คำพูดอมตะ

การลงทุนนั้นเป็นศิลปะ  “ชั้นสูง”  อย่างหนึ่ง  ดังนั้นจึงมี “คำพูด” ของกูรูมากมายที่พูดถึงการลงทุน  ลองมาดูว่ามีคำพูดที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงและใช้อ้างอิงจนกลายเป็นคำพูดคลา สิกหรือเป็นคำพูดอมตะที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอะไรบ้าง
คำพูดแรกคงต้องยกให้เป็น ของเบน เกรแฮม ในฐานะที่เป็น “บิดา” ของการวิเคราะห์การลงทุนอย่างเป็นวิทยาศาสตร์  นั่นก็คือ  “ตลาดหุ้นในระยะสั้นเป็นเสมือนเครื่องลงคะแนน  แต่ในระยะยาวเป็นเสมือนเครื่องชั่ง”  ความหมายก็คือ  ในระยะสั้น ๆ  นั้น  ราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจซื้อขายของนักลงทุน  ถ้าคนเชื่อและลงความเห็นว่ามันจะขึ้นมากกว่าคนที่คิดว่ามันจะลง  ราคาก็จะขึ้นตามการ  “ลงคะแนน” ของนักลงทุน  แต่ในระยะยาวแล้ว  ราคาหุ้นขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทว่ามันจะมีกำไรมากน้อยแค่ไหน  ถ้ามีกำไรมากหรือเทียบกับว่ามีน้ำหนักมาก  ตลาดก็จะให้ราคาหุ้นสูงขึ้นตามกำไรหรือน้ำหนักนั้น
คำพูดที่สองผมคงต้องยกให้ กับ วอเร็น บัฟเฟตต์ ในฐานะที่เป็นนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก  บัฟเฟตต์บอกว่า  “หลักการรวบยอดสำหรับนักลงทุนก็คือ  การเลือกบริษัทที่ดี ในราคาที่เหมาะสม  และถือมันตราบที่มันยังเป็นกิจการที่ดีอยู่”   นอกจากนั้น  เขายังมีคำพูดต่อเนื่องจากหลักการนี้ว่า  “มันเป็นเรื่องดีกว่ามากที่จะซื้อบริษัทที่ดีเยี่ยมในราคาที่ยุติธรรม  แทนที่จะซื้อบริษัทที่ดีพอควรในราคาที่ถูกมาก”
ความหมายของคำพูดแรกก็ คือ  เวลาจะซื้อหุ้นนั้น   นักลงทุนจะต้องดูเสียก่อนว่ามันเป็นกิจการหรือบริษัทที่ดีหรือเปล่า  ถ้าไม่ดีก็ไม่ต้องไปลงทุน  ถ้าดีแล้วก็ต้องดูต่อว่าราคาหุ้นในขณะนั้นเหมาะสมหรือเปล่า  ถ้าราคาแพงก็อย่าซื้อ  ถ้าไม่แพงหรือถูก  ก็ซื้อ  หลังจากนั้นก็เก็บหุ้นไว้  ไม่ต้องคิดว่าจะขายแม้ว่าราคาหุ้นจะขึ้นหรือตก  จะขายต่อเมื่อกิจการนั้นเริ่มจะไม่ดีแล้ว   ส่วนคำพูดที่สองนั้นบอกว่า  การซื้อหุ้นของกิจการที่ดีในราคาที่เหมาะสมนั้นอาจจะมีสองแบบ  และแบบที่ดีก็คือ  ซื้อกิจการที่ดีมาก ๆ  ดีกว่าซื้อกิจการที่ดีธรรมดา  แม้ว่าราคาหุ้นของกิจการที่ดีมากจะแพงกว่ากิจการธรรมดา ๆ  มาก
คำพูดที่สี่ผมคิดว่าต้อง ยกให้กับ จอร์จ โซรอส  นักเก็งกำไรที่น่าจะประสบความสำเร็จสูงระดับต้น ๆ ของโลก  เขาพูดว่า  “สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่าคุณถูกหรือผิด  แต่สิ่งสำคัญก็คือ  คุณกำไรเท่าไรเมื่อคุณถูก  และคุณขาดทุนเท่าไรเมื่อคุณผิด”  ความหมายก็คือ  สำหรับโซรอสแล้ว  เขาจะคิดผิดกี่ครั้งก็ไม่สำคัญตราบที่เขาไม่ได้ “พนัน” หรือลงทุนมาก  หรือคิดผิดแต่ขาดทุนไม่มากเพราะเขา “ขายทิ้งทัน”  นั่นก็คือ  คุณต้องรู้ตัวเร็วว่าคุณคิดผิด   แต่ในทางตรงกันข้าม  ถ้าโอกาสชนะสูงมากคุณจะต้องกล้า “เดิมพัน”  และทำกำไรมโหฬาร  หรือกล้าที่จะ  let profit run  หรือถือทำกำไรมาก ๆ  ก่อนที่จะขายได้
คำพูดที่ห้าผมยกให้กับนัก เก็งกำไร  “ระดับตำนาน” อีกคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตไปนานแล้วคือ  Jesse Livermore เขาพูดว่า  “ตลาดหุ้นคือที่ที่อันตรายมากสำหรับคนที่ไม่ชอบทำการบ้าน  คนโง่  และคนที่ชอบรวยทางลัด”  นี่เป็นคำพูดของนักเก็งกำไรที่มีชีวิตขึ้น ๆ ลง ๆ พอ ๆ  กับราคาหุ้นและความมั่งคั่งของเขา  และเป็นคำเตือนที่มีค่ายิ่งสำหรับนักเก็งกำไรว่า   การเก็งกำไรนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย  และไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้คนรวยได้ในชั่วข้ามคืน  การเป็นนักเก็งกำไรที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องทำงานหนักและต้อง  “ฉลาด” ด้วย  มิฉะนั้นคุณอาจจะเจ๊งได้ง่าย ๆ
คำพูดที่หกผมขอยกมาจาก ปีเตอร์ ลินช์  นักบริหารกองทุนรวมที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก  เขาพูดว่า  “ราคาหุ้นกับกำไรจะไปด้วยกันเสมอ  ถ้าราคาหุ้นแยกออกไปจากเส้นกำไร  ไม่ช้าก็เร็วมันจะวิ่งกลับไปหาเส้นกำไรเสมอ”  ความหมายของลินช์ก็คือ  ในระยะยาวแล้วราคาหุ้นกับกำไรต้องไปด้วยกันเสมอ  อย่ากลัวว่าหุ้นจะลงมาหากกำไรของบริษัทยังดีอยู่   ยิ่งหุ้นลงยิ่งเป็นโอกาสที่จะซื้อหุ้นเพราะไม่ช้าก็เร็วหุ้นก็จะต้องวิ่ง กลับมาตามกำไรที่เพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้น  ในอีกด้านหนึ่ง  ถ้าราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปเกินกำไรที่เพิ่มขึ้น  ก็เป็นไปได้ว่าในไม่ช้า  ราคาก็อาจจะต้องปรับตัวลงมาหาเส้นกำไรเช่นกัน  มองในแง่นี้เขาจะต่างจากบัฟเฟตต์ที่ลงทุนแล้วไม่ค่อยขายในขณะที่ของลินช์ นั้น  มีโอกาสที่เขาจะขายหุ้นมากกว่าเพราะแม้ว่ากิจการยังดีอยู่แต่ถ้าราคาหุ้น วิ่งขึ้นไปสูงเกินไปเขาก็อาจจะขายหุ้นเหมือนกัน
คำพูดที่เจ็ดเป็นของ บัฟเฟตต์อีกครั้งคือ  “จงพยายามกลัวเมื่อคนอื่นกำลังโลภ  และโลภเมื่อคนอื่นกำลังกลัว”  นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากในบางสถานการณ์ที่ในชีวิตการลงทุนของเราจะต้องประสบ อยู่เป็นครั้งเป็นคราวโดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดดีมากหรือยามที่เกิดวิกฤติ  การกลัวเมื่อคนอื่นโลภนั้นทำยาก  แต่มันอาจจะช่วยให้เรารอดจากหายนะได้  ในทางตรงกันข้าม  ในยามวิกฤติที่ทุกคนกลัวและถอนตัวออกจากตลาดนั้น  มันเป็นเรื่องที่ยากมากที่เราจะรู้สึกโลภ  อย่างไรก็ตาม  ถ้าเราทำได้  มันอาจจะทำให้เราได้กำไรมหาศาลได้
คำพูดที่แปดผมขออ้างถึง ลอร์ด เคน  นักเศรษฐศาสตร์ระดับตำนานของโลกและเซียนหุ้นที่  “โลกลืม”  เขากล่าวคำอมตะว่า  “ในระยะยาวแล้ว  ทุกคนก็ตายหมด”   ความหมายก็คือ  อย่ารอเวลาโดยอ้างว่าเป็นเรื่องระยะยาว  ถ้าจะมีผลมันก็ต้องเห็นในเวลาอันสั้น  ถ้าจะประยุกต์ใช้กับการลงทุนก็คือ  ถ้าคุณลงทุนมาหลายปียังไม่เห็นมรรคผล  โอกาสก็คือ  วิธีหรือกลยุทธ์ที่ใช้คงผิดพลาด  ต้องเปลี่ยนแปลง  อย่าคิดว่าต่อไปมันจะดีโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ
สุดท้ายผมขออ้างหลักธรรม ที่คนไทยทุกคนรู้จักดีแต่อาจจะไม่ตระหนักว่ามันเกี่ยวข้องกับการลงทุนนั่นก็ คือ  คำพูดที่ว่า  “อนิจจัง ทุกขัง  อนัตตา”  ซึ่งแปลว่า  ความไม่เที่ยงแท้  ความทุกข์  และความไม่มีตัวตน  นั่นก็คือ  การลงทุนนั้นมีความเสี่ยงสูงไม่แน่นอนและมันอาจจะก่อให้เกิดความทุกข์ได้แสน สาหัส  ดังนั้น  อย่ายึดมั่นถือมั่นกับมัน  ปล่อยวางเสียและเตือนตัวเสมอว่า  สิ่งต่าง ๆ มันไม่เที่ยง  อย่าประมาทเวลาลงทุน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘