101 ปฏิบัติการพลิกชีวิต (ตอนที่ 2 บทเรียนในอดีต)

ผมเองยังจำความรู้สึกเมื่อตอนที่ผมยังเป็นเด็กหนุ่มที่เพิ่งกระโดดเข้าสู่เส้นทางของการเป็นนักข่าวได้เป็นอย่างดี
  
     ไม่ต่างอะไรกับเพื่อนๆในแวดวงสื่อมวลชนส่วนใหญ่ ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อย ยากลำบากแค่ไหนกับการทำงาน แต่เพราะบทบาทสื่อมวลชนที่เราสวมอยู่ เมื่อผนวกกับบรรยากาศการทำงานในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน เศรษฐกิจกำลังเดินไปด้วยดี มันกลับเป็นพลังผลักดันให้เรารู้สึก “มันส์” และสนุกกับการทำงานแบบบ้าคลั่ง เพื่อก้าวไปให้ถึงจุดสุดยอดที่แต่ละคนใฝ่ฝัน

     ในยุคนั้นพวกเราส่วนใหญ่ใช้วิธีชดเชยการทำงานหนักของแต่ละคน ให้รางวัลกับตัวเองด้วยการปล่อยตัวให้สนุกไปกับการใช้ชีวิตแบบเสรีชน ที่มีอิสรภาพ ไร้ข้อผูกมัดใดๆ แม้แต่เรื่องเงินๆทองๆ

     เงินเดือนแต่ละเดือนละลายหายวับไปกับ ค่าใช้จ่ายจากการดื่ม กิน และจับจ่ายใช้สอยอย่างไม่ระมัดระวัง จนในที่สุดทั้งๆที่แต่ละคนมีรายได้ต่อเดือนอยู่ในระดับค่อนข้างดี แต่เกือบทุกคนก็ต้องเผชิญทุกสิ้นเดือนอย่าง ”สยดสยอง” เมื่อพบว่าแต่ละเดือนแทบไม่เหลือเงินสดในกระเป๋า

     ถึงอย่างนั้น บางคนยังคงไม่ยี่หระกับอนาคต แถมยังท้าทายด้วยการใช้บัตรเครดิต “รูด”เอาเงินในอนาคตมาใช้ เพราะมั่นใจกับความสำเร็จที่ตัวเองวาดฝัน แต่ยังมาไม่ถึง (เงินโบนัส)   

     เพราะเชื่อมั่นและถือดีว่าตัวเองหาเงิน ”เก่ง” ถึงแม้จะใช้เงิน “เปลือง” แต่ก็มีช่องทางหารายได้เสริมจากงานเขียน หรือบางคนพร้อมที่จะเปลี่ยนงานใหม่ เมื่อถูกเสนอเงินเดือนสูงขึ้น        

     ไม่มีใครเรียกร้องหา ”สูตรลับ” ในการหาเงิน ไม่มีใครสนใจ ”เคล็ดลับ” ในการบริหารเงินในกระเป๋า ทุกคนเชื่อว่า วิธีที่ง่ายที่สุดในการแก้ปัญหา เมื่อเงินในกระเป๋าไม่พอใช้ก็คือ ทำงานให้หนักขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ หรือ “รูด” บัตรเครดิตดึงเงินในอนาคตมาใช้

     เพราะวิธีคิดแบบนี้ เมื่อเกิดเหตุพลิกผันทางการเมืองในปี 2535 หลายคนประสบชะตากรรมที่เลวร้าย และยิ่งหนักหนาสาหัสมากขึ้นไปอีก เมื่อฟองสบู่ของเศรษฐกิจไทยแตกอย่างรุนแรงในปี 2540

     สำหรับผม ความรู้สึกตอนนั้นก็เหมือนคนสิ้นหวัง ไม่ต่างอะไรกับคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่รายได้หดหายเพราะถูกลดเงินเดือน หรือต้องตกงานแบบไม่ทันตั้งหลัก ความสนุกกับงานที่เคยมีเหือดแห้งไป มีแต่ความเหน็ดเหนื่อย และเหนื่อยหน่ายเมื่อเวลา “จดหมายทวงหนี้” หรือ “ใบแจ้งหนี้” มากองอยู่ที่ตู้ไปรษณีย์

     ความรู้สึกตอนนั้นทำให้ผมอดคิดไม่ถึง สำนวนหนังสือจีนกำลังภายใน “มิเห็นโลงศพ มิหลั่งน้ำตา”  ที่อ่านเจอเป็นประจำในอดีต

     เพราะการใช้ชีวิตอยู่ด้วยความประมาท ทำให้เงินที่เข้ามาในแต่ละเดือนหลังจากนั้น ต้องหมดไปกับการจ่ายหนี้  แทบไม่มีอะไรสักอย่างเหลือให้เห็นถึง ความหวังที่จะสามารถไต่ขึ้นมาให้หลุดพ้นจากหุบเหวแห่ง ”หนี้สิน” ที่กำลังเผชิญอยู่ตรงหน้า

     อิสรภาพในการใช้ชีวิตที่แสนเสรีไร้ขีดจำกัด สลายหายวับไปในเวลาอันสั้น กลายเป็นคนที่ถูกมัดมือมัดเท้า ต้องก้มหน้าก้มตาแบกภาะหนี้สินที่สร้างเอาไว้ จนแทบไม่เหลือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

     คงไม่ต่างอะไรกับคุณบางคน ณ พ.ศ.นี้ หลังจากโดนผลพวงจาก วิกฤติ “แฮมเบเกอร์” ที่สหรัฐฯ แถมยังโดนผลกระทบจากวิกฤติการเมืองในบ้านเราที่ยืดเยื้อยาวนานมาหลายปี

     มีรุ่นน้องของผมบางคน ที่เคยทำมาค้าขายอยู่แถวราชประสงค์ มีฐานะจัดอยู่ในขั้นน้องๆเรียก “เสี่ย” แต่พอเจอพิษจาก “ม็อบราชประสงค์” ที่ถึงขั้นเผาบ้านเผาเมืองกันเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเท่านั้นแหละครับ บ่นอยากจะผูกคอตายหนีหนี้วันละหลายหน

     เพราะอย่างนี้ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร ผมอยากตั้งคำถามง่ายๆว่า คุณยังสามารถจัดการกับปัญหาทางการเงินของคุณได้ไหม หรือ “ใบแจ้งหนี้” กำลังจัดการกับคุณอยู่ ไม่ต่างอะไรกับประสบการณ์ในอดีตของผม

     ยังไม่ต้องรีบตอบคำถามหรอกครับ แต่คุณจะเชื่อหรือไม่! ถ้าผมจะบอกกับคุณว่า อนาคตและชะตากรรมของคุณทั้งหมด มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยภายนอกอย่างที่คุณคิดเข้าข้างตัวเองหรอก แต่ทั้งหมดมันเริ่มต้นมาจากความรู้สึกของคุณที่มีต่อเรื่องเงินๆทองๆนั่น แหละ

     เชื่อหรือไม่! ถ้าผมจะบอกกับคุณว่า มันก็ไม่ได้ต่างอะไรไปจากเรื่องอื่นๆในชีวิตของคุณที่ใช้มันอย่างสิ้นเปลือง ไม่ระมัดระวัง ทั้งๆที่มันจำเป็นต้องมี “การเปลี่ยนแปลง” เพียงแต่คุณไม่เคยคิดจะยอมรับความจริงที่แสนน่าสะพรึงกลัวเหล่านั้น!

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘