101 ปฏิบัติการพลิกชีวิต (ตอนที่ 12 หนี้-ลูกบอลหิมะ)

ก่อนหน้านี้ ผมพยายามที่จะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในแนวคิดและการวางแผนทางการเงิน โดย พยายามแนะนำให้คุณทำการบ้านหลายข้อ ทั้งหมดก็เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสหันกลับมาส่องกระจกทบทวนพฤติกรรมเกี่ยวกับ การใช้เงินของตัวเอง

     ถ้าทฤษฎี 80-20 ยังคงทำงานอย่างซื่อสัตย์ ผมเชื่อว่า คงมีคนส่วนใหญ่ถึงกว่า 80% ที่มีฐานะทางการเงินอยู่ในสถานะค่อนข้างย่ำแย่เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐาน ที่ควรจะเป็น คือ มีงบดุล (มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ) ที่ติดลบ“แดงโร่” มีปัญหาหนี้สินพะรุงพะรัง จนไม่กล้าแม้กระทั่งจะคิดไปไกลถึง การวางแผนเก็บเงินเพื่อ“ต้นทุนชีวิต”ในอนาคตไว้ใช้ในช่วงตอนแก่เฒ่า

     แต่คุณเคยคิดในอีกมุมหนึ่งไหมครับว่า การที่คุณไม่คิดถึงตัวเองในปัจจุบัน ก็ไม่ต่างอะไรกับการสร้าง“หนี้ชีวิต” ให้กับตัวเองที่จะต้องชดใช้อย่างสาสมในอนาคต ไม่เชื่อคุณลอง “จินตนาการ” ไปไกลขึ้นอีกสักนิด ลองนึกถึงภาพตัวเองยามชราที่อยู่ในสภาพของ “คนไข้อนาถา”ในโรงพยาบาลของรัฐ

     คงน่าเศร้านะครับ...ถ้ามาถึงนาทีนี้ คุณยังคงไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อพลิกชีวิต เพราะบทสรุปของคุณก็คงเป็นได้เพียงคนธรรมดาๆในสังคมไทยทั่วๆไป ที่มีวิถีชีวิตอยู่แบบคนหาเช้ากินค่ำ เอาแต่ก่นด่า“ชะตาชีวิต” ของ ตัวเองที่เกิดมาจน ป้ายความรับผิดชอบไปให้กับสังคม ตำหนิว่า ทำให้ขาดโอกาส ไม่ได้รับการศึกษา หรืออาจไปไกลถึงขั้นแบ่งแยกชนชั้น และจบลงด้วยการเฝ้ารอคอย“ปาฎิหารย์”ในชีวิตต่อไปจวบจน“สิ้นลม”
 
     อย่าปล่อยให้สถานการณ์ของคุณหนักหนาสาหัสเหมือนที่เกิด ขึ้นกับคุณ K เพราะเมื่อเหตุการณ์เดินไปถึงจุดนั้น การเปลี่ยนแปลงเพื่อพลิกชีวิต มันอาจจะต้องเจ็บปวดจนสุดทน

     หันกลับมายอมรับความจริงเถอะครับว่าตัวเองมีปัญหา ถึงแม้ภาระหนี้สินที่มีอยู่ในปัจจุบันมันอาจจะเป็นตัว”บั่นทอน”กำลังใจ แต่อย่าให้มันทำลายความคิดและจิตวิญญาณในการ“ต่อสู้” เพื่อปลดพันธนาการและการก้าวไปสู่อิสรภาพของคุณ         

     หากได้ลองย้อนกลับไปศึกษาประวัติชีวิตของ “มหาเศรษฐี” ทั้งโลก คุณจะเชื่อหรือไม่ว่า ทุกคนเคยอยู่ในฐานะยากจน บางคนอาจเคยเผชิญกับวิกฤติที่หนักหนาสาหัสกว่าคุณเสียอีก แต่ทำไมเขาเหล่านั้นจึงฝ่าฟัน จนก้าวขึ้นมาถึงจุดสูงสุดของชีวิตได้

     เพราะอย่างนั้น ไม่ต้องตกใจกับการมีหนี้สิน ทุกคนต่างมีโอกาสที่จะเป็นหนี้ทั้งนั้น แต่ก็อย่าที่ผมเคยแนะนำ “จงเป็นหนี้ต่อเมื่อหนี้นั้นทำให้เรามีโอกาสในการสร้างประโยชน์หรือรายได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต”

     ภายใต้บริบทของสังคมในยุค”ดิจิตอล”แบบปัจจุบัน คำจำกัดความของการเป็นหนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำรงชีวิตไปแล้ว เพราะผู้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้ชีวิตแค่หวังผลในระยะสั้นๆ

     “หนูจะเอา หนูจะเอา! หนูจะเอา!!” ภาพเหตุการณ์ที่เจ้าหนูน้อยกรีดร้อง ลงไปดิ้น ฟูมฟาย บนลานกว้างของห้างสรรพสินค้าฯ เพื่อเรียกร้องแกมบังคับให้คุณพ่อคุณแม่ซื้อสิ่งที่ต้องการให้ คงเป็นภาพสะท้อนได้ดีถึงพฤติกรรม “ฉันต้องการมันเดี๋ยวนี้ ของผู้คนในยุคปัจุบัน   

     เพราะทัศนคติผิดๆเกี่ยวกับเรื่องหนี้สินแบบนี้ ทำให้ชนชั้นกลางของไทยต้องตกลงสู่หุบเหวแห่งหนี้สินจากสินเชื่อเพื่อบริโภคที่เป็นตัวสร้างให้เกิด“หายนะแห่งยุคสมัย” ในเวลานี้

     ชนชั้นกลาง และมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่จะใช้ชีวิต“แบบเดือนชนเดือน” และมักจะก่อหนี้จากสินเชื่อเพื่อบริโภคด้วยเหตุผลหลักคือ ตอบสนองความต้องการเดี๋ยวนี้ของตัวเอง

     “ไม่พกเงินสด เพราะกลัวโดนปล้น” เป็นข้ออ้างที่ขำไม่ออกของบางคนในการใช้บัตรเครดิต แต่คนพวกนี้ไม่ได้ตระหนักเลยว่า การใช้บัตรเครดิตก็เหมือนกับการโดนปล้นโดยไม่รู้ตัว ไม่เชื่อลองคิดดูว่า หลังจากการไปเที่ยวเมืองนอกครั้งล่าสุด คุณต้องกลับมาใช้หนี้บัตรเครดิตเป็นจำนวนเท่าไร!!!

     แทนที่จะใช้ข้ออ้างที่ไม่ฉลาดเอาเสียเลยในแบบนั้น ทำไมไม่ลองเปลี่ยนมุมคิดเสียใหม่ว่า “การ ใช้เงินที่หามาได้ด้วยความยากลำบากไปซื้อ“สมบัติบ้า”ที่ไร้ค่ามันก็แย่พอ แรงอยู่แล้ว แต่มันยิ่งโง่ทวีคูณขนาดไหนกับการที่เอาเงินในอนาคตไปซื้อสมบัติไร้ค่าเหล่า นั้น เพียงเพราะความต้องการชั่ววูบ”

     การใช้ชีวิตอยู่บนความต้องการเดี๋ยวนี้ ทำให้คนส่วนใหญ่นำตัวเองถลำลึกลงสู่หุบเหวแห่งหนี้สิน เพราะเมื่อไรที่รายรับไม่พอกับรายจ่าย วิธีแก้ปัญหาแบบมักง่ายไร้วินัยที่สุดที่จะทำก็คือ การรูดบัตรเครดิต ยืมเงินในอนาคตมาใช้ จนเมื่อรู้สึกตัวอีกครั้งก็มักจะอยู่ในสภาพสำลักหนี้สิน

      แต่เชื่อผมเถอะครับ ถ้าเมื่อไรที่คุณถึงทางตัน หวังจะไปหยิบยืมใคร เพื่อล้างหนี้บัตรเครดิต “แม้แต่พัดลมยังส่ายหน้าเลย” ไม่มีใครเขาเห็นใจหรอก

     “อย่าใช้เงินที่ไม่ใช่เงินของคุณ” คาถาบทนี้ผมจำได้ขึ้นใจหลังจากประจักษ์กับพลานุภาพที่แสนโหดร้ายของอัตรา ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และเบี้ยปรับที่แสนโหดของ ไอ้เจ้าบรรดาบัตรพลาสติก ไม่ว่าจะเป็น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด บัตรเงินผ่อน หรือแม้แต่บัตรสมาชิก ห้างสรรพสินค้า

     เริ่มต้นทันทีในวันนี้ เพราะอย่างที่ผมเคยย้ำ 80% ของผลลัพธ์ย่อมอยู่ที่การกระทำ ไม่ได้อยู่ตรงที่คุณมีความรู้มากน้อยแค่ไหน

     วิธีหนึ่งที่ผมจะแนะนำ คือการ “แก้เผ็ด” กับบรรดาหนี้หฤโหดเหล่านี้ คือใช้กลยุทธ์ “หนามยอกเอาหนามบ่ง” ด้วยการใช้วิธีล้างหนี้แบบลูกบอลหิมะ (Snow ball)

     เริ่มจากการทำบันทึกรายการหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่ และเรียงลำดับหนี้จากน้อยที่สุดไปหามากที่สุด โดยไม่ต้องสนใจว่าหนี้แต่ละก้อนมีอัตรดอกเบี้ยสูงขนาดไหน “โฟกัส” อยู่ตรงหนี้ที่ยอดคงค้างที่น้อยที่สุดไปหามากที่สุด

     เพราะผลลัพธ์จากการกระทำสำคัญที่สุด ประกายแห่งความหวัง หรือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จะถูกจุดขึ้นทันทีที่คุณสามารถปลดพันธนาการจาก หนี้ก้อนเล็กที่สุดได้สำเร็จ 
  
     หลังจากนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป นำเงินที่เคยจ่ายค่างวดชำระหนี้ก้อนนั้นมารวมกับ “เงินพิเศษ” ที่คุณหาทางเพิ่มรายได้ มาชำระหนี้ที่ค้างชำระน้อยที่สุดในลำดับถัดมา “นับถอยหลัง” แบบนี้ไปเรื่อยๆเหมือนการเคลื่อนตัวของลูกบอลหิมะ แต่ระวังในการรักษาความต่อเนื่องในการจ่ายชำระยอดขั้นต่ำของหนี้ทุกรายการ เอาไว้ด้วย

     คำถามที่หลายคนอาจจะคิดอยู่ในใจว่า ฉันจะเอาเงินที่ไหนมาล้างหนี้ก้อนแรก เพราะทุกวันนี้ก็อยู่ในสภาพ“ชักหน้าไม่ถึงหลัง”อยู่แล้ว

     วิธีที่ได้ผลชะงัดที่สุดก็คือ “ตัดใจ”ขายสมบัติบ้าที่ไร้ ค่าสำหรับคุณออกไปให้มากที่สุด เชื่อผมเถอะครับลองกลับไปเปิดตู้เสื้อผ้า รื้อลิ้นชัก ของคุณดู บางทีไอ้เจ้าสมบัติบ้าเหล่านี้มันอาจจะยังพอมีค่าในสายตาของคนอื่น และอาจจะเป็นตัวช่วยยามคับขันของคุณก็เป็นได้

     อย่าลืมนะครับ!!! สิ่งที่ต้องระวังที่สุดก็คือ ทุกบาททุกสตางค์ที่คุณจะใช้ในการล้างหนี้ต้องมาจากเงินของคุณเอง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘