กระทิง-หมู-หมี

ในตลาดหุ้นนั้น  เรามักจะคุ้นเคยกับคำว่ากระทิงกับคำว่าหมีหรือ Bull กับ Bear  กระทิงคือภาวะที่ตลาดหุ้นหรือราคาหุ้นหรือดัชนีหุ้นปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อ เนื่องยาวนาน  ตรงกันข้าม  ตลาดหมีคือภาวะที่ดัชนีตลาดปรับตัวลงรุนแรงและต่อเนื่องยาวนานเช่นกัน  อย่างไรก็ตาม  ยังมีภาวะตลาดหุ้นอีกแบบหนึ่งคือภาวะที่ตลาดหุ้น “ไม่ไปไหน” คือหุ้นอาจจะขึ้นบ้างไม่มากนักแล้วก็ลงมาไม่มากอีกเช่นกันและก็ขึ้น ๆ  ลง ๆ  แบบนั้นเป็นเวลายาวนาน  ตลาดหุ้นแบบนี้ฝรั่งเรียกว่า  Range-Bound ผมขอเรียกว่าตลาด “หมู”  เรามาลองดูว่าตลาดแต่ละแบบที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทยนั้นเกิดเมื่อไร  มีที่มาที่ไปอย่างไร
เริ่มตั้งแต่เปิดตลาดในปี 2518 จนถึงสิ้นปี 2521 ซึ่งเป็นปีที่พูดกันว่าหุ้นบูมสุด ๆ  นับเวลาได้ 3 ปี นั้น  ดัชนีตลาดหุ้นขึ้นมาจากสิ้นปี 2518 ที่ประมาณ 84 จุดเป็น 258 จุด หรือขึ้นมาเฉลี่ยปีละ 45.3% ทบต้น ในเวลานั้นผมยังจำได้ว่าเพื่อนบางคนของผมได้กำไรจากหุ้นโดยที่ลงทุนไม่มาก แต่เขาบอกว่าสามารถทำเงินได้เดือนละเป็นหมื่นบาทซึ่งในเวลานั้นถือว่าเป็นผล ตอบแทนที่ดีเยี่ยมมาก  ทุกคนต่างก็เล่นหุ้นระยะสั้นแทบจะเป็นการซื้อขายรายวัน  อย่างไรก็ตาม คนเล่นหุ้นก็ยังมีจำกัดมาก  มักอยู่ในกลุ่มคนที่ชอบเก็งกำไรหรือคนที่มีความรู้เกี่ยวกับหุ้นอย่างเช่น เพื่อนผมที่กำลังเรียน MBA
ที่มาของกระทิง “ตัวแรก” ของตลาดหุ้นไทยนั้น  ถ้าพูดว่าเป็นเรื่องของการ “เก็งกำไร”  ก็อาจจะพูดได้   แต่การเก็งกำไรนั้น  ในที่สุดก็ต้องมีแหล่งว่าพวกเขาเก็งจากอะไรโดยเฉพาะในระยะยาว  คำตอบก็คือ  “กำไร” และการคาดการณ์ในเรื่องกำไรในอนาคตของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  กำไรนั้นเป็นตัวเลขที่ชัดเจนมีการประกาศเปิดเผยทุกไตรมาศและทุกปี  ดังนั้น  เราหาดูได้ไม่ยาก  แต่การคาดการณ์ของกำไรในอนาคตนั้นเอาแน่ไม่ได้   แต่เราก็สามารถดูได้จากการมองโลกในแง่ดี  ความกระตือรือร้นในการที่จะลงทุนซื้อหุ้นของนักลงทุน  และอาจจะมองถึงเรื่องของผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารการเงินอื่นเช่นเงินฝาก หรือพันธบัตร เป็นต้น   โชคดีที่ว่าประเด็นทั้งหลายเหล่านี้เราสามารถหาตัวแทนซึ่งเป็นตัวเลขได้นั่น ก็คือ  ค่า  PE  หรือ ราคาต่อกำไรต่อหุ้น ของตลาดหลักทรัพย์  นั่นก็คือ  ถ้านักลงทุนมีความ “ฮึกเหิม”  มั่นใจในตลาดหุ้น  พวกเขาก็จะเข้าซื้อหุ้นและทำให้ค่า PE สูงกว่าปกติและทำให้ตลาดกลายเป็นตลาดกระทิง  แต่ถ้าพวกเขา “หดหู่” มองโลกไม่สดใสหรือหวาดกลัว  ก็จะขายหุ้นทำให้ PE ต่ำกว่าปกติ และกลายเป็นตลาดหมี
ตลาดกระทิงตัวแรกของเรานั้นพบว่าเกิดขึ้นเพราะกำไรของบริษัทจดทะเบียน เติบโตขึ้นอย่างโดดเด่นคือเติบโตขึ้นปีละประมาณ 22% แบบทบต้น ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตที่โดดเด่นมากแม้ว่าในช่วงนั้นภาวะทางการเมืองอยู่ ในภาวะ “หน้าสิ่วหน้าขวาน”  คอมมิวนิสต์กำลังชนะทั้งในเวียตนาม  ลาว และเขมร  ประเทศไทยถูกคาดว่าจะเป็น “โดมิโน” ตัวต่อไป  และการประท้วงของนักศึกษาและการปราบปรามกำลังร้อนแรง  คนมีเงินบางคนถึงกับคิดอพยพจากประเทศไทยไปอยู่ที่อื่น  นอกจากเรื่องของผลกำไรแล้ว  ดูเหมือนว่าคนในตลาดหุ้นในเวลานั้นซึ่งมีน้อยมากอาจจะยังไม่สนใจเรื่องของ การเมืองนัก  จึงให้ค่า PE สูงขึ้น  ค่า PE ปรับตัวขึ้นจาก 4.98 เป็น 8.46 เท่าหรือเพิ่มขึ้นปีละ 19.32% ทบต้น  พวกเขาคงคิดว่าราคาหุ้นในขณะนั้นต่ำมาก  อย่างไรก็คุ้มที่จะลงทุน
หลังจากสิ้นปี 2521 เมื่อมีการ “กวาดล้าง” ขบวนการ  “ฝ่ายซ้าย” หมด  ประเทศไทยก็เผชิญกับเรื่องของภาวะเศรษฐกิจโลกเช่นราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมาก จากวิกฤติน้ำมันและอื่น ๆ  ช่วงจากสิ้นปี 21 ถึงสิ้นปี 2529 เป็นเวลา 8 ปี ตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วง “ตลาดหมู” ดัชนีหุ้นเมื่อสิ้นปี 29 อยู่ที่ 207 จุดจาก 258 จุดหรือเป็นการลดลงปีละ 2.7% ทบต้น กำไรของบริษัทจดทะเบียนเองก็ลดลงเฉลี่ยปีละ 7.3%  ความสนใจในตลาดหุ้นมีน้อยมาก  แม้ว่าค่า PE จะปรับตัวขึ้นบ้างจาก 8.46 เท่าเป็น 12.4 เท่า แต่ก็ไม่สามารถผลักดันราคาหุ้นให้ขึ้นมาได้  แต่นักเศรษศาสตร์ก็พูดกันว่าช่วงนี้เป็น “ฐาน” ของการที่ประเทศไทยจะ “โชติช่วงชัชวาล” ในเวลาอีก 7 ปีต่อมา
ช่วงสิ้นปี 2529 ถึง สิ้นปี 2536 เป็นตลาดกระทิงอย่างแท้จริง  ผลจากการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตของญี่ปุ่นสู่ประเทศไทยและการเปิดเสรีการเงิน ที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้อย่างสะดวกทำให้ เศรษฐกิจไทยสดใสและบริษัทจดทะเบียนสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นปีละ ประมาณ 21% ทบต้นต่อกัน 7 ปี  เช่นเดียวกัน ค่า PE ปรับตัวขึ้นปีละ 11% เนื่องจากเงินต่างประเทศและความสนใจในการลงทุนของคนไทย  สิ้นสุดปี 36 ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นเป็น 1683 จุด หรือเพิ่มปีละ 34.9% ทบต้นเรียกได้ว่าเป็น “ซุปเปอร์บูม”  คนเล่นหุ้นรวยกันทั่วหน้า  และบังเอิญว่าผู้จัดการตลาดในช่วงนั้นก็ชื่อ “มารวย” ด้วย  อย่างไรก็ตาม  ตลาดหุ้นในช่วงท้ายนั้นดูเหมือนจะแพงมากเพราะค่า PE ของตลาดสูงถึง 26 เท่า
“ฟองสบู่”  ในเศรษฐกิจและตลาดหุ้นหลังจากปี 2536 คงเริ่มแตกและแตกจริง ๆ  ในปี 2540 ที่ไทยต้องลดค่าเงินและเข้าโครงการ IMF และต่อไปจนถึงปี 2543 ดัชนีตกจาก 1683 จุดเหลือเพียง 269 จุดหรือเป็นการตกลงปีละ 23% ทบต้น 7 ปี รวมแล้วหุ้นตกลงไป 84% และเป็นตลาดหมีที่รุนแรงที่สุด บริษัทจดทะเบียนมีกำไรลดลงปีละ 3.93% โดยเฉลี่ย  คนแทบจะเลิกเล่นหุ้นหรือถึงจะอยากก็ไม่มีเงินทั้ง ๆ  ที่ราคาหุ้นถูกมากค่า PE ที่เคยสูงถึง 26 เท่า  เหลือเพียง 5.5 เท่าและนี่เป็นการสร้างฐานที่จะทำให้หุ้นบูม กลายเป็น “กระทิงตัวใหญ่”  ในช่วงเวลาต่อมา
จากสิ้นปี 2543 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 10 ปี นั้น    ดูเหมือนว่าหุ้นจะอยู่ในช่วงขาขึ้นและเป็น “กระทิงดุ” และทั้ง ๆ  ที่มีสภาวะความวุ่นวายทางการเมืองมากมายรวมถึงเหตุการณ์รุนแรงทั้งทางการ เมืองและเศรษฐกิจในระดับโลก  หุ้นไทยก็ “เดินหน้า” ไปเรื่อย ๆ  จากดัชนี 269 เพิ่มขึ้นเป็น 992 จุดในช่วงนี้  เป็นการเพิ่มขึ้นถึงปีละ 13.9% โดยเฉลี่ยแบบทบต้น  ดูเหมือนว่าคนไทยตั้งแต่ระดับชั้นกลางขึ้นไปจะสนใจลงทุนในหุ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ  ทำให้ค่า PE เพิ่มขึ้นจาก 5.5 เท่าเป็น 15.5 เท่า  ในขณะที่ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นน้อยมากเพียงปีละ 2.8% โดยเฉลี่ย ซึ่งถ้าวิเคราะห์ก็จะดูเหมือนว่ากระทิงรอบนี้มาโดย “ไม่มีเนื้อ”  พูดง่าย ๆ  หุ้นขึ้นเพราะการมองโลกในแง่ดีและราคาหุ้นที่ถูกมากเป็นหลัก  อย่างไรก็ตาม  ขณะนี้  ราคาหุ้นก็ไม่ถูกอีกต่อไปแล้ว  คำถามก็คือ  อนาคตจากนี้ไป  อะไรจะมา “รับลูกต่อ”  คำตอบคือ  ต้องเป็นกำไรของบริษัทจะทะเบียนที่จะต้องเพิ่มขึ้น  หรือไม่ คนก็จะต้องมองหุ้นในแง่ดีขึ้นไปอีก  มิฉะนั้น  กระทิงตัวนี้ก็ไม่อาจจะเดินต่อไปได้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘