101 ปฏิบัติการพลิกชีวิต (ตอนที่ 11 หนี้ หายนะแห่งยุคสมัย)

มีคนถามผมว่า ในระหว่างเส้นทางของการเปลี่ยนแปลงเพื่อ “พลิกชีวิต” ของผมนั้นมันยากลำบากมากขนาดไหน ตอบแบบไม่ต้องอายเลยครับว่า มันเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส แต่หลังจากเกือบสองปีแห่งความทุกข์เข็ญ ในที่สุดผมก็สามารถผ่านพ้นมรสุมชีวิตในครั้งนั้นมาได้

     ในห้วงเวลาที่คุณต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ ไม่มีอะไรที่จะกระตุ้นพลังในการต่อสู้ของคุณได้ดีไปกว่าการมองไปข้างหน้า และเริ่มก้าวเดินเพื่อไปสู่อิสรภาพ ทั้งๆที่รู้ว่าบนเส้นทางของการเปลี่ยนแปลงอาจจะทำให้เราต้องเจ็บปวด แต่ก็อย่างที่ผมย้ำบ่อยครั้ง ปัจจัยสำคัญของการพลิกชีวิต คือ “จิตวิญญาณของผู้ไม่ยอมแพ้” 

     เพราะความมุ่งมั่นและกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด ทำให้ อดีตประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลลา ของสาธารณรัฐอาฟริกาใต้ สามารถกล้ำกลืนยอมใช้ชีวิตอยู่ในคุกอยู่ถึง 27 ปี กว่าจะได้รับการปลดปล่อยตัวออกมาในปี 2533 และสามารถก้าวขึ้นเป็นประธานาธิดีผิวสีคนแรกในระหว่างปี 2537-2542 โดยมีเกียรติภูมิที่ยิ่งใหญ่ในการหลอมรวมประเทศที่มีการแบ่งแยกผิวสีให้เป็น หนึ่งเดียวกันได้ในเวลาต่อมา

     “ก้าวแรกที่กล้าเดินออกไป อาจจะยากลำบาก แต่ดีกว่าไหมที่จะไม่ต้องเจ็บปวดสาหัสยิ่งกว่าในวันข้างหน้า และเมื่อถึงวันนี้ ทุกอย่างอาจจะสายเกินไป”
__________________________________________________________

     “ดิฉันมีหนี้ส่วนตัวที่เยอะมากค่ะ สาเหตุเพราะนำเงินที่ได้จากบัตรพวกนี้มาลงทุนซื้อเสื้อผ้ามาขายแล้วไม่ประสบ ผลสำเร็จ ประกอบกับต้องผ่อนบ้านและรถยนต์ จึงเป็นเหตุให้มีหนี้สินยุบยับไปหมด เช่น Easy, Aeon, First Choice และบัตรเครดิตอีก 3 ใบ รวมกับผ่อนบ้านและผ่อนรถยนต์ ดิฉันต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท จึงจะสามารถผ่อนได้ ต้องทำอย่างไรก่อนดีคะ เพราะรายได้แค่ 2.2 หมื่นบาทเท่านั้นเอง”
                                                                                                  (จากคุณ K)
__________________________________________________________

     คำถามจากคุณ K เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นชัดถึง “หายนะแห่งยุคสมัย” ที่เกิดขึ้นกับชนชั้นกลางของไทย ที่กำลังเผชิญอยู่เป็นส่วนใหญ่ และคงต้องยอมรับความจริงว่าฐานะทางการเงินของคุณ K อยู่ในขั้นวิกฤติถึงขนาดต้องผ่าตัดใหญ่กันเลยทีเดียว
 
     ข้อมูลที่คุณ K ให้มาส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับ กระแสเงินสด (Cash flow) ที่สะท้อนรายรับ-รายจ่าย รายเดือนที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ แต่แทนที่จะตกอยู่ในห้วงแห่งทุกข์ หัวหมุนกับการหาเงินมาเพื่อชำระหนี้แบบเดือนต่อเดือน คุณ K ต้องตั้งสติแล้วมองย้อนกลับมาที่ภาพใหญ่เสียก่อน

ความมั่งคั่งสุทธิ (Net worth) = ทรัพย์สิน-หนี้สิน
  
     ความมั่งคั่งสุทธิ (Net worth) ก็ไม่ต่างอะไรกับ “งบดุล” (Balance sheet) ของบริษัท หากคุณ K ต้องการให้ตัวเลขงบดุลกลับมาเป็น “บวก” วิธีแก้สมการที่ง่ายที่สุดก็คือ “การวางเงินใหม่ให้ถูกที่” โดยการทำตัวเลขฝั่งหนี้สินให้ลดลง เพื่อดึงเอาทรัพย์สินที่คุณควรจะได้กลับคืนมาแทนที่จะยกไปให้คนอื่นเหมือน ที่ผ่านมา เพียงแค่นี้ตัวเลขฝั่งทรัพย์สินของคุณ K ก็จะเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ

     “มันไม่ง่ายขนาดนั้นหรอก” ไอ้เจ้าเสียงเล็กๆกำลังมากระซิบดังๆข้างหูของคุณ “ถ้ามันง่ายขนาดนั้นเธอก็คงไม่มีปัญหาอย่างทุกวันนี้หรอก”
  
     แต่คุณคิดเหมือนผมไหมครับว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้งบดุลหรือฐานะการเงินของคุณ K “แดงโร่” ขนาดนี้ ก็เพราะการติด “กระดุมเม็ดแรก” ที่พลาดไป จากการไป “รูด” บัตรเครดิต หรือบัตรเงินผ่อน เพื่อนำเงินสดมาซื้อเสื้อผ้าไปขาย เมื่อเกิดปัญหาขาดทุนจึงทำให้ กระแสเงินสด (Cash flow) ของคุณ K เริ่มมีปัญหา “ติดลบ” ชักหน้าไม่ถึงหลังในแต่ละเดือน จนเป็นเหตุให้มีหนี้สินพะรุงพะรังไปหมด ทั้งบัตรเครดิต และบัตรเงินผ่อนถึง 6 ใบ !!!

     สิ่งที่คุณ K ต้องจัดการโดยเร็วที่สุดคือ การกำจัด “หนี้เลว” ประเภทนี้แหละ เพราะมันคือตัวการที่ฉุดกระชากคุณให้ถลำลึกลงไปสู่หุบเหว ไม่ต่างอะไรกับก้อนหิมะ (Snow ball) ที่กำลังพาคุณ K กลิ้งลงสู่หุบเหวที่แสนลึก แถมยังลูกใหญ่ขึ้นทุกๆนาทีเพราะอัตราดอกเบี้ยที่แสนจะหฤโหด
 
     คำถามคือจะกำจัดหนี้เลวเหล่านี้อย่างไร คุณ K อาจจะยังโชคดีที่มีบ้านที่อยู่ในฝั่งสินทรัพย์และหนี้สินในเวลาเดียวกัน ซึ่งหากบ้านอยู่ในทำเลที่ดี มันอาจจะเป็น “กุญแจ” สำคัญในการช่วยให้คุณกำจัดหนี้จากบัตรเครดิตทั้ง 6 ใบของคุณได้ โดยการ “รีไฟแนนซ์” หนี้บ้าน ด้วยการกู้เงินก้อนใหม่จากธนาคารฯเพื่อนำไปใช้คืนหนี้ก่อนก้อนเก่า

     ถ้าโชคดีบ้านของคุณ K อาจจะอยู่ในทำเลที่ดี สามารถตีราคาได้สูงขึ้นกว่ายอดหนี้คงค้างที่มีอยู่ แถมอาจจะได้เงื่อนไขพิเศษอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำในระยะต้นของการผ่อนชำระ หรือสามารถเจรจายืดเวลาการผ่อนชำระออกไปให้นานขึ้น เนื่องจากช่วงนี้ธนาคารพาณิชย์ฯกำลังแข่งกันปล่อยสินเชื่อประเภทนี้

     เงินส่วนต่างที่เหลือจากการรีไฟแนนซ์บ้านอาจช่วยให้คุณสามารถนำไปชำระหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อเพื่อการบริโภคของคุณได้
  
     แต่สิ่งที่ไม่ควรลืมก็คือ ก่อนที่จะนำเงินไปชำระหนี้คงค้าง ควรลองเจรจาเพื่อให้เขาลดดอกเบี้ยเพื่อแลกกับการปิดยอดคงค้างของคุณด้วย

     สำหรับรถยนต์นั้น ผมคาดว่าคงเป็นปัจจัยที่ 5 ที่คุณคงไม่อยากเสียไป ยกเว้นถ้ามันสาหัสจริงๆก็อาจต้องยอมตัดใจขายทิ้งไป เพื่อปิดยอดหนี้ในส่วนนี้

     หาก คุณ K สามารถกำจัดหนี้ส่วนบุคคลที่เป็นภาระอยู่ในเวลานี้ลงไปได้ ก็น่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะยอดหนี้สินหลายรายการจะหายไป ทำใหภาระรายจ่ายต่อเดือนลดลง

     แต่ในขณะเดียวกัน คุณ K ก็ควรจะลองทบทวนตัวเองเกี่ยวกับการทำธุรกิจเสื้อผ้าว่า มันสามารถที่จะกอบกู้ขึ้นมาให้ดีขึ้นหรือไม่ เพราะถ้าพิจารณาจากรายได้ที่มีเพียงประมาณเดือนละ 2.2 หมื่นบาท มันทำให้น่าคิดว่า ควรเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่น หรือหางานใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ประจำที่ดีกว่า ควบคู่ไปกับการหางานพิเศษอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้หรือไม่

     เริ่มต้นลงมือเลยครับ รีบปีนขึ้นมาจากหุบเหวแห่งหนี้สิน และอย่าลืมบทเรียน “จงเป็นหนี้ต่อเมื่อหนี้นั้นทำให้เรามีโอกาสในการสร้างประโยชน์หรือรายได้ เพิ่มมากขึ้นในอนาคต”

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘