อัตราส่วนทางการเงิน (Ratio Analysis)

อัตราส่วนทางการเงิน (Ratio Analysis) เป็นตัวเลขที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างรายการที่สำคัญๆ ในงบการเงิน และเป็นเครื่องมือในการประเมินสถานะของบริษัท โดยสามารถนำไปใช้พิจารณาเปรียบเทียบกับอัตราส่วนทางการเงินของงบบริษัทอื่น หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งอัตราส่วนต่างๆ ทางการเงินสามารถจำแนกออกเป็นกลุ่มๆ ดังนี้

กลุ่มที่ 1 สภาพคล่องของกิจการ

อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio) เท่ากับ สินทรัพย์หมุนเวียน ต่อ หนี้สินหมุนเวียน
อัตราส่วนชนิดนี้ จะแสดงถึงฐานะทางการเงินระยะสั้นของบริษัท หรืออธิบายอย่างง่ายว่า ภาระผูกพันที่บริษัทต้องชำระในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ถูกครอบคลุมโดยเงินสดและทรัพย์สินที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่ายมากน้อยเพียงไร หากผลลัพธ์ที่ได้มีค่าสูง แสดงว่าบริษัทมีสินทรัพย์หมุนเวียนมากพอที่จะชำระหนี้ได้ทันตามเวลาที่ครบกำหนด อัตราส่วนชนิดนี้มีหน่วยเป็นเท่า

กลุ่มที่ 2 ความสามารถในการทำกำไร และผลตอบแทนจากการลงทุน

อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Income Margin) เท่ากับ ( กำไรจากการดำเนินงาน X 100 ) ต่อ ยอดขาย
ผลลัพธ์ที่ได้แสดงถึงความสามารถในการจัดการ และรายได้จากการขายหลังจากหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว อัตราส่วนชนิดนี้
เป็นตัวบอกระดับความสามารถในการทำกำไรในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวโน้มของรายได้ และการควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัททั้งด้านการผลิต การตลาด และการดำเนินงาน หากอัตราส่วนนี้มีค่าสูง นั่นหมายถึง บริษัทมีความสามารถและประสิทธิภาพในการจัดการได้ดี อัตราส่วนชนิดนี้มีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์

อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ทั้งหมด (Return on Asset : ROA) เท่ากับ ( กำไรสุทธิ X 100 ) ต่อ สินทรัพย์ทั้งหมด

แสดงถึงระดับผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทว่าอยู่ในระดับใด และมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์เป็นเท่าไร
เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ ย่อมหมายถึงโอกาสที่บริษัทจะสามารถทำกำไรสูงขึ้น ROA เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรของสินทรัพย์ทั้งหมดที่ธุรกิจใช้ในการดำเนินงาน ยิ่ง ROA มีค่ามากเท่าไร แสดงว่าบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรจากการใช้สินทรัพย์ได้ดีเท่านั้น อัตราส่วนชนิดนี้มีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์

อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) เท่ากับ ( กำไรสุทธิ X 100) ต่อ ส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งหมด
อัตราส่วนชนิดนี้แสดงให้ทราบว่าเงินลงทุนของผู้ถือหุ้นที่ลงทุนในกิจการนั้น สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นเป็น
เท่าไร อัตราส่วนชนิดนี้เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรของกิจการ หากอัตราที่ได้มีค่าสูง นั่นแสดงว่าผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนสูงเช่นกัน ซึ่งผลตอบแทนดังกล่าวอาจสะท้อนมาในรูปของราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น หรือการได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล อัตราส่วนชนิดนี้มีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์

กลุ่มที่ 3 ความสามารถในการชำระหนี้


อัตราส่วนหนี้ต่อส่วนของเจ้าของ (Debt-to-Equity Ratio : D/E Ratio) เท่ากับ หนี้สินทั้งหมด ต่อ ส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งหมด
D/E Ratio แสดงถึงสัดส่วนของเงินทุนภายนอกต่อเงินทุนภายในของบริษัท หรือเข้าใจอย่างง่ายว่า บริษัทมีเงินกู้ยืมเป็นกี่เท่าเมื่อเทียบกับทุนของบริษัท นักลงทุนสามารถนำค่า D/E Ratio มาพิจารณาความเสี่ยงในการลงทุนได้ เช่น ถ้าค่า D/E Ratio มีค่าสูงก็หมายความว่าสินทรัพย์ในบริษัทนั้นเกิดขึ้นจากการกู้ยืมเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นหากบริษัทมีรายได้จากการดำเนินงาน บริษัทก็ต้องนำรายได้มาจ่ายดอกเบี้ยจากการกู้ยืม ซึ่งถ้ายอดหนี้สูง ดอกเบี้ยจ่ายย่อมสูงตามด้วย จนอาจทำให้ผู้ถือหุ้นไม่ได้รับผลตอบแทนจากการ
ลงทุนอย่างเต็มที่ หรือในแง่ของเจ้าหนี้ ยิ่งบริษัทมีค่า D/E Ratio สูงเท่าไร ความเสี่ยงในการให้กู้ยืมเพิ่มเติมย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น

จะซื้อหลักทรัพย์ที่ราคาเท่าใด

นักลงทุนจะตัดสินใจลงทุนซื้อหลักทรัพย์ที่ราคาเท่าใดจึงเหมาะสม ในที่นี้คงไม่มีใครสามารถกำหนดระดับราคาที่
แน่นอนได้ ปกติแล้ววิธีการที่นักลงทุนสามารถทราบถึงความเหมาะสมของราคา หรือมูลค่าของหลักทรัพย์ที่ต้องการซื้อนั้น สามารถกระทำได้หลายวิธี เช่น การหามูลค่าตามบัญชี (Book Value) หรือการหาอัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น
(P/E Ratio) แต่ทั้งนี้ การจะเลือกวิธีการใดมาพิจารณานั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง และประเภทของธุรกิจนั้นๆ ด้วย โดยในที่นี้ จะขอเสนอวิธีการหา ค่า P/E Ratio (Price/Earning Ratio)
อัตราส่วนชนิดนี้เป็นการสะท้อนว่าราคาตลาดของหลักทรัพย์นั้นเป็นกี่เท่าของกำไร ถ้าหลักทรัพย์มีค่า P/E Ratio สูง
นักลงทุนอาจยินดีซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวในราคาสูง เนื่องจากคาดการณ์ว่าผลกำไรของบริษัทดังกล่าวจะขยายตัวในอัตราที่สูง
และอัตราส่วนชนิดนี้มีหน่วยเป็นเท่า
P/E Ratio เท่ากับ ราคาตลาดของหุ้นตัวนั้นๆ หารด้วย กำไรสุทธิต่อหุ้นประจำงวด 12 เดือน
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรนำค่าต่างๆ ของอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทไปเปรียบเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปี
ก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นเปรียบเทียบแบบไตรมาส หรือแบบปี หรือเปรียบเทียบในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันด้วย ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้
นักลงทุนสามารถคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ นักลงทุนควรระมัดระวังในการแปลความอัตราส่วนต่างๆ เพราะอัตราส่วนทางการเงินเป็นเพียงข้อมูลเชิงปริมาณ จึงควรนำข้อมูลเชิงคุณภาพมาพิจารณาประกอบการลงทุนด้วย เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างรอบคอบ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘