บัญญัติ 10 ประการของการเล่นหุ้นแบบ VI

พูดถึงเรื่องของการซื้อขายหุ้นแล้ว ผมคิดว่ามีเทคนิคหรือมีกฎต่างๆ มากมายที่มีการคิดค้นและนำเสนอ
วิธี การหรือกลยุทธ์ที่ใช้ในแต่ละเรื่องนั้น มีหลากหลายแนวทางขึ้นอยู่กับว่า คนที่เสนอเป็นนักลงทุนแนวไหน   กลยุทธ์เหล่านั้นบ่อยครั้งขัดกันเอง เช่น ถ้าเป็นนักเก็งกำไร พวกเขาอาจจะบอกว่าการเล่นหุ้นต้องเล่น "ตามกระแส" แต่ถ้าเป็นแบบ Value Investor  บางพวกเขาจะให้ซื้อขาย "สวนกระแส" วันนี้ผมขอนำเสนอหลักสำคัญบางประการของการซื้อขายหุ้นที่ผมเชื่อและใช้ เรียกให้เท่ว่า บัญญัติ 10 ประการของการเล่นหุ้น
ข้อ 1 ศึกษาข้อมูลหุ้นให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อหุ้น อย่าซื้อหุ้นโดยใช้อารมณ์ อย่าโลภ อย่ารีบด่วนตัดสินใจซื้อหุ้นโดยเฉพาะในกรณีที่หุ้นกำลังวิ่ง อย่าลืมว่ามีหุ้นที่กำลัง "วิ่ง" ทุกวัน ถ้าเราซื้อ เราก็จะเป็นนักเล่นหุ้นรายวันที่มีโอกาสถูกผิด 50-50 ถ้าเราทำแบบนี้ในระยะยาวเราจะขาดทุนเสมอ
ข้อ 2  อย่าสนใจข่าวลือ หรือ "หุ้นเด็ด" ที่เราได้ยินมาไม่ว่าจะมาจากเซียน คนใน หรือ  Insider  ของบริษัท หรือจากคนแปลกหน้าในงานเลี้ยง เชื่อเถอะว่าถ้าเราได้ยินก็คงมีคนอีกไม่น้อยที่ได้ยิน ข่าว หรือข้อมูลแบบนี้ไม่มีความหมายอะไรนอกจากจะทำให้เราเสียเงิน
ข้อ 3 ให้ความสำคัญกับตัวกิจการ หรือตัวหุ้นมากกว่าสภาพตลาด หรือเศรษฐกิจโดยทั่วไป เพราะถึงแม้สภาพทางเศรษฐกิจอาจจะไม่ดีแต่ตัวบริษัทก็อาจจะดีได้ นอกจากนั้น ถึงกิจการอาจจะไม่ดีนักแต่ราคาหุ้นอาจจะต่ำกว่าพื้นฐานมาก ดังนั้นอย่าให้ภาพของตลาด หรือเศรษฐกิจมาหันเหการตัดสินใจซื้อหุ้นของเรา
ข้อ 4 หุ้นนั้น มักจะดูแย่กว่าที่คิดในช่วงที่ตลาดตกต่ำถึงพื้นในช่วงตลาดหมี และดูดีกว่าที่คิดในช่วงที่ตลาดวิ่งถึงจุดสูงสุดในช่วงตลาดกระทิง มีความกล้าหาญที่จะซื้อเมื่อทุกอย่างดูเลวร้าย และขายเมื่อทุกอย่างดูดีจนไม่น่าเชื่อ
ข้อ 5 จำไว้ว่า มันเป็นเรื่องยาก ที่เราจะสามารถซื้อหุ้นที่พื้นพอดี และขายหุ้นได้ที่จุดสูงสุด ในยามที่ตลาดเลวร้ายมากๆ นั้น หุ้นอาจจะตกต่ำลงไปเกินกว่ามูลค่าพื้นฐานจริงได้มาก เช่นเดียวกัน ในยามที่ทุกคนกำลังมองโลกในแง่ดีมากๆ หุ้นอาจจะขึ้นไปเกินพื้นฐานได้มากเหมือนกัน ดังนั้น อย่าคาดหวังว่าเมื่อซื้อหุ้นแล้วราคาจะต้องขึ้นทันที หรือขายหุ้นแล้ว ก็หวังว่ามันจะลงถึง แม้เราจะเชื่อมั่นกับการวิเคราะห์หามูลค่าของเรา
ข้อ 6 ถ้ามั่นใจว่าบริษัทที่เราลงทุนมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งและมีอนาคตในการเติบโต ที่ดีมาก อย่าขายเพียงเพราะว่าราคาหุ้นอาจจะดูเหมือนว่าสูงเกินไปหรือหุ้นวิ่งขึ้นมา เร็วเกินไปชั่วคราว เพราะถ้าเราพลาด เราอาจจะไม่สามารถซื้อมันกลับมา และทำให้เราพลาดที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมในอนาคต
ข้อ 7  อย่า "หลงรักหุ้น" จน "ตาบอด" เพราะมันจะทำให้เราไม่สามารถวิเคราะห์กิจการได้อย่างเป็นกลางไม่มีความ ลำเอียง หุ้นนั้นรักได้แต่อย่าหลง เราจะต้องตรวจสอบและประเมินดูฐานะและความคุ้มค่าอยู่ตลอดเวลา และเมื่อถึงเวลาเราก็อาจจะต้องมีความ "โหดร้าย" พอที่จะ "ตัดรัก" หรือขายทิ้งได้ถ้าพิจารณาดูแล้วว่ามัน "หมดเสน่ห์" แล้ว
ข้อ 8 อย่าสนใจว่าหุ้นเคยอยู่ที่จุดไหนมาก่อน จงสนใจว่าหุ้นจะไปที่ไหน กิจการอาจจะเคยกำไร 100 ล้านบาท ราคาหุ้นอาจจะเคยอยู่ที่ 10 บาทต่อหุ้น แต่ขณะนี้กำไรเหลือเพียงหลัก 10-20 ล้านบาท ราคาหุ้นตกลงมาเหลือเพียง 2 บาทต่อหุ้น อย่าไปคิดว่ากิจการและหุ้นจะต้องกลับไปที่เดิมหรือใกล้ๆ กับที่เดิม อย่าลืมว่าของเดิมอาจจะเป็นปรากฏการณ์ที่ผิดปกติก็ได้ ตัวเลขใหม่คือของจริง ดังนั้น ลืมตัวเลขเก่าแล้วมองไปข้างหน้า หุ้นราคา 2 บาท อาจจะยังแพงเกินไปก็ได้
ข้อ 9 เน้นการลงทุนในหุ้นคุณภาพสูง หุ้นคุณภาพต่ำนั้น บางครั้งอาจจะให้ผลตอบแทนที่ดี และเร็วมาก แต่ความสำเร็จในระยะยาวนั้น มีโอกาสสูงกว่าที่จะเกิดกับพอร์ตของหุ้น ที่เน้นการลงทุนในหุ้นคุณภาพสูงเป็นหลัก Value Investor จำนวนมากหลีกเลี่ยงหุ้นดีประเภทซูเปอร์สต็อก และชอบเล่นหุ้นคุณภาพต่ำที่มีโอกาสทำกำไรหวือหวารวดเร็ว
การทำแบบนี้ถ้าทำเป็นครั้งคราวก็คงไม่เสียหายอะไรนัก แต่ถ้าเริ่มต้น ก็ทำแล้วจนในที่สุดติดเป็นนิสัย โอกาสที่เขาจะประสบความสำเร็จในระยะยาวก็จะยาก พอร์ตที่ประกอบไปด้วยหุ้นของกิจการที่มีคุณภาพต่ำนั้นยากที่จะทำให้เรารวย ตรงกันข้าม พอร์ตของกิจการที่มีคุณภาพสูงนั้น  สามารถทำให้เรารวยได้ และด้วยความเสี่ยงที่ต่ำกว่ามาก
ข้อ 10 ใช้เวลากับการลงทุน ตรวจสอบกิจการและหุ้นอย่างสม่ำเสมอ ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงไป เราต้องปรับการลงทุนเพื่อให้สะท้อนกับการเปลี่ยนแปลง ตัดหุ้นที่อ่อนแอลงออก ซื้อหุ้นที่ดีกว่าเข้ามา แต่นี่ไม่ใช่การเทรดหรือซื้อขายหุ้นรายวัน รายเดือน หรือแม้แต่รายปี มันขึ้นกับสถานการณ์และตัวหุ้น โดยเฉลี่ยแล้วถ้าเราซื้อหุ้นแล้วถือไม่ถึงปี วิธีการลงทุนของเราคงไม่ใช่การเน้นหุ้นคุณภาพในการลงทุนเป็นหลัก
ทั้งหมดนั้น ก็เป็นเพียงบางส่วนของกฎในการซื้อขายหุ้นลงทุนที่ผมคิดว่าดี และสอดคล้องกันเป็นชุดแน่นอน มีกฎอื่นๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน และอาจจะตรงกันข้ามกับที่ผมพูดถึง นักลงทุนคงต้องเลือกเองว่า จะเชื่อแนวความคิดหรือวิธีไหน แต่ขอบอกว่านี่คือวิธีการที่นักลงทุนเอกของโลก อาทิ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ใช้อยู่และประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘