101 ปฏิบัติการพลิกชีวิต ตอนที่ 26 "ประกันชีวิต"

เป็นเรื่องแปลกแต่จริง ทั้งๆพวกเราอาจจะรู้สึกเหมือนกับใกล้ชิดกับเรื่องของการประกันชีวิตมานานแสน นานแล้ว แต่หากหันไปดูตัวเลขทางสถิติกลับปรากฏว่า คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงมีการทำการประกันชีวิตกันไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร

     ในอดีตเหตุผลหลักๆส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยไม่นิยมการทำประกันชีวิต อาจจะเป็นเพราะความเชื่อเก่าๆที่บางคนคิดว่าเท่ากับ “แช่ง” ตัวเอง แต่ทัศนคติเชิงลบแบบนี้ก็เริ่มจางหายไปเรื่อยๆ เมื่อคนในยุคใหม่เริ่มเข้าใจในเรื่องการสร้างหลักประกันเรื่องเงินๆทองๆใน ชีวิตกันมากขึ้น

     เพราะเหตุนี้ ทำให้ในระยะหลังๆ อัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าพอใจ แต่เมื่อวิเคราะห์ลงลึกไปในรายละเอียด ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวเอื้ออำนวยก็น่าจะมาจากมีการออกแบบกรมธรรม์ที่มีรูป แบบส่งเสริมการออมและการลงทุน เพื่อจูงใจผู้ซื้อในยุคที่ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยงเงินฝากต่ำติดพื้นแบบ นี้
          
     แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ทำให้สมรภูมิของธุรกิจประกันชีวิตก็มีการแข่งขันกันอย่างสูง ทั้งจากบรรดายักษ์ใหญ่ในอดีต และจากธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ๆที่พยายามรักษาฐานลูกค้าเงินฝากของตัวเองเอาไว้ โดยมีการจูงใจโดยใช้การประกันชีวิตเป็นเครื่องมือส่งเสริมการขาย ซึ่งยิ่งทำให้
ทำให้มีการแข่งขันทางการตลาดกันอย่างรุนแรง
           
     อย่างไรก็ตามปัญหาใหญ่ที่สุด ที่ทำให้อัตราการขยายตัวของธุรกิจนี้ยังไม่เติบโตเต็มที่ ก็เพราะภาพลักษณ์ของ “ตัวแทนประกันชีวิต” หรือตัวแทนขายที่มีมากเสียจนแทบจะชนกันตาย ไม่เชื่อลองคิดแบบเร็วๆดูก็ได้ว่า คุณมีคนที่รู้จักที่อยู่ในธุรกิจประกันชีวิตมากเกินกว่า 2 คนหรือไม่ รับรองส่วนใหญ่ๆจะพยักหน้า
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ภาพลักษณ์ของบรรดาตัวแทนประกันชีวิต ส่วนใหญ่ก็มักจะมีบุคคลิกที่เป็น “นักขาย” มากเสียจนทำให้พวกเราไม่ค่อยจะไว้วางใจ
ในระยะหลังๆ บรรดาบริษัทประกันชีวิต จึงพยายามแก้ภาพลักษณ์เหล่านี้ โดยการทุ่มงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น

     แต่หากลองถามในเรื่องของความรู้พื้นฐานในการประกันชีวิต คนส่วนใหญ่ก็ยังคงส่ายหน้าเหมือนเดิม

     ตามหลักการ วัตถุประสงค์พื้นฐานของการทำประกันชีวิตนั้นคือ การคุ้มครองความเสี่ยง และมันอาจจะเป็นสินค้าบริการประเภทหนึ่งที่ทุกคนควรจะต้องซื้อ แต่ทุกคนก็ภาวนาว่า ขออย่าได้มีโอกาสใช้มันเลย

     ปัจจุบันรูปแบบการประกันชีวิต จะมี 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ กรมธรรม์แบบกำหนดระยะเวลา (Term Life) กรมธรรม์แบบตลอดชีพ (Whole Life) และกรมธรรม์แบบสะสมทรัพย์ (Endowment)

     กรมธรรม์แบบกำหนดระยะเวลา เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการวางแผนคุ้มครองภายใต้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น 5 ปี 10 ปี หรือ 15 ปี ซึ่งเบี้ยประกันจะเพิ่มขึ้นตามอายุของผู้ซื้อประกัน หากคุณไม่มีอันเป็นไปก่อนครบระยะเวลา ก็เท่ากับคุณต้องจ่ายเบี้ยประกันไปฟรีๆ เหมือนกับการทำประกันภับรถยนต์ ซึ่งทำให้หลายคนไม่ค่อยชอบ เพราะรู้สึกเสียดายเงินเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายทุกๆปี

     ในขณะที่กรมธรรม์แบบคุ้มครองตลอดชีวิต อาจจะมีค่าเบี้ยประกันเฉลี่ยแพงกว่าแบบกำหนดระยะเวลา แต่ก็มีข้อดี คือ จ่ายในอัตราเดียวกันทุกปี และครอบคุลมการจ่ายสินไหมทดแทนยาวนานกว่า คือตลอดชีวิตหรือจนถึงอายุ 90 ปี

     ส่วนกรมธรรม์แบบสะสมทรัพย์ จะเป็นการนำเรื่องของการคุ้มครอง และ ผลตอบแทนจากการออมมาพ่วงด้วย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะรูปแบบของกรมธรรม์แบบนี้ เหมาะกับอุปนิสัยของคนไทย ที่ไม่ค่อยนิยมการออมหากไม่บังคับ จึงทำให้ผู้ซื้อประกันมีความรู้สึกว่า กรมธรรม์รูปแบบนี้ได้ประโยชน์ทั้งสองด้าน ซึ่งหากไม่เสียชีวิตไปเสียก่อน ก็ยังมีโอกาสจะได้ใช้เงินเมื่อกรมธรรม์ครบกำหนดเวลา

     อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่า แต่ละคนควรจะทำประกันชีวิตในรูปแบบใดดี เพราะคงต้องย้อนกลับไปดูวัตถุประสงค์ของการทำประกันของแต่ละคนเป็นหลัก
สิ่งที่คุณควรตระหนัก คือ การคุ้มครองความเสี่ยง กับการลงทุนเป็น คนละส่วนกัน เพราะหากเราต้องการป้องกันความเสี่ยง เราก็ควรมองถึงทุนประกันที่ผู้รับประโยชน์จะได้รับ หรือค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของคุณหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นในชีวิตเป็นหลัก ซึ่งอย่างน้อยก็ไม่ควรต่ำกว่า รายจ่ายจำเป็นที่คนที่อยู่ข้างหลังเขาจะต้องใช้จ่าย เพื่อให้สามารถประคับประคองสถานการณ์ไปได้อย่างน้อยสัก 1 ปี ก่อนที่จะเริ่มตั้งหลักในชีวิตได้

     แต่หากเรามีกำลังหรือศักยภาพทางการเงิน หรือ คิดว่าตัวเองมี “ค่าตัว” มากกว่านั้น ก็อาจจะลองประเมินจากรายได้ในอนาคตไปข้างหน้าสัก 5 ปี หลังจากนั้นลองเอามูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่มีอยู่ในปัจจุบันหักกลบออกมา ก็พอจะทำให้ทราบว่า ควรทำประกันชีวิตด้วยทุนประกันมากน้อยแค่ไหน

     เมื่อเราสามารถประเมินทุนประกันที่เราต้องการได้แล้ว จึงมาพิจารณาว่าควรจะเลือกรูปแบบกรมธรรม์ในแบบใดที่จะเหมาะสมกับเรามากที่ สุด แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรกก็คือ เราต้องมั่นใจว่า เบี้ยประกันที่เราจะต้องจ่ายปีๆหนึ่งไม่ควรสูงเกินกว่า 10% ของรายได้ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุทางการเงินแบบไม่คาดฝัน มันอาจทำให้เราส่งเบี้ยประกันต่อไปไม่ได้

     สาเหตุที่ผมไม่อยากให้นำเรื่องของการคุ้มครองความเสี่ยง กับการลงทุนมารวมกัน เนื่องจากเมื่อนำทั้งสองอย่างมารวมกัน ทั้ง ทุนประกัน และ ผลตอบแทนจากการจ่ายเบี้ยตามกำหนดระยะเวลาคุ้มครอง บางทีคุณอาจจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันในแต่ละปีสูงมาก จนอาจจะกลายเป็นภาระมากจนเกินไป

     ที่สำคัญหากพิจารณาผลตอบแทน ที่ตัวแทนประกันเสนอขายให้กับคุณ อาจจะต่ำกว่าการนำเงินจำนวนนี้ไปลงทุนผ่านทางเลือกอื่นในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตร กองทุนรวม หรือ แม้แต่หุ้น

     เพราะอย่างนี้ คำแนะนำสำหรับคนที่อายุยังไม่มากนัก อาจจะมุ่งไปที่การทำประกันชีวิตในรูปแบบการคุ้มครองช่วงระยะเวลา เพื่อป้องกันความเสี่ยงสำหรับคนที่อยู่ข้างหลัง แต่อาจจะไม่จำเป็นต้องไปเน้นเรื่องผลตอบแทนมากนัก เพราะสามารถที่จะนำเงินไปลงทุนหาผลตอบแทนจากทางอื่นได้อยู่แล้ว

     สำหรับคนที่เริ่มอยู่ในวัยมั่นคง มีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงขึ้น อาจจะต้องการคุ้มครองในมูลค่าที่สูงขึ้น และสามารถให้การคุ้มครองไปตลอดชีวิต เพื่อให้มั่นใจว่าทายาทผู้สืบทอดของเราจะสามารถมีเงินมรดกจากทุนประกันของ เรา

     แต่หากเรายังคิดถึงตัวเองและมีความเชื่อว่า จะมีอายุยืนยาวไม่ตายง่ายๆ และหวังว่าการทำประกันชีวิต อาจจะช่วยในการออมเพื่อวัยเกษียณ ก็อาจจะพิจารณา การทำประกันชีวิตในรูปแบบของการออมทรัพย์ควบคู่ไปด้วย

     สิ่งที่ไม่ควรลืมก็คือ ผลจากการที่รัฐบาลมีนโยบายทางอ้อมในการสร้างหลักประกันในชีวิตให้กับประชาชน จึงมีมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้ทำประกันชีวิต โดยสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายในแต่ละปี ไปหักออกจากรายได้สุทธิ ก่อนจะไปคำนวณภาษีรายได้บุคคลธรรมดาประจำปี โดยกำหนดวงเงินเบี้ยประกันให้สูงถึงปีละ 100,000 บาท

     ทั้งหมดเป็นหลักพิจารณาอย่างกว้างๆสำหรับคนที่กำลังจะทำประกันชีวิต แต่ที่สำคัญผมอยากให้เราลองเปลี่ยนวิธีในการเลือกซื้อประกันชีวิต แทนที่จะปล่อยให้ “ตัวแทนประกันชีวิต” เป็นคนกำหนดรูปแบบ ทำไมเราไม่เป็นคนออกแบบเอง เพราะใครจะรู้ความต้องการของเราดีไปกว่าตัวเรา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘