101 ปฏิบัติการพลิกชีวิต ตอนที่ 18 "ให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม"

สำหรับหลายๆคนอาจจะโชคดีที่มี “ตัวช่วย” คือสามารถนำเงินไปลงทุน เพื่อทวีค่าใน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ทำให้สามารถก้าวขึ้นบันไดขั้นแรกของเส้นทางการลงทุนไปได้แล้วส่วนหนึ่ง แต่สำหรับคนที่ไม่มีตัวช่วยแบบนี้ ก็คงต้องทำใจหันกลับมาพึ่งตัวเองจากเม็ดเงิน 15% ที่เราเหลือในแต่ละเดือน


     ถึงแม้วัฐจักรเศรษฐกิจในช่วงนี้ดูจะเริ่มเป็นช่วง ขาขึ้น ที่อาจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเริ่มขยับสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามแนวโน้มของอัตราผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็คงยังอยู่ ในระดับต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ทำให้เราต้องมองหาทางเลือกอื่นๆในการลงทุนที่น่าจะให้ผลตอบแทนสูงกว่า

     บนโลกแห่งการลงทุน เราสามารถลงทุนในสินทรัพย์หลักๆ สองประเภท คือ

     1. สินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ อัญญมณี ภาพเขียน นาฬิกา หรือแม้แต่ รถเก่า

     2. สินทรัพย์ทางการเงิน เช่น เงินฝากประจำ สลากออมสิน พันธบัตร หุ้น (หลักทรัพย์ฯ) กองทุนรวม เงินตราต่างประเทศ หรือ ตราสารอนุพันธ์
ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะลงทุนอะไร สิ่งสำคัญที่สุดที่ทุกคนต้องพิจารณาก็คือ ต้องหันกลับไปดูความพร้อมของแต่ละคนว่ามี “ต้นทุน” และความทนทานต่อการแบกรับ “ความเสี่ยง”มาก น้อยเพียงใด เพราะคงไม่มีใครต้องการจะวิ่งถอยหลังกลับไปแก้ปัญหาใหม่อีกครั้ง หลังจากเผชิญความเจ็บปวด และวิบากกรรมจากการเป็นหนี้สินกันมาแล้ว

     เมื่อหกปีก่อน ตอนที่ผมเข้ามาทำงานที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เราได้ริเริ่มส่งเสริมการลงทุนในกองทุนรวมภายใต้ชื่อ “โครงการให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม”  ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง และต้องถือเป็นความภาคภูมิใจส่วนตัวสำหรับการทำงานในช่วงเวลาหนึ่งของผมที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 

     พวกเรามีความเชื่อและมั่นใจว่า การลงทุนในกองทุนรวมนั้นสามารถตอบโจทย์ให้กับผู้ที่สนใจจะลงทุนแต่อาจจะขาด ความพร้อมในหลายๆด้าน เช่น มีเงินน้อย-ไม่มีความรู้-ไม่มีเวลา แต่ต้องการแสวงหาทางเลือกในการลงทุนที่มีโอกาสจะได้รับผลตอบแทนที่กว่าผลตอบ แทนจากดอกเบี้ยธนาคาร

     กองทุนรวม สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้ เพราะมันเป็นการระดมทุนจากนักลงทุนรายย่อยมารวมกันให้เป็นเงินก้อนใหญ่ โดยผ่านกลไกของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม หรือ บลจ. ที่เป็นผู้จัดตั้งกองทุนฯ และนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆที่หลากหลายเพื่อให้ได้ผลตอบแทน ตามนโยบายที่แต่ละกองทุนฯกำหนด โดยจะมีผู้จัดการกองทุนฯมืออาชีพป็นผู้บริหาร

     ใช่ครับ! ในช่วงปีแรกของการก้าวสู่อาณาจักรของการลงทุน กองทุนรวม (Mutual Fund) คือ ตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกคนที่ต้องการก้าวไปให้ถึงฝั่งฝัน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่แต่ละคนจะ “ปีกกล้าขาแข็ง” พอในการเริ่มวางแผนกระจายการลงทุนไปยังตราสารประเภทอื่นๆในอนาคต

     ปัจจุบันกองทุนรวมมีอยู่มากมายนับเป็นร้อยๆกองทุนในประเทศไทย แต่กองทุนรวมที่เหมาะสมสำหรับ นักลงทุนประเภท “มือใหม่หัดขับ” แถมยังมีเบี้ยน้อยหอยน้อย ที่ผมอยากจะแนะนำคือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund-RMF) และ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund-LTF)

     กองทุนทั้งสองประเภทมีจุดเด่นที่สุด คือ การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีให้กับผู้ลงทุน เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมให้เกิดการออมเพื่อการเกษียณ จึงได้ออกมาตรการภาษีให้ผู้ที่ลงทุนในกองทุนทั้งสองประเภทนี้สามารถนำเงิน ที่ลงทุนไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีได้สูงถึง 15% ของรายได้ หรือ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

     สำหรับกองทุน RMF นั้น มีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการซื้อต่อเนื่องทุกปี และถือหน่วยลงทุนเอาไว้จนกระทั่งอายุ 55 ปี หรือ ถือไว้อย่างน้อย 5 ปี ส่วนกองทุน LTF นั้น ไม่มีเงื่อนไขเรื่องอายุ เพียงแต่ต้องถือหน่วยลงทุนไว้อย่างน้อย 5 ปีปฏิทิน

     ความแตกต่างอีกอย่างของสองกองทุนนี้ก็คือ LTF เป็นกองทุนรวมที่เน้นการลงทุนในหุ้น ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงสูงกว่า กองทุน RMF ที่จะมีนโยบายลงทุนในลักษณะแบบผสม ระหว่างตราสารหนี้ และตราสารทุน (หุ้น) ซึ่งตามปกติจะมีความหวือหวา-ผันผวนน้อยกว่า

     จากเม็ดเงินที่เริ่มมีเหลือในแต่ละเดือนเพียงประมาณ 15% จากรายได้ประจำของแต่ละคน คงต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่ “ต้นทุน”เงินก้อนใหญ่พอที่จะสามารถนำไปลงทุนในสินทรัพย์ฯอะไรในคราวเดียวได้ มากมายนัก แต่หากเราสามารถนำเม็ดเงินนี้ไปลงทุนอย่างต่อเนื่องทุกเดือนในที่สุดก็จะ เป็นเม็ดเงินก้อนใหญ่พอสมควร

     ขณะเดียวกัน การลงทุนแบบต่อเนื่องแบบฝากประจำ หรือ การใช้กลยุทธ์ การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Averaging-DCA) ก็เป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเข้าไปลงทุนซื้อในช่วงจังหวะที่ไม่เหมาะสม และยังช่วยเฉลี่ยต้นทุนให้ต่ำลง 

     ที่ผ่านมา นักลงทุนจำนวนหนึ่งมักจะนำเงินก้อนที่ได้รับจากโบนัสกลางปี หรือปลายปี ไปซื้อกองทุนรวม RMF หรือ LTF ซึ่งส่วนใหญ่มักจะพบกับความผิดหวัง เนื่องจากเมื่อทุกคนคิดเหมือนกัน ทำให้ในช่วงปลายปีจะมีกำลังซื้อเข้าไปในตลาดพร้อมๆกัน และมักจะเป็นจังหวะที่ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญๆมักจะอยู่ในช่วงขาขึ้น จึงทำให้มีต้นทุนในการลงทุนแพงกว่าปกติ

     ปัจจุบันมีบลจ.หลายแห่งที่มีโปรแกรมการลงทุนในลักษณะถัวเฉลี่ยต้นทุน (DCA) ให้เลือก โดยสามารถใช้โปรแกรมตัดเงินจากบัญชีอัตโนมัติตามจำนวนที่เราต้องการ ณ วันใดวันหนึ่งของทุกเดือน เพื่อไปลงทุนในกองทุนฯที่เราต้องการจะลงทุน

     วิธีในการลงทุนในการซื้อหน่วยลงทุนก็ไม่ยากลำบากอะไร สามารถเข้าไปเปิดบัญชีซื้อ-ขายได้ที่ บลจ.ที่เราสนใจ หรืออาจจะเปิดบัญชีผ่านสาขาของธนาคารพาณิชย์ ของ บลจ.ที่เป็นผู้บริหารกองทุนดำเนินงานอยู่ ราคาของหน่วยลงทุนที่เราจะซื้อในแต่ละครั้ง ก็จะขึ้นอยู่กับราคา NAV (Net Asset Value) ของหน่วยลงทุน ซึ่งจะขึ้นลงตาม “มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ” ทั้งหมดของกองทุนในวันนั้น  และความแตกต่างของ NAV ในแต่ละวันก็จะเป็นตัวสะท้อนผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุน

     หลักทั่วๆไปในการพิจารณาเลือกกองทุนฯ ประการแรกคือ ก่อนอื่นก็ต้องอ่านหนังสือชี้ชวน เพื่อให้ทราบถึงนโยบายในการลงทุนของกองทุนนั้นๆว่า จะนำเงินไปลงทุนในตราสารประเภทไหนบ้าง ศึกษาถึงผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี-3 ปี-5 ปี รวมทั้งตรวจสอบว่าใครเป็นผู้บริหารกองทุนฯ และสามารถสร้างผลตอบแทนได้น่าประทับใจหรือๆไม่

     ทั้งหมดอาจจะเป็นบันไดขั้นแรกสำหรับคนที่ไม่มีตัวช่วย หรือบรรดาผู้ที่มีอาชีพอิสระ แต่อาจจะเป็นบันไดขั้นที่สองสำหรับอีกหลายๆคนที่มีกองทุนกึ่งบังคับอย่าง กบข. หรือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้เป็นต้นทุนอยู่แล้ว

     มาถึงจุดนี้ การเปลี่ยนแปลงเพื่อพลิกชีวิตได้พาคุณมาถึงจุดที่เห็นแสงสว่าง และอาจจะเป็นครั้งแรกที่คุณเริ่มสัมผัสกับกลิ่นไอของความรู้สึกที่มีอิสรภาพ จากพันธะทางการเงินมากขึ้น แต่ก่อนที่จะเดินต่อไป ผมอยากให้ลองตั้งคำถามกับตัวเองใหม่อีกครั้งว่า หากคุณต้องการให้เงินของคุณงอกเงยมากกว่านี้ คุณต้องเตรียมความพร้อมอะไรอีกบ้าง
?

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘