101 ปฏิบัติการพลิกชีวิต (ตอนที่ 10 เป้าหมายชีวิต)

เมื่อ 10 ปีก่อน ตอนที่ผมเผชิญวิบากกรรม และพยายามค้นหาความหมายของชีวิตที่แท้จริง คำถามสำคัญที่วนเวียนอยู่ในหัวของผม นอกจากการค้นหาหนทางไต่ขึ้นมาจากหุบเหวแห่งหนี้สินแล้ว อีกสิ่งหนึ่งคือ
การกำหนดเป้าหมายในชีวิต เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้กับตัวเอง ผมจึงตั้งคำถามให้กับตัวผมเองว่า ต้องมีเงินมากสักเท่าไร?


     หลายคนอาจคิดว่า “ ยิ่งมากยิ่งดี” แต่ผมกลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะผมเชื่อว่า “ทุกสรรพสิ่งต้องมีความงามและความพอดีอยู่ในตัว” ขึ้นอยู่กับแต่ละคน

     ไม่มีใครปฏิเสธว่า การที่คนเราต้องหาเงินก็เพราะ “ตราบใดที่เรายังไม่ตาย เราก็ยังจำเป็นต้องใช้เงิน” แต่ผมเชื่อว่า ความมหัศจรรย์ของชีวิตไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินมากมายล้นฟ้า แต่อยู่ที่การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตลอดชีวิตโดยไม่ต้องเป็นห่วงและปราศจาก ความกลัวเรื่องเงินๆทองๆเหมือนในอดีต

     มีเศรษฐีบางคนที่นั่งอยู่บนกองเงินกองทอง แต่ชีวิตกลับ “จม” อยู่บนกองทุกข์ เพราะความไม่รู้จักพอ ต้องการทั้งเงิน และอำนาจ ทำให้บทสรุปต้องจบลงด้วยการเผชิญวิบากกรรมในชีวิตอย่างแสนสาหัส
  
     เป้าหมายสำคัญจึงน่าจะอยู่ตรงที่ การมีเงินใช้ชีวิตอย่างสบายในแบบของผมและของคุณแต่ละคน เพราะเมื่อเรามีอิสรภาพด้านการเงิน เราก็จะได้รับอิสรภาพด้านจิตใจตามไปด้วย

     คงมีบ่อยครั้งที่ คุณตื่นขึ้นมาจากความฝัน ลุกขึ้นแต่งตัวขับรถไปทำงานด้วยความเหนื่อยหน่าย รู้สึกเหมือนทหารที่กำลังจะต้องเดินเข้าสู่สนามรบอีกวันหนึ่ง

     ทันใดนั้นคุณก็ฝันทั้งๆที่ยังตื่นอยู่ว่า จะดีแค่ไหนถ้าฉันมีเงินเยอะๆ แล้วลาออกมาจากชีวิตการทำงานที่ต้องเผชิญกับเจ้านายและงานที่แสนเส็งเคร็ง แบบนี้เสียที

     แต่เมื่อตกเย็นคุณก็ยังคงทำเหมือนเดิม คือออกไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูงจนดึกดื่น ก่อนที่จะพยุงร่างกายที่เมามายกลับบ้านพร้อมกับรำพึงรำพันในใจว่า “เมื่อไรกูจะรวย?”

     คุณปล่อยให้ชีวิตของคุณก็ดำเนินต่อไปแบบคนธรรมดาๆสามัญทั่วไป จนมารู้สึกตัวอีกทีเมื่ออายุล่วงเข้ามาวัยกลางคนเหมือนผม จึงเพิ่งเริ่มฉุกคิดขึ้นว่า ฉันจะอยู่อย่างไรยามแก่เฒ่า

     ใช่ครับ!!!คุณจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร เมื่อคุณต้องเกษียณออกมาจากงาน หากคุณไม่เตรียมความพร้อมในเรื่องเงินเอาไว้ล่วงหน้า

     คุณรู้หรือไม่ ทุกวันนี้สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของ ประชากรครั้งใหญ่ โดยก้าวไปสู่ “สังคมของผู้สูงอายุ” เหมือนที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น
  
     มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2560 สังคมไทยจะมีประชากรวัยเด็กเหลือเพียง 20% ขณะที่คนวัยทำงานมีประมาณ 65% จากแนวโน้มอัตราการเกิดและการแต่งงานของคนในวัยทำงานที่ลดลง โดยเฉพาะผู้หญิงที่นิยมเป็นโสดกันมากขึ้น

     ขณะที่ปัจจุบัน จากประชากรวัยทำงานทั้งหมดกว่า 36.5 ล้านคน มีเพียง 14 ล้านคนเท่านั้นที่มีหลักประกันด้านรายได้ ผ่านกลไกของการออมภาคบังคับของภาครัฐ และกึ่งบังคับของภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ ที่เหลืออีกกว่า 22.5 ล้านคน หรือราว 60% ของผู้มีงานทำยังไม่มีหลักประกันด้านรายได้ใดๆในชีวิต

     ที่น่าตระหนกไปกว่านั้นก็คือ ประชากรวัยสูงอายุกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มจะสูงถึง 15% ในปี 2560 หรือคิดเป็นจำนวนประชากรไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน
อธิบายอย่างง่ายๆก็คือในอีกไม่ถึง 10 ปี คนที่เคยอยู่ในวัยทำงานในปัจจุบันที่ขาดการวางแผนชีวิตในเรื่องเงินๆทองๆ ไม่มีหลักประกันทั้งด้านรายได้ และสุขภาพใดๆจะต้องตกอยู่ในสภาพที่ยากลำบากอย่างแสนสาหัส

     ลองถามตัวเองดูหรือยังครับว่า เมื่อถึงวันนั้น แค่ลำพังตัวคุณคนเดียวให้รอดไม่เป็นภาระคนอื่น คุณเตรียมหลักประกันด้านรายได้ไว้แล้วหรือยัง และมันมีมากพอที่จะทำให้คุณมีชีวิตหลังเกษียณได้อย่างสบายๆแล้วหรือไม่

     แน่นอนแต่ละคนย่อมมีความต้องการใช้เงินในช่วงบั้นปลายชีวิตแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความพอเพียงของแต่ละคน

     แต่หากเราอยู่บนสมมุติฐานเหมือนกัน คือคนไทยส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยประมาณ 75 ปี ก็หมายความว่าเราจะต้องมีชีวิตอยู่หลังเกษียณไปอีกประมาณ 15 ปี แต่ตามตำราเขาบวกตัวเลขไปอีก 10 ปี สำหรับค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล รวมเป็น 25 ปี

     สมมุติว่า คุณกำหนดเป้าหมายว่าหลังเกษียณขอมีเงินใช้เพียงแค่เดือนละ 20,000 บาท ก็หมายความว่า คุณจะต้องใช้เงินประมาณ 6 ล้านบาท!!!

     ใจเย็นๆอย่าเพิ่งตกใจครับ คุณไม่จำเป็นต้องมีเงิน 6 ล้านบาท ณ วันที่คุณเกษียณจริงๆหรอก แต่คุณต้องมี “ต้นทุนชีวิต” หรือความมั่งคั่งสุทธิในเวลานั้น เพียงประมาณ 3.46 ล้านบาท ตามตัวเลขที่มีผู้เชี่ยวชาญเขาคำนวณเอาไว้ เพราะคุณก็สามารถอาศัยผลตอบแทนจากการลงทุนที่เฉลี่ยประมาณสักปีละ 5% จาก “ต้นทุนชีวิต” ที่มีเพื่อให้สามารถมีเงินใช้เฉลี่ยเดือนละ 20,000 บาทได้อย่างสบายๆ

     จำนวนเงินที่จะใช้เป็นต้นทุนชีวิตจะมากขึ้นแค่ไหนก็อยู่ที่แต่ละคนตั้งเป้า หมายที่จะมีเงินใช้ต่อเดือนสักเท่าไร ซึ่งสามารถดูได้จากตารางประกอบ 


     ณ จุดนี้ เมื่อคุณกำหนดเป้าหมายชีวิตแล้วว่า จะต้องมี “ต้นทุนชีวิต” ณ วันเกษียณ ด้วยเม็ดเงินสักเท่าไร สิ่งที่จะต้องทำจากนี้ไปก็เหลือแค่การเดินต่อไปในเส้นทางของปฏิบัติการพลิก ชีวิต โดยพยายามสลัดภาระหนี้สิน และสร้างฐานเงินออมและการลงทุนให้ได้เร็วที่สุดนับตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้น ไป

     อย่าปล่อยให้ “เวลาที่แสนมีค่า” ผ่านเลย เริ่มต้นวันนี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป!!!

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘