101 ปฏิบัติการพลิกชีวิต ตอนที่ 27 "บริหารเงินหลังเกษียณ"

     ถึงแม้ตลอดเส้นทางของปฏิบัติการ”พลิกชีวิต” ที่ทำให้เราเริ่มจัดระบบและสามารถบริหารชีวิตที่เกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆ ของเราได้ตามแผนดีขึ้น จนเริ่มใกล้ถึงเส้นชัยของการมีอิสรภาพทางการเงินในช่วงบั้นปลายชีวิต แต่สัจจธรรมอย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ “ความไม่แน่นอน คือความแน่นอน” ซึ่งอาจทำให้ผลลัพธ์ที่ต้องการอาจไม่ได้ตามเป้าหมายทั้งหมด 100%

     มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่อาจเข้ามาเป็นตัวฉุดให้แผนการบางอย่างต้องชะลอไป ซึ่งอาจจะส่งผลให้ในท้ายที่สุด เราอาจจะถึงเส้นชัยก็จริง แต่กลับไม่สามารถทำสะสมเงินได้ตามเป้าหมายมากพอที่จะมีอิสรภาพทางการเงินได้ อย่างแท้จริง

     ปัจจัยเสี่ยงที่เราอาจจะเผชิญ อาจจะเกิดจาก การจัดสรรเงินออมและลงทุนได้ต่ำกว่าการคาดการณ์ เพราะเกิดอุบัติเหตุทางการเงินบางอย่างที่รุนแรงกว่าที่เราคาดหมาย เช่นการถูกให้เกษียณก่อนกำหนด (Early Retirement) ทำให้เวลาในการสร้างรายได้ และการออมสั้นลงกว่าเป้าหมายที่วางไว้

     สำหรับบางคนอาจจะมีปัญหาจากความเสี่ยงในการลงทุน ที่ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำกว่าเป้าหมาย เช่น อาจเจอกับภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศอย่างรุนแรงจนทำให้ต้อง ประสบการขาดทุน หรืออาจะโดนผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อซ้ำเติม จนทำให้เงินเสื่อมค่าลง

     คำถามก็คือหากบางคนกำลังจะถึงเส้นชัย และต้องเปลี่ยนสภาพมาเป็น ส.ว. หรือ “ผู้สูงวัย” ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้แล้ว แต่หลายคนยังคงไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งสุทธิได้ตามเป้าหมายเพียงพอที่จะ ใช้เงินที่มีอยู่ในช่วงวัยเกษียณได้อย่างมีความสุข หรือสำหรับบางคนที่กลายเป็นผู้สูงวัยแล้ว แต่ยังมีเม็ดเงินต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ควรจะทำอย่างไร แทนที่จะมัวแต่“ฟูมฟาย”หรือ “ปลง” กับชะตาชีวิต

     ใจเย็นๆครับไม่ต้องตระหนกจนเกินไปนัก เพราะอย่างน้อยคุณก็มีเม็ดเงินที่เป็น “ต้นทุน” ชีวิตอยู่ในมือ และสิ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ กระบวนการ “ให้เงินทำงาน แทนเราไม่ได้จบลงหลังจากการเกษียณ เรายังคงต้องนำเงินก้อนและทรัพย์สินที่เรามีไปหาวิธีการสร้างผลตอบแทนจากการ ลงทุนให้ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถจะมีเงินใช้ไปอย่างสบายๆอีกอย่างน้อย 25 ปี ถ้าเราคิดว่าจะสิ้นลมไปเมื่อตอนอายุสัก 75 ปี

     ในเมื่อเรามีต้นทุนความั่งคั่งที่มีอยู่หลังเกษียณ สิ่งที่ควรจะต้องดำเนินการก็คือ จัดสรรสัดส่วนในการลงทุน หรือ พอร์ตการลงทุน (Portfolio) ให้เหมาะสมกับชีวิตที่เปลี่ยนไปของคุณ (ตารางประกอบ)



     กลยุทธ์การลงทุนวัยเกษียณที่อยากจะแนะนำคือ จัดแบ่งเงินของคุณที่มีอยู่ออกเป็น 3 กองหลักๆ กองแรกสำหรับค่าใช้จ่ายในปีแรกของการเกษียณ กองที่สองลงทุนระยะยาว 5-6 ปี และกองสุดท้ายลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้แบบขั้นบันได

     มีแบบจำลองที่จะช่วยให้คุณเห็นภาพชัดเจนขึ้น สมมุติว่า ณ วันที่คุณเกษียณ คุณมีเม็ดเงินในมือรวมกันประมาณ 4 ล้านบาท และมีเป้าหมายที่จะมีเงินใช้อย่างสบายๆเดือนละ 2 หมื่นบาท

     ในปีแรก คุณสามารถกันเงินออกมาอยู่ในบัญชีออมทรัพย์ประมาณ 3 แสนบาท และสามารถเบิกจ่ายออกมาใช้เดือนละ 2 หมื่นบาท โดนยังมีเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดอีกนิดหน่อยประมาณ 6 หมื่นบาท

     สำหรับเงินกองที่สอง คุณสามารถนำเงินประมาณ 2.5 ล้านบาทไปลงทุนระยะยาวประมาณ 5 ปีใน หุ้น หรือ กองทุนรวมตราสารทุน (กองทุนหุ้นฯ) เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยตั้งเป้าผลตอบแทนโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 10% ซึ่งเม็ดเงินจำนวนนี้เมื่อผ่านไป 5 ปี จะสามารถให้ผลตอบแทนกลับมาจนกลายเป็นเม็ดเงินประมาณ 4,026,275 บาท

     ส่วนเงินกองสุดท้าย 1.2 ล้านบาท คุณควรนำไปลงทุนซื้อหันธบัตร 5 กองๆละ 2.4 แสนบาท โดยมีอายุตั้งแต่1-5 ปี ตามลำดับ

     เมื่ออายุ 61 ปี พันธบัตรที่คุณซื้อเอาไว้จะเริ่มทยอยครบกำหนดไล่เป็นขั้นบันได ตลอดระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะทำให้คุณมีเงินสามารถใช้จ่ายเดือนละ 2 หมื่นบาท ได้ตลอด 5 ปีอย่างสบาย แถมยังมีผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยในแต่ละปี ที่เปรียบเสมือนเป็นเงินโบนัสอีกด้วย

     เมื่อเข้าสู่ปีที่ 6 คุณก็สามารถนำเม็ดเงินจากองที่สองที่ลงทุนเอาไว้ในหุ้น หรือกองทุนหุ้น กลับมาลงทุนในลักษณะเดิมได้อย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ



     มหัศจรรย์ใช่ไหมครับ เพียงแต่จุดสำคัญของทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับ การบริหารพอร์ตลงทุนในหุ้นหรือ กองทุนหุ้นของคุณว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงเฉลี่ยถึง 10% ทุกปีหรือไม่

     มีบางคนอาจจะเลือกตัดสินใจที่จะนำเงิน 2.5 ล้านบาทไปลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้เช่า ซึ่งวิธีการนี้ในช่วง 5 ปี ยังสามารถมีรายได้จากค่าเช่า และเมื่อพันธบัตรส่วนใหญ่กำลังหมดอายุก็อาจจะกลับมาทบทวนดูว่า มีรายได้จากค่าเช่าเพียงพอกับค่าใช้จ่ายรายเดือนหรือไม่ หรืออาจจะขายอสังหาริมทรัพย์ออกไป เพื่อนำเงินไปลงทุนในลักษณะเดิมก็ได้ หากสามารถขายได้ราคา

     แบบจำลองที่นำมาเป็นตัวอย่าง สามารถจะปรับเปลี่ยนไปตาม ตุ้นทุน ความั่งคั่งที่คุณมี ถ้ามีน้อยก็อาจจะทำให้เงินสำหรับใช้จ่ายในแต่ละเดือนลดลงตามสภาพ

     นอกจากการวางแผนจัดสรรการลงทุนหลังเกษียณแล้ว เพื่อรักษาเงินก้อนเอาไว้ให้นานที่สุด ผู้สูงวัยควรระมัดระวังไม่พึงกระทำในเรื่องบางเรื่อง เช่น การลงทุนในกิจการใหม่ หรือร่วมลงทุนกับใคร และที่สำคัญไม่ควรใจอ่อน ให้ใครยืมเงิน หรือใจดีขนาดไปยกเงินก้อนให้กับใครเป็นอันขาด

     หากกลัวเหงาใจ ก็ลองหางานอดิเรก หรืองานด้านสาธาณประโยชน์ทำเพื่อให้ตัวเองดูเป็น ส.ว.หรือผู้สูงวัยที่มีค่าในสังคม หรือหากไม่ชอบสังคมก็ลองใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น นอกเหนือไปจากใส่ใจกับสุขภาพกายและสุขภาพใจ เพื่อไม่ให้ตัวเองกลายเป็นภาระของบุตรหลาน

     เมื่อถึงเวลานั้น ชีวิตหลังเกษียณ อาจจะเป็นโลกใหม่สำหรับเรา แต่เราสามารถจะมีชีวิตอยู่กับมันได้อย่างมีความสุข สมวัย เพราะเราได้เตรียมการไว้จนมั่นใจว่าเราจะสามารถมีอิสรภาพทางการเงินได้อย่าง แท้จริง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘