ข้อสรุปบทวิเคราะห์

คำแนะนำของนักวิเคราะห์
   มีข่าวมากมายเกี่ยวกับหุ้นของหลาย บริษัทรวมทั้งมีความเห็นของนักวิเคราะห์นิรนามจำนวนมากในหน้าหนังสือพิมพ์ ดิฉันอ่านข้อวิเคราะห์บางชิ้นแล้วรู้สึกตะขิดตะขวงใจวันนี้จึงอยากจะขอแบ่ง ปันประสบการณ์เกี่ยวกับการอ่านและใช้บทวิเคราะห์กับท่านผู้ลงทุนหรือตั้งใจ จะลงทุนเพื่อท่านจะได้นำไปใช้ประโยชน์
    บทวิเคราะห์โดยทั่วไปจะปรากฏชื่อของผู้วิเคราะห์หรือของสถาบัน ที่ผู้วิเคราะห์สังกัด เนื่องจากเป็นการแสดงความรับผิดชอบว่า ได้ทำการวิเคราะห์ตามวิชาชีพแล้วหากจะผิดจะถูกก็มักจะขึ้นอยู่กับสมมติฐานบท วิเคราะห์เหล่านี้จะเชื่อถือได้พอสมควรทีเดียว บทวิเคราะห์ที่ผู้วิเคราะห์ให้สัมภาษณ์และไม่ยอมแม้แต่จะเปิดเผยชื่อของตน คือข่าวในทำนอง “นักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์แห่งหนึ่งแนะ นำว่า...” ฯลฯ ดิฉันเห็นว่าท่านผู้ลงทุนควรอ่านด้วยความระมัดระวัง
    ที่สะดุดใจอีกอย่างหนึ่งคือ ข้อสรุปการวิเคราะห์ โดยปกติแล้วบทวิเคราะห์จะมีข้อสรุปการวิเคราะห์เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบว่านัก วิเคราะห์แนะนำให้ผู้ลงทุนทำอย่างไรต่อไปสำหรับหุ้น ศัพท์ที่สะดุดใจดิฉันคือ “ซื้อเพื่อเก็งกำไร” ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีอยู่ในบทวิเคราะห์ของต่างประเทศ จึงขอรวบรวมศัพท์เกี่ยวกับข้อแนะนำที่อยู่ในบทวิเคราะห์ซึ่งน่าจะเป็น ประโยชน์ต่อผู้ลงทุนดังนี้
    ข้อสรุปบทวิเคราะห์มี 2 ประเภท ประเภทหนึ่งจะแนะนำการลงทุน อีกประเภทหนึ่งจะวิเคราะห์มูลค่าและให้ผู้ลงทุนไปพิจารณาเองว่าจะทำอย่างไร ต่อไปกับพอร์ตการลงทุน ขอแนะนำประเภทแรกคือกลุ่มที่แนะนำให้ปฏิบัติ หรือ take action ก่อนค่ะ
    “ซื้อ” ภาษาอังกฤษใช้ว่า “buy” ชื่อก็บอกตรงๆ ว่าแนะนำให้ซื้อ ซึ่งอาจแตกสาขาออกไปได้เป็น “ซื้อ” เฉยๆ หรือ buy กับ strong buy ซึ่ง strong buy นี้ ความหมายว่า “ซื้อ ทันที” ไม่ต้องรอช้า เพราะหากรอราคาอาจจะขึ้นไปเกินเป้า แล้วอาจจะหมดโอกาสซื้อ
    “ทยอยสะสม” ภาษาอังกฤษใช้ “accumulate” บางแห่งจะใช้ “ทยอย ซื้อ” หรือ “ซื้อสะสม” หมายถึงว่า หากราคาลดลงมาก็น่าจะซื้อมากขึ้น ไม่ต้องรีบร้อนมาก
    “ซื้อลงทุน” ภาษาอังกฤษใช้ “long-term buy” คือแนะนำให้ซื้อไว้ในพอร์ตที่ลงทุนระยะยาว เพราะปัจจัยพื้นฐานดี และหวังว่าราคาในอนาคตจะค่อยๆ สะท้อนมูลค่า
    “ซื้อเมื่ออ่อนตัว” หรือ “buy on weakness” ความหมายลึกๆ คือ ราคา ณ ปัจจุบันสูงไปสักหน่อย หากจะลงทุนควรจะซื้อ เมื่อราคาปรับตัวลงมาจากระดับราคาปัจจุบัน
    “ซื้อเพื่อรอขาย” หรือ “trading buy” ศัพท์นี้น่าจะเป็นรากศัพท์ของคำว่า “ซื้อเพื่อเก็งกำไร” หรือ “speculative buy” ที่นิยมใช้ กันอยู่ตอนนี้ แต่ความหมายแตกต่างกันมาก ความหมายของ trading buy ที่ผู้จัดการกองทุนใช้ก็คือ หุ้นนี้มีปัจจัยพื้นฐานดี แต่คาดว่าราคาอาจจะปรับตัวขึ้นค่อนข้างรวดเร็วจนอาจถึงราคาเป้าหมายในไม่ช้า จึงต้องจับตามอง และอาจกลับเข้ามาซื้อใหม่ เมื่อราคาปรับลดลงมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งต่างกับคำว่า “เก็งกำไร” ซึ่งหุ้นอาจมีราคาเพิ่มขึ้นเพราะข่าวลือ หรือตามกระแสโดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานมารองรับ
    คำว่า “ซื้อเพื่อเก็งกำไร” ไม่มีอยู่ในพจนานุกรมของผู้จัดการกองทุนค่ะ เพราะหุ้นที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานมารองรับการขึ้นของราคาคือหุ้นที่ราคามี โอกาสตกได้ตลอดเวลา อย่างนี้เป็นความเสี่ยงดังนั้น ช่วงที่หุ้นเก็งกำไรมีราคาเพิ่มขึ้นไปมากๆ ผู้จัดการกองทุนก็อาจจะบริหารงานแพ้ดัชนีตลาด หรือที่เรียกว่า underperform แต่เมื่อใดก็ตาม ที่ลูกโป่งแตก ทุกอย่างก็จะกลับมาสู่ความเป็นจริง เมื่อนั้นกองทุนก็จะไม่เจ็บตัวค่ะ
    “หลีกเลี่ยง” หรือ “avoid” ส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นที่มีราคาสูงเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานมากแล้ว หรือมีความเสี่ยงเฉพาะเกิดขึ้น เช่น กำลังอยู่ระหว่างการถูกสั่งให้แก้ไขงบการเงิน หรือมีการซื้อเก็งกำไรมาก จนราคาไม่ปกติ ซึ่งหุ้นในกลุ่ม “ซื้อเพื่อเก็งกำไร” พอมาอยู่ในพจนานุกรมของผู้จัดการกองทุนเรามักจะ “หลีก เลี่ยง” ค่ะ
    “ถือ” หรือ “hold” จะใช้กับกรณีที่ผู้ลงทุนมีหุ้นนั้นอยู่ในพอร์ตอยู่แล้ว แต่ราคาอาจจะยังไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐานมากนัก ขายไปก็จะเสียโอกาสเพราะยังมีโอกาสขึ้นอีก แต่ก็ไม่แนะนำให้ซื้อเพิ่ม เพราะราคาใกล้จะถึงจุดที่เหมาะสมแล้ว อย่างนี้ถือรอขายทำกำไรค่ะ
    “ขาย” หรือ “sell” อาจเกิดจากปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยน หรือกรณีราคาขึ้นมาถึงเป้าหมายแล้วก็อาจแนะนำให้ “ขาย ทำกำไร” หรือ “take profit”
    คำแนะนำประเภทที่ 2 คือคำแนะนำเกี่ยวกับมูลค่าของหลักทรัพย์นั้น แบ่งกลุ่มย่อยเป็น 2 กลุ่มคือ แนะนำเกี่ยวกับน้ำหนักการลงทุน และแนะนำเกี่ยวกับมูลค่า
    น้ำหนักการลงทุนนั้น มีตั้งแต่ “มากกว่า น้ำหนักตลาด” (overweight) แปลว่าปัจจัยพื้นฐานดี น่าจะมีโอกาสมีราคาขึ้นมากกว่าหุ้นโดยเฉลี่ย หรือ “เป็น กลาง” (neutral) คือมีโอกาสขึ้นเท่ากับตลาดโดยรวม และให้น้ำหนัก “น้อยกว่าตลาด” (underweight) เพราะเห็นว่าอาจมีโอกาสปรับตัวขึ้นน้อยกว่าหุ้นอื่นๆ
    นักวิเคราะห์หลักทรัพย์อาจไม่อยากเขียนให้ผู้ลงทุนดำเนินการโดยตรง แต่จะเขียนให้เข้าใจทางอ้อม เช่น หากหุ้นนั้นมีราคาสูงเกินไปแล้ว อยากให้ขาย ก็จะแนะนำว่า “เต็มมูลค่า” หรือ “fully valued” หากอยากให้ถือก็จะแนะนำว่า “เป็นกลาง” หรือ “neutral” หรืออยากแนะนำให้ซื้อ ก็จะบอกว่า “ราคาต่ำกว่ามูลค่า” หรือ “under valued” ส่วนใหญ่จะเห็นนักวิเคราะห์ใช้คำแนะนำประเภทที่ 2 นี้ กับคำแนะนำขาย คือไม่ค่อยจะมีใครเขียนให้ “ขาย” ตรงๆ แต่จะไปเลี่ยงเป็น “เต็มมูลค่า” แล้ว หรือให้น้ำหนัก “ต่ำกว่าตลาด” คงจะเป็นเพราะยังเกรงใจผู้บริหารของบริษัทนั้นๆ อยู่ เพราะอุตส่าห์ยอมให้เข้าพบและให้ข้อมูลมาฉะนั้นคำแนะนำจึงยังมีลักษณะของ สังคมไทยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยค่ะ
    ทราบอย่างนี้แล้ว หวังว่าท่านจะไม่กระโจนเข้าไปลงทุนในหุ้นที่เขาแนะนำให้ “ซื้อเก็งกำไร” นะคะ โดยเฉพาะหากแนะนำโดยไม่ยอมเปิดเผยชื่อหรือบริษัทที่สังกัด พยายามเปลี่ยน “ซื้อเก็งกำไร” ให้เป็น “หลีก เลี่ยง” เพื่อคุ้มครองเงินลงทุนของท่านเอง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘