เลือกหุ้น P/E สูงหรือต่ำดี

หลายๆ ท่านอาจจะเคยรู้จักกับอัตราส่วนตัวนี้มาบ้างแล้ว แต่มีใครรู้บ้างว่า มันสามารถช่วยในการวิเคราะห์การลงทุนของท่านได้อย่างไร ก่อนอื่นมารู้จักความหมายของ P/E Ratio กันก่อน แล้วค่อยมาดูกันต่อว่ามันมีประโยชน์ต่อการเลือกลงทุนของเราอย่างไร (ข้อมูลอ้างอิงจาก www.bkkonline.com/investment)
P/E Ratio เป็นอัตราส่วนที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ลงทุนยินดีจะจ่ายเงินซื้อหุ้นนั้นเป็นกี่เท่าของทุกๆ 1 บาทของกำไรสุทธิของบริษัท ซึ่งมีสูตรการคำนวณดังนี้
P/E = ราคาตลาดต่อหุ้น
กำไรสุทธิต่อหุ้นประจำงวด 12 เดือนของหุ้น
หุ้นที่มี P/E สูงหมายถึงว่า เรายอมที่จะจ่ายแพงกว่าเพื่อซื้อหุ้นตัวนี้เมื่อเทียบกับหุ้นอีกตัวที่ P/E ต่ำกว่า หลายคนจึงมักจะบอกว่าหุ้นที่มี P/E สูงคือหุ้นแพง และหุ้นที่มี P/E ต่ำคือหุ้นถูก ดังนั้น การซื้อหุ้นที่มีราคาถูกน่าจะมีโอกาสกำไรมากกว่าซื้อหุ้นที่แพง แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาจไม่ใช่ทุกครั้งไปที่จะได้ผล บางครั้งการซื้อหุ้นที่มี P/E Ratio สูงกลับมีผลกำไรดีกว่าการซื้อหุ้นที่มี P/E Ratio ต่ำ เนื่องจากหุ้นแต่ละตัวมีลักษณะไม่เหมือนกัน และไม่ได้เป็นไปตามข้อสมมติฐานที่สมมติดังกล่าว โดยปัจจัยที่เราไม่ได้พิจารณาคือ
1. การเพิ่มขึ้นและลดลงของกำไร หุ้นที่มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของกำไรมักจะมี P/E Ratio สูง ในขณะที่หุ้นที่มีแนวโน้มการถดถอยของกำไรจะมี P/E ต่ำ ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มการทำกำไรก็จะมีผลต่อราคา เช่น หากผู้ลงทุนมองหุ้นตัวหนึ่งเป็น Growth Stock สมควรที่จะซื้อขายที่ P/E สูงๆ แต่ถ้าวันนึงมีปัจจัยที่มีผลต่อธุรกิจที่ทำให้หุ้นตัวนี้จะไม่มีการขยายตัวของกำไรสูงอย่างที่คาด ทำให้ผู้ลงทุนประเมิน P/E ที่เหมาะสมของหุ้นให้ต่ำลง จึงพากันเทขายหุ้นออกมา หุ้นตัวนั้นก็จะมีราคาลดลงอย่างรวดเร็ว
วิธีการใช้ P/E Ratio อย่างง่ายๆ ในการดูว่าหุ้นตัวนั้นราคาถูกหรือแพงอย่างคร่าวๆ คือ หุ้นที่น่าลงทุนไม่ควรจะมี P/E Ratio สูงกว่าการขยายตัวของกำไร หรือก็คือการหา PE to Growth Ratio คือ การนำ P/E หารด้วย Growth หุ้นตัวไหนยิ่งมีค่าต่ำกว่า 1 มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เช่น หุ้น A จะมีการขยายตัวของกำไรในอีก 3 ปีข้างหน้าประมาณ 15% ต่อปี หุ้นตัวนี้ก็ควรจะมี P/E Ratio ไม่เกิน 15 เท่า ดังนั้น ถ้าหุ้นตัวนี้มี P/E 8 เท่าก็น่าพิจารณาซื้อ เป็นต้น
บทความสำหรับผู้ลงทุน
2. ความเสี่ยงของกิจการและความผันผวนของกำไร
หุ้นที่มีความเสี่ยงสูงจะมี P/E ต่ำกว่าหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า P/E คือระยะเวลาคืนทุน ดังนั้น หากเราดำเนินธุรกิจที่มีความเสี่ยง เราก็ย่อมจะต้องการให้ธุรกิจคืนทุนเร็วๆ หรือต้องการให้ P/E ต่ำๆ นั่นเอง
3. ปัจจัยอื่นๆ
• คุณภาพของผู้บริหารและ Good Governance ถ้าบริษัทมีผู้บริหารที่ดี มีความสามารถ หุ้นของบริษัทก็จะมี P/E สูง
• สภาพคล่องของหุ้น หุ้นที่มี Market Cap ขนาดใหญ่มักจะมี P/E สูงกว่าหุ้นที่มี Market Cap เล็กที่มีสภาพคล่องน้อยกว่าแม้ว่าจะเป็นหุ้นที่ดีก็ตาม เนื่องจากกองทุนและผู้ลงุทนต่างชาติจะให้ความสนใจมากกว่า เพราะจำนวนที่ต้องการซื้อแต่ละครั้งค่อนข้างมาก หากซื้อหุ้นตัวเล็กจะซื้อขายลำบาก ทำให้หุ้นขนาดใหญ่มี P/E สูงกว่า
นอกจากที่เราดูเปรียบเทียบหุ้นแบบตัวต่อตัวแล้ว เราควรจะดู P/E Ratio เปรียบเทียบกับ P/E ตลาดและอุตสาหกรรมด้วย จะได้เปรียบเทียบดูว่าหุ้นนั้นมี P/E ที่สูงหรือต่ำกว่ามาตรฐานของตลาดและอุตสาหกรรม
สำหรับท่านที่สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ใน SETSMART ก็มีหลายๆ ฟังก์ชั่นที่สามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับ P/E Ratio ได้ เช่น ถ้าท่านต้องการดู P/E ตลาดและกลุ่มอุตสาหกรรม ท่านสามารถใช้ฟังก์ชั่นดัชนีอุตสาหกรรม (Sectoral Indices) หรือฟังก์ชั่นข้อมูลเปรียบเทียบหมวดอุตสาหกรรม (Sector Comparison) แต่ถ้าท่านต้องการดูเป็นรายหลักทรัพย์ สามารถเรียกดูได้จากฟังก์ชั่นการจัดอันดับ (Top Ranking) ฟังก์ชั่นข้อมูลเปรียบเทียบรายหลักทรัพย์ (Stock Comparison) ฟังก์ชั่นข้อมูล Highlight ของบริษัท (Company Highlight) และฟังก์ชั่นการซื้อขายในอดีต (Historical Trading)
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกลงทุน P/E Ratio เป็นแค่ข้อมูลหนึ่งในประกอบการตัดสินใจเท่านั้น ผู้ลงทุนควรจะต้องดูหลายๆ ข้อมูลประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลทางการเงิน หรือแม้แต่ข่าวต่างๆ เกี่ยวกับบริษัทนั้นๆ เพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจลงทุน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘