นักเก็งกำไร VS นักลงทุน

ในตลาดหุ้นไทยนั้น  ใครที่ซื้อหุ้นแล้ว  “ถือยาว”  ก็เรียกกันว่า  “นักลงทุน”  ส่วนคนที่ซื้อแล้วขายในระยะเวลาอันสั้นก็มักถูกเรียกว่า  “นักเก็งกำไร”  เท่าไรถึงจะเรียกว่ายาวหรือสั้นก็ไม่ชัดเจนแล้วแต่ใครจะคิด  บางทีตอนซื้อก็คิดว่าจะถือสั้น “เก็งกำไร”  แต่พอหุ้นตกติดหุ้นก็เลยต้องถือยาวกลายเป็น  “ลงทุน”  การแบ่งแยกว่าใครเป็นนักเก็งกำไรหรือใครเป็นนักลงทุนนั้น  บ่อยครั้งไม่ใคร่ชัดเจน   แม้แต่เจ้าตัวเองบางทีก็ไม่รู้จริง  คนจำนวนมากคิดว่าตนเองเป็นนักลงทุนแต่จริง ๆ  แล้วพฤติกรรมที่ทำอยู่เป็นการเก็งกำไรก็มีไม่น้อย  บทความนี้จะพยายามกำหนดว่าแนวความคิดหรือพฤติกรรมแบบไหนเป็นการเก็งกำไรหรือ ลงทุน   ไม่ใช่เรื่องเดียวแต่หลาย ๆ  เรื่อง   คนที่มีพฤติกรรมแบบเก็งกำไรมาก ๆ  ผมก็คิดว่าเขาเป็นนักเก็งกำไรโดยธรรมชาติ  คนที่มีพฤติกรรมของการลงทุนมาก  ผมก็สรุปว่าเขามีธรรมชาติเป็นนักลงทุน
ข้อแรก  ก็แน่นอน  นักเก็งกำไรมักจะถือหุ้นสั้น   แต่ละตัวมักจะถือไม่เกิน 3-6 เดือน  ส่วนนักลงทุนมักจะถือหุ้นแต่ละตัวมากกว่า 1 ปี โดยเฉลี่ย  คนที่ถือครองหุ้นแทบจะว่าเฉลี่ยไม่เกิน  7  วัน หรืออาจจะเรียกว่า  Day Trader หรือเล่นหุ้นรายวันนั้น   แทบไม่ต้องสงสัยว่าเป็นนักเก็งกำไรแน่นอนไม่ต้องดูพฤติกรรมข้ออื่นเลย
ข้อสอง  นักเก็งกำไรเวลาเล่นหุ้นต้องมี  “ข่าว” หรือ “ข่าวลือ” หรือมี  Story หรือเรื่องราวที่น่าสนใจที่จะขับเคลื่อนราคาหุ้นได้  ข่าวหรือเรื่องราวนั้นจะต้องเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นและมีผลต่อ ราคาหุ้น  เช่น  ข่าวการจัดการหรือเปลี่ยนแปลงทางด้านการเงิน  เช่น  การแจกวอแร้นต์  การแตกพาร์  การจ่ายปันผล  เป็นต้น  หรือไม่ก็เป็นข่าวทางด้านธุรกิจเช่นมีการขยายธุรกิจใหม่  ข่าวว่าจะได้รับงานใหม่ เป็นต้น  ส่วนนักลงทุนนั้น  ก็มักจะสนใจลงทุนในหุ้นที่มองว่าจะเติบโตไปได้ในระยะยาวด้วยพื้นฐานที่แข็ง แกร่งของตัวกิจการเป็นหลัก
ข้อสาม  นักเก็งกำไรส่วนมากจะชอบเล่นหุ้นในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็น “ขาขึ้น”  หรือเป็นช่วงที่หุ้นบูม  เพราะในยามนี้  หุ้นจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้มากกว่า  สำหรับนักเก็งกำไรบางกลุ่มแล้ว  การซื้อหุ้น “แพง” นั้นไม่มีปัญหาหากมันจะแพงขึ้นไปอีก  ดีกว่าการซื้อหุ้น “ถูก”  ที่มันจะถูกลงไปอีกในยามที่ตลาด “กำลังตก”  ส่วนนักลงทุนนั้น  พวกเขามักจะชอบซื้อหุ้นในช่วงที่ตลาด “ปกติ”  หรือบางคนอาจจะชอบซื้อในช่วงที่ตลาดตกต่ำเพราะเขาชอบซื้อหุ้นที่มีราคา ถูกกว่าพื้นฐานที่ควรเป็น
ข้อสี่  นักเก็งกำไรมักจะชอบซื้อหุ้นของกิจการที่มีความไม่แน่นอนสูง  เช่น  ธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ  อาทิเช่นสินแร่โลหะ  พืชผลทางการเกษตร  พลังงาน  ปิโตรเคมี  ชิ้นส่วนอิเล็คโทรนิค  การเดินเรือ  นอกจากนั้น  ยังชอบกิจการที่มียอดขายและกำไรผันผวนเพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ซื้อราย ใหญ่ที่มักทำให้ยอดขายแต่ละปีไม่แน่นอน   ความคิดก็คือ  เล่นหุ้นพวกนี้ถ้า “เก็ง” หรือคาดการณ์ถูก  หรือมีข้อมูล  “อินไซ้ต์”  ก็จะสามารถทำกำไรจากหุ้นได้มาก  ตรงกันข้าม  นักลงทุนมักชอบกิจการที่มีความสม่ำเสมอของยอดขายและกิจการที่ทำให้สามารถคาด การณ์ผลประกอบการได้ง่ายกว่า
ข้อห้า  นักเก็งกำไรชอบเจ้าของกิจการที่สนใจและ “ดูแลหุ้น”  ดี   นั่นคือ  ให้ข้อมูลกิจการและ  “โปรโมต”  หุ้นสม่ำเสมอ  พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ  เจ้าของกิจการเป็นข่าวอยู่ในสื่อและหนังสือพิมพ์ธุรกิจและหุ้นสม่ำเสมอ  ข่าวที่ออกมามักเป็นข่าวดีและสนับสนุนราคาหุ้น  ส่วนนักลงทุนนั้น  อาจจะรู้สึกสงสัยและระมัดระวังถ้าพบว่าผู้บริหาร  “เชียร์หุ้น”  มากเกินไป  พวกเขาชอบเล่นหุ้นที่เจ้าของหรือผู้บริหารให้ข่าวพอดี ๆ  ไม่มองโลกในแง่ดีเกินไป  และไม่เน้นเรื่องราคาหุ้นว่าถูกหรือแพง
ข้อหก  นักเก็งกำไรมักจะชอบใช้มาร์จินในการเล่นหุ้น  พวกเขาคิดว่านี่คือการทำเงินได้เร็วเป็นสองเท่าโดยที่ต้นทุนดอกเบี้ยนั้นต่ำ มาก   สิ่งที่พวกเขากลัวไม่ใช่ดอกเบี้ยแต่เป็นการถูกเรียกหลักประกันเพิ่มในกรณี ที่หุ้นตก  ส่วนนักลงทุนนั้นมักจะไม่ใช้มาร์จินในการลงทุน   พวกเขาอาจจะไม่ได้คิดว่าหุ้นจะให้ผลตอบแทนมากพอที่จะคุ้มกับค่าดอกเบี้ยที่ ต้องเสีย  หรือถึงคุ้มในแง่เม็ดเงินแต่ก็ไม่คุ้มกับความเสี่ยงจากการเป็นหนี้  และที่สำคัญ  เวลาหุ้นตก  การขาดทุนก็อาจจะเพิ่มเป็นสองเท่าเช่นกัน
ข้อเจ็ด นักเก็งกำไรมักจะเล่นหุ้นเป็นตัว ๆ  คือในแต่ละช่วงเวลานั้นมักมีหุ้นจำนวนน้อยมาก  บางทีก็มีเพียงตัวเดียวสำหรับคนที่พอร์ตยังมีขนาดเล็ก   นั่นก็คือ  พวกเขาจะเล่นหุ้นตัวที่  “กำลังร้อน”  เมื่อได้กำไรหรือคิดว่าพลาดแล้วซึ่งมักจะใช้เวลาไม่นาน  เขาก็จะขายทิ้งแล้วไปเล่นตัวใหม่  ส่วนนักลงทุนนั้น  พวกเขาจะลงทุนในหุ้นหลาย ๆ  ตัวเป็นพอร์ตโฟลิโอ  จะมีการขายหุ้นบางตัวแต่ก็มักจะเปลี่ยนไปซื้อหุ้นตัวใหม่ที่คิดว่าดีกว่า
ข้อแปด  หุ้นที่นักเก็งกำไรจะเล่นนั้นจะต้องเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องสูงหรือเคยมีสภาพ คล่องสูง  พวกเขาเห็นว่านี่เป็นสิ่งจำเป็นในช่วงที่เขาจะขายทิ้งเมื่อได้กำไรตามเป้า หมายแล้ว  ส่วนนักลงทุนนั้น  ความจำเป็นต้องมีสภาพคล่องสูงนั้นมีน้อยกว่ามาก
ข้อเก้า เป็นเรื่องของแนวความคิดที่ผมสังเกตเห็นจากคนที่เป็นนักเก็งกำไรที่โดดเด่น บางคนหรือบางกลุ่ม  นั่นคือ  นักเก็งกำไรเชื่อว่า  ข้อแรก การเล่นหุ้นสั้นไม่เสี่ยงแต่การลงทุนยาวนั้นเสี่ยง  เหตุผลเพราะในระยะยาวแล้วเรา “ไม่รู้” คาดไม่ได้  ข้อสอง  ถ้าซื้อแล้วขาดทุนต้องขายตัดขาดทุนเร็วแต่ถ้ามีกำไรก็  let profit run คือถือให้กำไรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ก่อนจะขายเมื่อเห็นว่าราคาจะเริ่มกลับตัว  อย่างไรก็ตาม  นักเก็งกำไรรายย่อย ๆ จำนวนมากก็ทำตรงกันข้าม  ข้อสาม  นักเก็งกำไรมักจะชอบเล่นหุ้นกันเป็นหมู่หรือรวมกลุ่มกันหลาย ๆ  คน  นี่อาจจะเป็นความคิดว่าการรวมกันเล่นจะมีผลต่อราคาหุ้นได้มากกว่าทำอยู่คน เดียว  และข้อสี่  นักเก็งกำไรนั้น  เชื่อในเรื่องของจิตวิทยาตลาดและมวลชนว่ามีผลต่อราคาหุ้นมากกว่าพื้นฐานระยะ ยาวของกิจการ  ดังนั้น  นักเก็งกำไรเวลาซื้อขายหุ้นมักจะคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ  และนักเก็งกำไรที่เป็น  “ผู้นำ”  อาจจะต้องสร้างสถานการณ์แบบนั้นให้เกิดขึ้นด้วย
ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของพฤติกรรมว่าเป็นอาการของนักเก็งกำไรหรือนักลง ทุน  โดยทั่วไป  เราทุกคนต่างก็มีพฤติกรรมทั้งสองแบบในตัว  การที่จะบอกว่าใครน่าจะเป็นนักเก็งกำไรหรือใครน่าจะเป็นนักลงทุนนั้น  จึงต้องดูภาพรวมว่าเป็นอย่างไร   ถ้าพิจารณาหรือสังเกตดูแล้วพบว่าเรามักจะถือหุ้นแต่ละตัวค่อนข้างสั้นทั้ง ๆ  ที่ในใจเราตั้งใจจะถือยาวเมื่อซื้อ  นอกจากนั้น  เรายังมักมีหุ้นเพียง 1 หรือ 2 ตัว  ไม่ใคร่ได้ถือเกินนั้น  เรามักซื้อหุ้นเพราะมันกำลังมีข่าวและหุ้นตัวที่ซื้อเราก็มักได้มาจากกลุ่ม เพื่อนที่ชักชวนให้ซื้อเพราะมันกำลังมีข่าวดี  หุ้นที่เราเล่นมักจะมีปริมาณการซื้อขายสูงติดหนึ่งในสิบอันดับทั้งที่เป็น หุ้นตัวเล็ก  ต่าง ๆ  เหล่านี้  ก็อาจจะเป็นสิ่งที่บอกได้ว่า  แท้ที่จริงแล้วเราเป็น  “นักเก็งกำไร”  ทั้ง ๆ  ที่ใจเรานั้นบอกว่าเราเป็นนักลงทุน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘