101 ปฏิบัติการพลิกชีวิต ตอนที่ 19 "คุณสมบัติ 10 ประการ"

ไม่มีสิ่งใดสายสำหรับการเริ่มต้นใหม่ “โอกาส” ยังคงเปิดกว้าง ถึงแม้ “เวลา”จะเดินต่อไปจนเหลือน้อยเต็มทีสำหรับหลายคน แต่อย่างน้อยสิ่งที่น่าดีใจก็คือ เมื่อเราเลือกที่จะเป็นคนที่ไม่ธรรมดา และเดินเข้าสู่เส้นทางของการเปลี่ยนแปลงเพื่อพลิกชีวิต ปัญหาต่างๆที่เคยเผชิญเกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆก็น่าจะได้รับคลี่คลายไปใน ทิศทางที่ดีขึ้น
  
     บันไดขั้นแรก หรือขั้นที่สอง ที่ให้คุณเริ่มลงทุนอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ เพื่อสร้าง ”กองทุนเพื่อวัยเกษียณ”  ในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund-RMF) และ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund-LTF) คงไม่ใช่ขั้นตอนที่จะทำให้คุณรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เป็นการเตรียมตัวสำหรับชีวิตในอนาคตหลังเกษียณมากกว่า

     เพราะอย่างนั้นหากคุณไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างจริงจัง เพราะมักจะมีไอ้เจ้าเสียงเล็กๆมาคอยกระซิบข้างหูคุณว่ามีสิ่งอื่นที่น่าสนใจ กว่า ในที่สุดคุณก็จะกลับไปเป็นคนธรรมดาที่จะต้องทำงานไปจนเกษียณอายุโดยไม่มี อะไรเหลือเป็น ต้นทุนชีวิต ในยามแก่ชราเหมือนเดิม

     มีบางคนเปรียบเทียบการลงทุนที่เป็นระบบอย่างสม่ำเสมอว่า ไม่ต่างอะไรกับ เต่าที่สามารถเข้าถึงเส้นชัยชนะกระต่ายได้ในการวิ่งแข่งขัน  

     ถ้าคุณยังคงมุ่งหน้าต่อไปในเส้นทางของการเปลี่ยนแปลง จากนี้ไปผมกล้ารับประกันว่าคุณกำลังจะเป็นผู้ชนะ เพราะเรากำลังจะช่วยกันค้นหาถึงวิธีการเพิ่มรายได้ เพื่อนำเงินก้อนใหม่ไปลงทุนให้งอกเงยสร้างความมั่งคั่งให้กับคุณมากขึ้น

     เมื่อตอนที่ผมพยายามเปลี่ยนแปลงชีวิตในแต่ละขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการล้างหนี้สินในอดีต การเก็บเงินเพื่อสร้าง “กองทุนฉุกเฉิน” มาจนถึงการเริ่มลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ กองทุนรวมที่ช่วยลดหย่อนภาษี สิ่งหนึ่งที่ผมเริ่มตระหนักก็คือ ผมเริ่มรู้สึกว่าค่าใช้จ่ายประจำวันในชีวิตของผมมันลดน้อยลงทุกทีๆ แต่ก็น่าแปลกที่มันไม่ได้ทำให้ “ความสุข”ในชีวิตหดหายไป

     ผมเริ่มมีเม็ดเงินเหลือจากรายได้ประจำจากเงินเดือนที่ผมได้รับสูงขึ้นตาม ตำแหน่งหน้าที่การงานที่ก้าวหน้าขึ้น ขณะเดียวกันผมเริ่มเห็นลู่ทางในการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น จากการใช้เวลาว่างหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆมากกว่าในอดีต

     พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เกิดจากความสนุกในการค้นหาแนวทางในการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น จนทำให้ผมมั่นใจลึกๆว่า ผมมีสิทธิ์ที่จะเป็นเศรษฐีระดับสิบล้านบาทกับเขาเหมือนกัน
  
     ผมอาจจะโชคดีที่ทำงานอยู่ในวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน ทำให้มีโอกาสได้พบกับผู้นำทางสังคมที่หลากหลาย ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ ผู้บริหารในองค์กรภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งบรรดามหาเศรษฐีเจ้าของกิจการหลัก ร้อยล้าน พันล้าน ไปจนถึงหมื่นๆล้านบาท ทั้งในและต่างประเทศ

     ขณะเดียวกัน เพราะผมเชื่อว่า “ชีวิต คือ การลงทุน” จึงทำให้ผมสนุกกับการที่จะศึกษาถึงปูมหลัง และการสร้างเนื้อสร้างตัวจนประสบความสำเร็จของผู้คนเหล่านี้ว่าเขาต้องลงทุน ในสิ่งใด เพื่อให้ชีวิตประสบความสำเร็จ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับตัวเอง

     มหัศจรรย์อย่างหนึ่งที่ผมค้นพบก็คือ ไม่มีมหาเศรษฐีคนไหนที่ไม่เคยเผชิญกับวิบากกรรมในชีวิต บางคนเกิดมายากจนข้นแค้น หรือหลายคนเคยล้มเหลวในชีวิต ถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว แต่คนที่ไม่ธรรมดาเหล่านี้ มักจะมีจุด“พลิกผัน” ที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นนำไปใช้เป็นพลังในการต่อสู้ เพื่อพลิกชีวิตตัวเองให้สามารถชนะอุปสรรคต่างๆในชีวิตได้อย่างน่าอัศจรรย์

     ยิ่งไปกว่านั้น ผมพบว่า คุณสมบัติของบรรดาผู้คนที่ประสบความสำเร็จร่ำรวยถึงขั้นมหาเศรษฐีมักจะมี เหมือนๆกันที่เห็นชัดเจน มี  10 ประการ ประกอบด้วย
  1. ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง (คิด-พูด-กระทำ)
  2. มุ่งมั่นในการทำงาน (ไม่เกียจคร้าน)
  3. ความเป็นผู้นำในสายงานอาชีพของตัวเอง (ผู้นำ)
  4. สนใจหาความรู้ใหม่ๆตลอดชีวิต (ไม่ทำตัวเป็น “น้ำชาล้นแก้ว”)
  5. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เป็นที่รักของผู้คน   (ไม่โอ้อวด ”โชว์ออฟ”)
  6. มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆตลอดเวลา (คิดนอกกรอบ)
  7. ตัดสินใจลงทุนอย่างมีวินัยไม่ใช้อารมณ์ (ไม่โลภ หรือ เล่นการพนัน)
  8. ลงทุนในที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ (มรดก ทรัพย์สิน)
  9. ความรับผิดชอบต่อสังคม (ตอบแทนสังคม บริจาค)
  10. ให้ความสำคัญกับครอบครัว กตัญญูต่อบุพพการี และ ผู้มีพระคุณ
     คุณสมบัติที่ผมพยายามรวบรวมมาทั้ง 10 ข้อ คือ ความแตกต่างระหว่างคนไม่ธรรมดาที่ประสบความสำเร็จในชีวิต จนสามารถมีเงินมีทองเป็นมหาเศรษฐี กับคนธรรมดาทั่วๆไป

     ก่อนที่ผมจะพาคุณเดินต่อไปในเส้นทางการเปลี่ยนแปลงเพื่อพลิกชีวิต วันนี้ลองกลับไปสำรวจตัวเองดูนะครับว่า มีคุณสมบัติครบทั้ง 10 ข้อ เพียงพอที่จะก้าวขึ้นชั้นเป็นมหาเศรษฐีกับเขาหรือไม่!!!

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘