101 ปฏิบัติการพลิกชีวิต ตอนที่ 22 "กองทุนเพื่อความมั่งคั่ง"

มาถึงตอนนี้คงมีคนที่ไม่อยากเป็นคนธรรมดาจำนวนไม่น้อย ที่ต้องการมุ่งหน้าต่อไปในเส้นทางของการเปลี่ยนแปลงเพื่อพลิกชีวิต โดยมีเป้าหมายสุดท้าย หรือ หลักชัย คือ การมีอิสรภาพทางการเงิน
 
     หลายคนคงเริ่มมีเม็ดเงินเหลือจากรายได้ประจำ หลังจากสามารถจัดการกับภาระการเงินต่างๆจนเริ่มเข้าที่เข้าทาง
 
     ภาระหนี้สินที่เคยสร้างความทุกข์ใจให้ได้ถูกปลดเปลื้องไป มีการสร้าง “เกราะ” ป้องกันตัวเอง โดยมีเงินกองทุนฉุกเฉิน สำรองไว้อย่างน้อย 3-6 เดือนของค่าใช้จ่ายที่จำเป็น

     ขณะเดียวกัน มีการวางแผนเพื่อวัยเกษียณ โดยการลงทุนใน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) และยังมีการลงทุนใน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund-RMF) และ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund-LTF)

     จากนี้ไปเรากำลังจะช่วยกันค้นหาถึงวิธีการสร้างทรัพย์สินให้เพิ่มขึ้น เพื่อความมั่งคั่ง ของแต่ละคน โดยการสร้าง “กอง ทุนเพื่อความมั่งคั่ง” โดย อาศัยเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นจากรายได้ประจำ ซึ่งมีเคล็ดลับสำคัญ คือ โครงสร้างการหมุนเวียนระหว่าง การออม-ลงทุน-เงินก้อน-ลงทุน-เงินก้อน

     บรรดาผู้มีฐานะเข้าขั้นเศรษฐีเกือบทุกคน จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เงินล้านแรกนั้นเป็นอะไรที่ยากลำบากที่สุด แต่เมื่อเราเริ่มมีเงิน 1 ล้านบาทแรกในบัญชี ชื่อผมเถอะครับ เงินล้านที่สอง ล้านที่สาม ก็จะตามมา

     คำถามสำคัญก็คือ ในช่วงแรกของการเริ่มลงทุน ที่เรายังไม่มีเงินก้อน เราควรจะเอาเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นของเราไปวางไว้ที่ไหนถึงจะให้ผลตอบแทนได้ดี ที่สุด
  
     เพื่อที่จะไปให้ถึงเป้าหมายของคุณ แทนที่จะนำเงินไปออมแบบฝากประจำ ที่ได้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝากเพียงน้อยนิด ผมเสนอให้นำรายได้ในส่วนนี้ในแต่ละเดือนไปลงทุนใน “หุ้น” แบบต่อเนื่องในลักษณะ “ฝากประจำ” ทุกๆเดือน ซึ่งก็คือ กลยุทธ์ การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Averaging-DCA) ที่ผมเคยแนะนำไว้แล้ว

     วิธีนี้นอกจากจะเหมาะกับคนเบี้ยน้อยหอยน้อย แต่อยากลงทุนในหุ้นแล้ว ยังช่วยเฉลี่ยความเสี่ยงของการลงทุนซื้อในช่วงจังหวะที่ไม่เหมาะสม ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยของหุ้นที่อยู่ในพอร์ตของเราต่ำลง
 
     เพียงแต่คุณต้องกำหนดแผนการลงทุนในแต่ละเดือนของคุณให้ชัดเจนว่าต้องการซื้อ หุ้นอะไรบ้าง และลงทุนเดือนละเท่าไร รวมทั้งกำหนดกรอบเวลาล่วงหน้าเอาไว้ว่า ต้องการจะซื้อต่อเนื่องไปยาวนานแค่ไหน

     เทคนิคนี้ผมเคยทดลองใช้เองแล้ว ปรากฏว่ามันได้ผลอย่างไม่น่าเชื่อ  
ในตอนนั้น ภาวะการเงินของผมเริ่มเข้าที่เข้าทาง พอจะมีเงินออมเหลือในแต่ละเดือน ซึ่งถ้าไม่บริหารจัดการให้ดี เงินจำนวนนี้ก็คงละลายหายไปกับรายจ่ายที่ไม่จำเป็น หรือ ถูกแปลงเป็น “สมบัติไร้ค่า” ในที่สุด

     โปรแกรม DCA จึงน่าจะเป็นคำตอบที่ดี ในการบังคับให้เกิดการออมควบคู่ไปกับการลงทุนอย่างสม่ำเสมอในหุ้นดีๆที่ผม สนใจ โดยใช้เม็ดเงินไม่มากนักในแต่ละเดือน
 
     1 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก จากจุดเริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายน 2547 ผมใช้เงินออมเดือนละ 25,000 บาท ลงทุนซื้อหุ้น 5 ตัว คือ PTT/ SCC/ EGCO/ BBL และ ADVANC

     เมื่อถึงเดือนตุลาคมในปีถัดมา ผมมีหุ้นทั้ง 5 ตัวอยู่ใน Portfolio ของผม โดยมีต้นทุนเฉลี่ยส่วนใหญต่ำกว่า ราคาตลาด ณ เดือน ตุลาคม ปี 2548 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายที่ผมเริ่มลงทุนตามโปรแกรมนี้ยกเว้น ADVANC ที่โดนผลกระทบจาก กรณีที่มีการขายหุ้นให้กับสิงคโปร์จนเป็นชนวนเหตุวิกฤติการเมืองในเวลาต่อมา



     ในช่วงปลายปี 2548 ต่อเนื่องมาจนถึง ปี 2549 บรรยากาศการเมืองยังคงคุกรุ่น ทำให้ผมตัดสินใจชะลอการลงทุน และตัดสินใจขายหุ้น ADVANC ออกไป คงเหลือเฉพาะ หุ้นอีก 4 ตัว ที่ตัดสินใจ “ ถือยาว” เพื่อรอโอกาส
 


     จนถึงราวเดือนตุลาคม 2550 จากเม็ดเงินที่ลงทุนไปประมาณ 3 แสนบาท ผมตัดสินใจขายหุ้นที่มีอยู่ทั้งหมดออกไป ปรากฏว่าผมได้กำไรจากการลงทุนสูงถึง 168,751.09 บาท โดยมาจาก ส่วนต่างของราคา 137,233.63 บาท และ จากเงินปันผลอีก 31,517.36 บาท คิดเป็นกำไรสูงถึง 56.33%
 
     หลายคนคงสนใจวิธีการลงทุนแบบนี้แล้วใช่ไหมครับ ซึ่งโปรแกรมในลักษณะนี้ก็มีบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งที่เริ่มนำมาใช้แต่ยัง ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก แต่ระยะหลังๆบรรดาบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ.หลายแห่งก็เริ่มนำมาใช้ในการขยายตลาดการลงทุนในกองทุนรวมเช่นกัน

     สำหรับผู้ที่สนใจ คำถามที่หลายคนสงสัยในใจก็คือ หุ้นตัวไหนล่ะที่เราควรซื้อเพื่อลงทุน
  
     วิธีการเลือก “หุ้น”ในดวงใจที่ได้ผลที่สุด ก็คือ เลือกหุ้นที่คุณมีความใกล้ชิดกับมันที่สุด

     ใช่ครับ! หากคุณอยู่ในธุรกิจอะไร คุณย่อมมีความรู้เกี่ยวกับวงจรของธุรกิจนั้นเป็นอย่างดี รวมทั้งรู้แนวโน้มความเคลื่อนไหวต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณ ลองใช้เวลาศึกษาหุ้นในกลุ่มธุรกิจที่คุณใกล้ชิด และเลือกลงทุนในหุ้นที่อยู่ในวงจรขาขึ้นของวัฐจักรเศรษฐกิจแบบในปัจจุบัน  ก่อนที่จะเจาะลึกลงไปจนถึงหุ้นรายตัว

     หุ้นที่อยู่ในเป้าหมายของผม นอกเหนือจากดูผลประกอบการในอดีต โดยเฉพาะการจ่ายเงินปันผล สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ ทิศทางและอนาคตของธุรกิจ วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร และทีมงานก็เป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกันสภาพคล่องของปริมาณหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาดก็เป็นอีกปัจจัยที่ ควรพิจารณา

     คงไม่ต้องถามผมนะครับว่า ทุกวันนี้ผมยังเลือกการลงทุนด้วยวิธีนี้อยู่หรือเปล่า โครงสร้างง่ายๆที่ผมใช้ คือ ใช้โปรแกรม DCA ลงทุนในหุ้นในดวงใจตัวใหม่ๆ ขณะที่นำเงินก้อนที่ได้จากการขายหุ้น DCA ไปวางไว้ในทางเลือกใหม่ๆอย่างอื่นๆที่อาจจะมีความเสี่ยงต่ำลง

     อย่างที่บอกละครับ เมื่อคุณมีเงิน 1 ล้านบาทแรกได้แล้ว ล้านที่สอง ล้านที่สาม มันก็จะตามมาเอง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘