การวัด “แคลอรี”

“แคลอรี” เป็นหน่วยวัดพลังงานความร้อนที่นิยมใช้กันในหมู่นักโภชนาการและสรีรวิทยา ที่เรียกกันว่าแคลอรีเฉย ๆ นั้นปกติจะต้องใช้หน่วยเป็นกิโลแคลอรี ซึ่งมีค่าเท่ากับ ๑,๐๐๐  แคลอรี  กิโลแคลอรี  (Kcal)  หมายถึง ปริมาณความร้อนที่ทำให้น้ำ ๑ ลิตรมีอุณหภูมิสูงขึ้น ๑ oC (จาก ๑๕ oC  เป็น ๑๖ oC)
     นักวิทยาศาสตร์นายหนึ่งชื่อ  แอตวอเตอร์ ค้นคว้าทดลองพบว่า คนเราต้องการพลังงานประมาณ ๒,๔๐๐ กิโลแคลอรีต่อวัน ปัญหาต่อมาจึงอยู่ที่ว่า อาหารแต่ละชนิดนั้นให้พลังงานเป็นจำนวนเท่าไร  เพื่อที่เราจะสามารถจัดตารางอาหารและสูตรอาหารที่เหมาะสำหรับความต้องการของ ร่างกาย
     นักวิทยาศาสตร์สร้างอุปกรณ์เรียกว่า “บอมบ์แคลอรีมิเตอร์” ซึ่งประกอบด้วยภาชนะที่สามารถปิดได้สนิท ภายในที่ใช้บรรจุถาดอาหารจะมีออกซิเจนอยู่ด้วย ภายนอกล้อมรอบด้วยน้ำและมีอากาศเป็นฉนวนป้องกันอีกชั้นหนึ่ง มีลวดไฟฟ้าต่อโดยตรงกับถาดอาหาร หลังจากปล่อยกระแสไฟฟ้าภายใต้ความดันสูง  อาหารจะถูกเผาไหม้จนหมด  ความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้จะถูกปล่อยออกมาสู่น้ำที่ล้อมรอบ เมื่อเราวัดอุณหภูมิของน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปจากเทอร์โมมิเตอร์ที่จุ่มอยู่นำ มาคำนวณก็จะได้ค่าพลังงานความร้อนของอาหารชนิดนั้น
     จากการทดลองหลาย ๆ ครั้ง นักวิทยาศาสตร์ได้ค่าพลังงานความร้อนของสารอาหารหลัก ๓ ประเภท คือ โปรตีน  ไขมัน  และคาร์โบไฮเดรต  ว่ามีค่าเท่ากับ  ๔  Kcal/g, ๙  Kcal/g  และ  ๔  Kcal/g  ตามลำดับ  เรียกค่าที่ว่านี้ว่า  “แอตวอเตอร์แฟกเตอร์” การหาค่านี้ได้ทำให้สามารถคำนวณหาค่าพลังงานความร้อนจากอาหารชนิดต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้น  แทนที่จะต้องแบกหม้อ  “บอมบ์แคลอรีมิเตอร์” พะรุงพะรังเข้าไปในร้านอาหาร
     ในทางปฏิบัติ นักโภชนาการจะใช้ข้อมูลจากตารางการวิเคราะห์อาหาร ตารางเหล่านี้บอกให้รู้ถึงปริมาณคาร์โบไฮเดรตโปรตีน ไขมัน ที่มีอยู่ในอาหารแต่ละชนิด จากนั้นจะนำมาคูณกับค่าแอตวอเตอร์แฟกเตอร์ ก็จะเป็นค่าพลังงานของอาหารชนิดนั้น ๆ  ว่ามีกี่แคลอรี  นอกจากนั้นนักโภชนาการยังได้ทำเป็นตารางเทียบค่าแคลอรีของอาหารแต่ละชนิด ซึ่งคนทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวกที่สุด เช่น ในตารางจะบอกว่า  ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า  ๑  จานมีกี่แคลอรี  สลัดผัก  ๑  จาน  เท่ากับกี่แคลอรี  เป็นต้น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘