101 ปฏิบัติการพลิกชีวิต ตอนที่ 35 "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ"

มันฟังดูอาจจะเป็นเรื่องแปลกแต่จริง ที่มีมนุษย์เงินเดือนจำนวนไม่น้อยที่ “ไม่รู้” และไม่เคยเข้าใจถึงประโยชน์ในการออมภาคสมัครใจผ่านกลไกของ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD)

     สำหรับมนุษย์เงินเดือนในสถานประกอบการขนาดกลางและเล็ก อาจจะมีเพียง กองทุนประกันสังคม ที่บังคับโดยกฏหมาย แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เนื่องจากนายจ้างไม่อยากแบกภาระการจ่ายเงินสมทบให้กับลูกจ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ถึงเหตุผลของความไม่รู้ของบรรดามนุษย์เงิน เดือนที่อยู่ในสถานประกอบการเหล่านี้

     แต่สำหรับบรรดาพนักงานกินเงินเดือนที่ทำงานอยู่ในองค์กรขนาดใหญ่จำนวนมาก ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ ก็กลับไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องนี้มากเท่าไรนัก

     สำหรับหลายต่อหลายคน ถึงพอจะรู้ว่าองค์กรของตัวเอง มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ แต่ก็อาจจะมีความรู้สึกในทางลบด้วยซ้ำไป เพราะเหมือนเป็นภาระและรู้สึก “เซ็ง”ทุกครั้งที่รับ “สลิปต์” เงินเดือน เมื่อเห็นตัวเลขที่โชว์ยอดที่ต้องถูกหักสะสมไปในแต่ละเดือน หรือบางคนพาลไม่ยอมเป็นสมาชิกกองทุนฯไปเสียฉิบ เพียงเพราะกลัวจะมีเงินไม่พอใช้ในแต่ละเดือน

     เรื่องแบบนี้ก็เหมือนกับ คำพังเพยที่ว่า “ไม่เห็นโลงศพ มิอาจหลั่งน้ำตา” เพราะคนส่วนใหญ่จะมองไม่เห็นคุณค่าของ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จนกว่าจะมีเหตุการณ์บางอย่างที่จำเป็นต้องหา “ตัวช่วย” ทางการเงิน

     คงเป็นเรื่องที่ต้องสร้างความเข้าใจใหม่สำหรับหลายๆคนว่า การออมผ่าน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ความจริงแล้วคือ การลงทุนระยะยาวโดยสมัครใจรูปแบบหนึ่ง ที่จะผูกพันไปในระยะยาว โดยเราไม่รู้สึกตัว และจะเป็นตัวช่วยชั้นเยี่ยมสำหรับการสร้างหลักประกันเพื่อเกษียณอายุ สำหรับผู้อยู่ในวัยทำงาน

     ปัจจุบันในองค์กรธุรกิจชั้นนำส่วนใหญ่จะมีการจัดตั้ง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเป็นกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ  เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมไว้ใช้เมื่อเกษียณอายุ หรือเมื่อออกจากงาน และยังเป็นหลักประกันให้แก่ครอบครัวกรณีที่เกิดเสียชีวิต

     ลูกจ้างจะมีหน้าที่จ่าย “เงินสะสม” และนายจ้างจ่าย “เงินสมทบ” เข้ากองทุนฯ ในจำนวนไม่น้อยกว่าที่ลูกจ้างจ่ายเงินสะสม แต่จะไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินเดือน

     เงินก้อนนี้จะถูกบริหารโดยมืออาชีพ ผ่าน ”บริษัทจัดการกองทุน” หรือ บลจ.ที่ได้รับ การคัดเลือก ซึ่งจะมีการนำเงินกองทุนไปลงทุนในตราสารประภทต่างๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับกองทุนฯ

     ข้อดีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็คือ มันเปรียบเสมือนการลงทุนที่เราได้รับผลประโยชน์ถึง “สองเด้ง” เพราะเมื่อคุณจ่าย “เงินสะสม” เข้าไปในกองทุนแล้ว นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่าย “เงินสมทบ” เท่าๆกันหรือ ไม่เกิน 15% เพื่อนำเม็ดเงินไปบริหารโดยผู้จัดการกองทุนฯมืออาชีพ ที่จะทำให้เกิดผลตอบแทนเพิ่มขึ้น

     แต่ที่เด็ดไปกว่านั้น คือ เงินที่คุณจ่ายสะสมเข้ากองทุนไปทุกๆปี สามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในตอนปลายปีได้อีกด้วย สูงสุดไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง หรือไม่เกินปีละ 300,000 บาท

     ที่ผ่านมา ในการบริหารจัดการกองทุนฯ นายจ้างส่วนใหญ่มักจะให้ บลจ.ที่รับเข้ามาบริหาร นำเม็ดเงินทั้งกองฯไปลงทุนภายใต้นโยบายการลงทุนเพียงแบบเดียว เหมือนการ “เหมาเข่ง” แต่เนื่องจากในแต่ละองค์กร ต่างก็มีพนักงานหลากหลายระดับตามอายุ จึงเกิดคำถามว่า การใช้นโยบายการลงทุนแบบเดียวจะเหมาะสมหรือไม่ และบางครั้งผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนอาจจะไม่ค่อยประทับใจ

     ในระยะหลังๆ จึงเริ่มมีแนวคิดในการที่จะกระจายเม็ดเงินออกเป็นพอร์ตการลงทุนหลายๆกองฯ เพี่อให้พนักงานเลือกลงทุนตามความต้องการ หรือที่เรียกว่า Employee Choices ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีการจัดสรรน้ำหนักในพอร์ตการลงทุนที่มีระดับความเสี่ยงไม่เท่ากัน

     สำหรับพนักงานที่ยังมีอายุไม่มากนัก อาจจะอยากลงทุนในกองทุนฯที่มีนโยบายการลงทุนที่กล้าเสี่ยงมากกว่าพนักงานที่ อยู่ในวัยกลางคน หรือ วัยกำลังใกล้จะเกษียณ ที่ต้องการความมั่นคงมากขึ้น 

     ทั้งเงินสะสม เงินสมทบ และ ผลตอบแทนจากการลงทุน จะถูกสะสมไปเรื่อยๆในแต่ละปี และเราจะได้รับเงินทั้งหมดจากกองทุนฯ ก็ต่อเมื่อเกษียณอายุจากการทำงาน มีอายุครอบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือ เกิดเหตุทพพลภาพจนทำงานไม่ได้ หรือ เสียชีวิต ซึ่งทั้ง 3 กรณี จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำเงินที่ได้รับไปคำนวณในการเสียภาษีเงินได้

     คำถามที่น่าสนใจก็คือ หากเรามีเหตุจำเป็นต้องออก หรือถูกให้ออกจากงานก่อนเกษียณอายุ (Early Retirement) ถึงแม้เราจะได้รับผลประโยชน์จากกองทุนฯ แต่เราจำเป็นต้องเสียภาษีเงินได้จากผลประโยชน์ที่ได้รับหรือไม่

     ในเรื่องนี้ กรมสรรพากร ยังใจดีช่วยลดหย่อนภาษีในส่วนที่เป็นเงินสะสมของเรา แต่ในกรณีที่มีอายุงานน้อยกว่า 5 ปี เงินสมทบของนายจ้าง และผลประโยชน์ของเงินสะสม และเงินสมทบ จะต้องนำไปรวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษี
สำหรับผู้ที่อายุงานเกิน 5 ปีขึ้นไป นอกจากจะไม่ต้องเสียภาษีในส่วนของเงินสะสมแล้ว เงินสมทบของนายจ้าง และผลประโยชน์ของเงินสะสม และ เงินสมทบ สามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายได้ปีละ 7,000 บาท เหลือเท่าไรให้นำไปหักออกอีกครึ่งหนึ่ง และนำเงินที่เหลือไปรวมเป็นรายได้สุทธิที่ต้องคำนวณภาษีเงินได้

ไม่เกษียณอายุ  
แต่มีอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป
ไม่เกษียณอายุ 
และมีอายุงานน้อยกว่า 5 ปี
    
เสียภาษีเงินได้โดยนำส่วนเงินสมทบของนาย จ้าง+ผลประโยชน์ จากเงินสะสม + ผลประโยชน์จากเงินสมทบ มาคำนวณเพื่อ เสียภาษี โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ปีละ 7,000 บาท เหลือเท่าใดให้หักค่าใช้จ่ายได้อีกครึ่งหนึ่ง  
         
ตัวอย่าง : สมมติว่ามีสมาชิกลาออกจากกองทุน หลังจาก ที่ทำงานมาแล้ว 6 ปี และได้รับเงินจากกองทุน 250,000 บาท โดยเป็นส่วนของเงินสะสม 50,000 บาท ดังนั้น เงินได้ที่นำมาคำนวณภาษีได้ 200,000 บาท หัก ค่าใช้จ่ายส่วนแรก (7,000 x 6 ปี) (42,000) คงเหลือ 158,000 หัก ค่าใช้จ่ายส่วนที่ 2 (158,000÷2) (79,000) คงเหลือเป็นเงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษี 79,000 


ไม่ได้รับการยกเว้น ต้องเสียภาษีเงินได้ตามปกติ โดยนำ ส่วนของเงินสมทบของนายจ้าง + ผลประโยชน์ของ เงินสะสม + ผลประโยชน์ของเงินสมทบ มารวมเป็นเงินได้ เพื่อเสียภาษี
        

ตัวอย่าง : สมมติว่ามีสมาชิกลาออกจากกองทุน หลังจากทำงานมาแค่ 4 ปี และได้รับเงินจากกองทุน 150,000 บาท โดยเป็นเงินสะสม 40,000 บาท ดังนั้น เงินได้ที่ต้องนำคำนวณเพื่อเสียภาษี จะเท่ากับ 150,000 – 40,000 = 110,000 บาท


     กรมสรรพากร ยังใจดีมากไปกว่านั้นอีก คือในกรณีที่เราเชื่อว่าเราจะสามารถหางานใหม่ได้ในเร็ววัน เราก็สามารถที่จะฝากให้กองทุนฯเขาดูแลเงินของเราไปได้หนึ่งปี โดยยังไม่ต้องรีบไปนำเงินออกมา เมื่อได้งานใหม่ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเหมือนกัน ก็ค่อยโยกเงินทั้งหมดมาลงในกองทุนฯใหม่
          
     เพราะอย่างนี้ สำหรับบางคนเมื่อออกจากงาน เงินที่ได้รับจากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียวก็สามารถจะทำให้มีชีวิต ในบั้นปลายได้อย่างแสนสุข ก็ได้แต่หวังว่า เมื่อถึงตรงนี้คุณคงเห็นประโยชน์ของ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วนะครับว่า มันเป็น “ตัวช่วย” เรื่องเงินๆทองๆของเราได้มากขนาดไหน สำหรับคนที่มีสิทธิ์แต่ไม่ใช้สิทธิ์ก็เหมือนทิ้งโอกาสทองไปจริงๆ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘