดจากตัวเลขล่าสุดเมื่อปี 2550 ที่ กลุ่มคนที่อยู่บนยอดปิรามิดสูงสุด 20% แรกมีส่วนแบ่งรายได้ถึง 55.06 % ในขณะที่คนจนที่อยู่ฐานล่างสุด 20% สุดท้ายมีส่วนแบ่งรายได้เพียง 4.30 % มีส่วนต่างถึงประมาณ 12.81 เท่า

     หมายความว่า ผลผลิตของประเทศไทยที่คิดเป็นเงิน 100 บาท ตกอยู่ในมือของคนรวยถึง 55.06 บาท แต่คนจนมีส่วนแบ่งเพียง 4.30 บาท ที่เหลืออีก 59.36 บาท อยู่ในมือของชนชั้นกลาง

     ในการแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจน ให้ได้ผลดีที่สุด นอกเหนือจาก ความจริงใจและความกล้าหาญทางการเมืองของผู้ที่มีอำนาจและนักการเมือง ที่จะพยายามนำนโยบายรัฐสวัสดิการมาใช้ เพื่อประคับประคองกลุ่มรากหญ้าที่อยู่ตรงฐานล่างให้ลืมตาอ้าปากได้แล้ว สิ่งที่มีความสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย คือ การสอนให้คนเหล่านั้นสามารถที่จะ “ตกปลา” หรือ “เลี้ยงปลา” ด้วยตัวเอง

     รัฐบาลอาจจะได้รับคะแนนนิยมจากการทุ่มเม็ดเงินลงมาแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินชาว นา หรือ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ แต่คงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะ โยน “ปลา” หรือความช่วยเหลือลงไป โดยไม่สนใจที่จะให้การเรียนรู้ถึงการบริหารเรื่องเงินๆทองๆ

     เป็นเรื่องน่าแปลกแต่จริงที่ ในขณะที่ระบบการศึกษาของเราทุกวันนี้ พยายามที่มุ่งเน้นไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการในด้านต่างๆมากมาก แต่กลับไม่เคยมีการบรรจุหลักสูตรการสอน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา ที่จะทำให้คนไทยมีความรู้พื้นฐานในเรื่องการบริหารเงินส่วนบุคคลหรือ วิธีการ “เลี้ยงปลา” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในเรื่องของการใช้เงิน เลย

     เพราะอย่างนี้ ผมจึงอยากให้พวกเราตระหนักว่า หนทางที่ดีที่สุดสำหรับพกวเราก็คือ การใช้แนวทาง “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” หัด “เลี้ยงปลา” ด้วยมือตัวเอง 
แทนที่จะรอ “ฟ้าประทาน”ลองเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนทัศนคติมาใช้ “พลังบวก” เพื่อปลุกตัวเองให้เริ่มเรียนรู้เรื่องเงินๆทองๆด้วยตัวเอง

     เชื่อผมเถอะครับ โชค หรือ โอกาส มันไม่ได้ลอยมาหาคุณง่ายๆหรอก เพราะบางครั้งสำหรับบางคนถึงแม้โชคมาลอยอยู่ตรงหน้า ถูกหวยรวยเบอร์มาเป็นล้านๆ แต่หากไม่รู้วิธี “เลี้ยงปลา” บริหารเงินด้วยตัวเอง ไม่นานโชคหรือโอกาสนั้นก็จะผ่านเลยไปจากคุณ โดยอาจจะไม่ทิ้งอะไรไว้เลย

     เวลาเป็นของมีค่า เริ่มต้นเสียตั้งแต่วันนี้ เรียนรู้เรื่องเงินๆทองๆ และเริ่มเปลี่ยนแปลงชีวิต ไปสู่เป้าหมายของการมีอิสรภาพทางการเงินเสียตั้งแต่วันนี้

     ไม่สำคัญหรอกครับว่า ตอนนี้คุณมีเงินเท่าไร ผมเองเริ่มหัด “เลี้ยงปลา” เปลี่ยนแปลงชีวิตตอน “ติดลบ” เสียด้วยซ้ำ แต่หากคุณไม่อยากให้ชีวิตในบั้นปลายของคุณต้อง ติดลบ ก็คงต้องเริ่มหัดเลี้ยงปลากันแล้วละครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘