101 ปฏิบัติการพลิกชีวิต ตอนที่ 17 ชีวิต คือ การลงทุน

“Spend less and invest more” คือ คาถาที่คุณต้องจำให้ขึ้นใจสำหรับปฏิบัติหลังจากจุดนี้ไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงเพื่อพลิกชีวิต และผมคงต้องย้ำเตือนบ่อยๆ สำหรับใครก็ตามที่สามารถผ่านช่วงแรกของชีวิตที่แสนยากลำบากในการล้างหนี้ และเริ่มออมเงินเพื่อใส่ไว้ใน “กองทุนฉุกเฉิน” ได้สำเร็จ
 
     มาถึงตอนนี้ ซึ่งตามปกติน่าจะใช้เวลาประมาณ 18-24 เดือน หลายคนสามารถปลดโซ่ตรวนที่พันธนาการชีวิตคุณให้หลุดพ้นจากหนี้ที่เกิดขึ้น จากอารมณ์ด้านลบ เพราะความต้องการแบบเดี๋ยวนี้ไปได้แล้ว แถมยังมีเงินล็อคเอาไว้ใน “กองทุนฉุกเฉิน” ที่ทำให้ “อุ่นใจยามภัยมา” ได้อย่างน้อย 3-6 เดือนแล้ว
คุณอาจจะยังมีภาระหนี้จากการผ่อนบ้าน ซึ่งผมจัดให้อยู่ในหนี้ลงทุน และสินเชื่อรถยนต์ (ในกรณีที่หักใจไม่ได้จริงๆ)

     แต่รู้สึกใช่ไหมครับว่า วันนี้เมื่อคุณพูดกับตัวเองว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างมันกำลังไปได้ดี มันไปได้ดีจริงๆ ไม่ใช่คำโกหกที่มีไว้ปลอบใจตัวเองอีกต่อไป

     จากจุดนี้ เวลาของการ “ลงทุน” เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองมาถึงแล้ว เส้นทางจากนี้ไปจะเต็มไปด้วยความสนุก และท้าทาย ที่จะทำให้คุณได้รับประสบการณ์ที่แสนมีค่า ก่อนที่จะเดินไปถึงเป้าหมายของการมีอิสรภาพทางการเงินอย่างแท้จริง

     เมื่อตอนทำงานอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (2545-2552) ผมพยายามเผยแพร่แนวคิดในเรื่องของการลงทุนโดยใช้คำง่ายๆ เพื่อกระตุกให้คนทั่วไปได้คิดว่า “ชีวิต คือ การลงทุน” หรือ “Investment is your life

     แนวคิดหลัก คือ ผมพยายามที่จะทำให้คนได้ตระหนักว่า ตลอดชีวิตของเรานับตั้งแต่เกิดเราต้องลงทุนทำอะไรบางอย่างแลกเปลี่ยนกับสิ่ง ที่เราต้องการบางอย่างมาทั้งชีวิตอยู่แล้ว เพื่อเปลี่ยนทัศนคติที่หลายๆคนคิดว่าการลงทุนเป็นเรื่องไกลตัว

     ตลอดเส้นทางการลงทุนของเรา บางครั้งเราอาจจะสมหวัง บางครั้งอาจจะล้มเหลว แต่เราก็จะเรียนรู้จากประสบการณ์ว่า การลงทุนมีความเสี่ยง และยิ่งหวังผลตอบแทนสูง ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมาก
 
     ไม่มีใครปฏิเสธว่า การลงทุนมีความเสี่ยง แต่ความเสี่ยงที่สุด คือ “ความไม่รู้”
เคยคิดไหมครับว่า ทั้งๆที่มีความเสี่ยงอย่างสูง ที่จะโดนทำโทษจากผู้ปกครอง แต่ทำไมเด็กตัวน้อยๆถึงกล้า “ลงทุน” ไปนอนกรีดร้องอยู่กลางห้างสรรพสินค้าฯ เพียงเพื่อได้ผลตอบแทนคือ “ตุ๊กตา”ที่เขาอยากได้

     คำตอบที่ชัดเจน คือ ถึงแม้จะมีความเสี่ยงสูง แต่ เด็กคนนั้น “รู้” ว่า วิธีการนี้มันจะประสบความสำเร็จ!

     ย้อนกลับมาดูสมมุติฐานเดิมที่ หากคุณต่อสู้ฝ่าฟันมาได้จนถึงจุดนี้ จากมาตรฐานค่าครองชีพในปัจจุบันของบรรดามนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ คุณก็ควรจะมีเงินเหลือไม่ต่ำกว่า 15% หลังจากหักค่าใช้ที่จำเป็นแล้วในแต่ละเดือน สำหรับการออมและลงทุนใน “กองทุนเพื่อวัยเกษียณ

     อย่างที่เคยเตือน บทสรุปของคนส่วนใหญ่ที่ย้อนกลับไปสู่วงจรอุบาทว์ ไม่สามารถสลัดให้หลุดจากกับดักแห่งหนี้สินที่มาจากการบริโภคที่ไม่สิ้นสุดก็ เพราะ ตัวเลข 15% ที่เป็นจุดเกินห้ามใจ

     เมื่อเรา“รู้จัก”ตัวเองดีพอว่า ในบางครั้งอารมณ์ด้านลบ มันอาจจะย้อนกลับมาทำร้ายเรา

     ในวันใดวันหนึ่ง วิธีที่ดีที่สุดคือ การหา“ตัวช่วย ในการสร้างหลักประกันเพื่อเกษียณอายุ ผ่านกลไกหลักที่มีอยู่แล้ว คือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund-PVD) ที่น่าจะถือได้ว่าเป็น “บันไดขั้นแรก” ของการลงทุน

     สำหรับกองทุนประกันสังคม(ชราภาพ) เป็นกองทุนที่ภาครัฐบังคับ ที่ทุกคนน่าจะมีอยู่แล้ว เพียงแต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า เงินที่เราจ่ายเข้ากองทุนฯไปประมาณ5% ของเงินเดือน หรือสูงสุด เดือนละ 750 บาทนั้น จะมีการจัดสรรเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนเพื่อการชราภาพ และหากมีการส่งครบ 15 ปี เมื่อเราเกษียณจะได้เงินเหมือนบำนาญเดือนละ 3 พันบาท
  
     กองทุนประกันสังคม อาจจะเป็น พื้นฐานที่ทุกคนควรมีไว้ก่อนที่จะเริ่มก้าวขึ้นสู่บันไดขั้นแรกที่สำคัญกว่า คือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund-PVD)

     หากคุณเป็นข้าราชการ เม็ดเงินที่จะนำไปลงทุนในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) คือประมาณ 3% แต่พนักงานเอกชน สามารถลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้ตั้งแต่ 3-10% ขึ้นอยู่กับ ข้อบังคับของแต่ละแห่ง

     ตัวเลข 3-5% จากรายได้ประจำเดือนของคุณ คือ ตัวเลขที่เหมาะสมที่สุด โดยใช้กลยุทธ์“บังคับโดยสมัครใจ” หักบัญชีลงทุนแบบอัตโนมัติ ลงทุนในกองทุนประเภทนี้ไปเลย

     ข้อดีของทั้งสองกองทุนฯ คือ มันเป็นการลงทุนแบบได้ “สองเด้ง” ออม 1 ส่วน แต่ได้ 2 ส่วน เนื่องจากฝั่งนายจ้างของคุณ ไม่ว่าจะเป็น รัฐ หรือ เอกชน เขาจะต้องจ่าย“เงินสมทบ”ให้เท่าๆกัน

     ขณะเดียวกัน เม็ดเงินที่ถูกส่งเข้าไปจะถูกนำไปบริหารโดยผู้จัดการกองทุนฯมืออาชีพ ที่จะนำไปลงทุนทำให้เกิดผลตอบแทนสูงขึ้นแทนเรา นอกจากนี้ เงินที่คุณจ่ายสะสมไปทุกปี ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สูงสุดได้ถึง 300,000 บาทอีกด้วย

     เห็นประโยชน์ของบันไดขั้นแรกหรือยังครับ เพราะอย่างนั้นถ้าใครเป็น ข้าราชการ หรือ ลูกจ้างในหน่วยงานเอกชน ถ้าไม่กระโดดใส่ เป็นสมาชิก กบข. หรือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายจริงๆ!!!   

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘