ทฤษฎีเล่นหุ้นของนักลงทุน

ผมเรียนจบปริญญาเอกทางด้านการเงินในสาขาการลงทุน  และได้เรียนรู้เกี่ยวกับทฤษฎีการเงินต่าง ๆ  มากมาย  ทฤษฎีเหล่านั้น  แน่นอน  ก่อนที่จะเป็นที่ยอมรับต้องได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริงโดยใช้ตัวเลขทาง สถิติ  แต่พอมาเป็นนักปฏิบัติ  เป็นนักลงทุนจริง ๆ   ผมก็พบว่า  ยังมีทฤษฎีอีกมากมายที่มีการพูดกันโดยที่ไม่มีการพิสูจน์  ไม่มีการใช้สถิติ  แต่เป็นเรื่องที่มาจากประสบการณ์ของคนในวงการที่พูดแล้วมีคนเห็นด้วยและ เชื่อว่าน่าจะเป็นความจริง   ผมเองเห็นว่าเป็นเรื่องน่าสนใจและอาจจะเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันจึงนำเสนอ ทฤษฎีการลงทุนซักสองเรื่องดังต่อไปนี้
ทฤษฎีแรกคือ  ทฤษฎี  “งานค็อกเทล”  ซึ่งเสนอโดย ปีเตอร์ ลินช์  ทฤษฎีนี้บอกว่าภาวะหรือดัชนีตลาดหุ้นนั้น  สามารถทำนายได้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในงานเลี้ยงแบบค็อกเทลที่ตัวเขาซึ่ง เป็นผู้บริหารกองทุนรวมจะประสบ  นั่นคือ
ในช่วงที่ 1)  ซึ่งมักจะเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นได้ตกลงมาระยะหนึ่งแล้วและไม่มีใครคาดคิดว่า มันจะขึ้นมาได้อีก   คนในงานจะไม่มีใครพูดถึงตลาดหุ้น  ที่จริงถ้าพวกเขารู้ว่าลินช์เป็น “ผู้บริหารกองทุนรวม”  พวกเขาก็จะพยักหน้าอย่างสุภาพแล้วก็จะรีบเดินจากไป  หรือไม่อย่างนั้นก็จะเปลี่ยนเรื่องอย่างรวดเร็วไปเป็นเรื่องการแข่งฟุตบอล หรือเรื่องการเลือกตั้งที่กำลังมาถึง  ในไม่ช้าก็จะหันไปคุยกับหมอฟันเรื่องฟันผุมากกว่า  ถ้าลินช์เจอสถานการณ์แบบนี้  ที่คนยินดีที่จะพูดกับหมอฟันมากกว่าผู้จัดการกองทุน  เขาบอกว่าเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นกำลังจะขึ้นแล้ว  เตรียมเก็บหุ้นได้
ช่วงที่ 2)  เมื่อลินช์แนะนำตัวว่าทำมาหากินอะไรแล้ว  คนหน้าใหม่จะอ้อยอิ่งอยู่กับเขานานขึ้นเล็กน้อย บางทีอาจจะนานพอที่จะพูดกับเขาว่าหุ้นนั้นมีความเสี่ยงแค่ไหนก่อนที่จะย้าย ไปพูดคุยกับหมอฟัน  อย่างไรก็ตาม  คนก็ยังอยากพูดคุยกับหมอฟันมากกว่า “เซียนหุ้น”  ขณะนั้นหุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้นมาแล้วจากช่วงที่หนึ่งประมาณ 15%  แต่คนก็ยังไม่ค่อยใส่ใจ  ช่วงนี้หุ้นก็น่าจะยังดีอยู่
ช่วงที่ 3)  ขณะนี้ดัชนีหุ้นอาจจะปรับตัวขึ้นไป 30%  แล้วจากช่วงที่หนึ่ง   กลุ่มคนที่สนใจจะเลิกสนใจหมอฟันและหันมาล้อม ปีเตอร์ ลินช์  คนแล้วคนเล่าจะพยายามดึงเขาออกมาอยู่ข้าง ๆ  ห้องเพื่อที่จะคุยกับเขาเกี่ยวกับหุ้น   แม้แต่หมอฟันก็ยังถามเขาว่าควรจะซื้อหุ้นตัวไหน  ทุกคนในงานดูเหมือนจะได้ใช้เงินซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งไปแล้วและต่างก็สนทนา กันว่าเกิดอะไรขึ้น
ช่วงที่ 4)  นี่ก็เป็นอีกครั้งที่ ปีเตอร์ ลินช์ จะถูกแขกในงานห้อมล้อม  แต่ครั้งนี้จะเป็นคนอื่นที่จะบอกกับลินช์ว่าหุ้นตัวไหนที่เขาควรซื้อ  แม้แต่หมอฟันก็ยังมี “หุ้นเด็ด”  ให้เขา 3-4 ตัว  และในเวลา 2-3 วันต่อมาเมื่อเขาเปิดหนังสือพิมพ์ดูก็พบว่าหุ้นที่แนะนำทุกตัวนั้นขึ้นกัน หมด  ลินช์บอกว่าเมื่อเพื่อนบ้านหรือคนในงานเลี้ยงบอกว่าควรจะซื้อหุ้นตัวไหนและ เขาหวังว่าตนเองจะได้เชื่อคำแนะนำนั้น  มันก็เป็นสัญญาณที่แน่ชัดว่า  ตลาดหุ้นได้ขึ้นไปถึงยอดดอยและพร้อมที่จะตกแล้ว  รีบขายหุ้นเสียถ้าคุณเป็นนักเล่นหุ้น
ถ้าถามว่าสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยเราในช่วงนี้เป็นอย่างไร?   ผมวิเคราะห์โดยใช้ประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะที่เป็นคนที่อยู่ในแวดวงการลงทุน มานานและมักได้สัมผัสกับนักลงทุนเป็นจำนวนมาก   ผมคิดว่าตลาดหุ้นไทยกำลังอยู่ในช่วงที่สามช่วงท้าย ๆ    นั่นก็คือ  มีคนสนใจและถามเรื่องตลาดหุ้นและตัวหุ้นกับผมเป็นจำนวนมาก  บางคนก็เริ่มแนะนำหุ้นให้ผมและผมพบว่าหุ้นเหล่านั้นปรับตัวขึ้นเร็วมากและผม เสียดายที่ไม่ได้ซื้อไว้  ซึ่งนี่เป็นสัญญาณของช่วงที่สี่  อย่างไรก็ตาม  คนที่แนะนำผมนั้น  ยังไม่ใช่  “หมอฟัน”  หรือคนที่เป็นมือใหม่อย่างในทฤษฎีของ ปีเตอร์ ลินช์
ทฤษฎีที่สองผมขอเรียกว่า ทฤษฎี  “ปลาใหญ่-ปลาเล็ก”  นี่เป็นทฤษฎีของใครผมไม่ค่อยแน่ใจ  แต่ถ้าจำไม่ผิด คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม  อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเคยพูดไว้  เขาพูดว่าการเล่นหุ้นในตลาดนั้น  บางทีก็เหมือนกับการหากินของฝูงปลา  ที่มักไปกันเป็นฝูง  นั่นคือ  ปลาตัวใหญ่จะว่ายนำ  ส่วนปลาตัวเล็กจะว่ายตาม  ในยามที่อาหารอุดมสมบูรณ์  ปลาทุกตัวต่างก็อิ่มหมีพีมันกันหมด  แต่เมื่ออาหารร่อยหรอไปจนหมด  สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ  ปลาใหญ่ก็จะหันกลับมากินปลาเล็กเป็นอาหารแทน
เปรียบไปก็เหมือนกับการเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์  “ขาใหญ่”  หรือนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดนั้น   ในยามที่ภาวะตลาดดี  พวกเขาก็มักจะเป็นผู้ “ซื้อนำ”  ในหุ้นบางตัวที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการเก็งกำไร  เช่น  กำลังมีผลประกอบการที่ดีเยี่ยม  มีข่าวน่าตื่นเต้น  และเป็นหุ้นที่มีขนาดเล็กหรือไม่ใหญ่เกินไป เป็นต้น   การซื้อนำพร้อม ๆ  กับการกระจายข่าวออกไปในตลาดนั้น  ทำให้นักเล่นหุ้นรายย่อยจำนวนมากแห่ซื้อตาม  ผลก็คือ  ราคาหุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้นไปอย่างโดดเด่น  คนที่เข้ามาลงทุนเกือบทุกคนต่างก็ “อิ่ม” หรือได้กำไรกันหมด  ทุกคนมีความสุข   อย่างไรก็ตาม  พอถึงจุดที่ตลาดตกต่ำหรือหุ้นที่ถูกนำมาเล่นตกลงมาอย่างแรงเนื่องจากเหตุผล อะไรก็ตาม   รายย่อยต่างก็ขาดทุนกันจำนวนมาก  แต่รายใหญ่ซึ่งเป็นคนซื้อนำนั้น  มักจะขายหุ้นทำกำไรไปก่อนแล้ว  นี่เท่ากับว่า  ในท้ายที่สุด  นักลงทุนรายใหญ่ก็ “กิน” นักลงทุนรายย่อยหลาย ๆ  คนที่  “หนี” หรือขายหุ้นไม่ทันก่อนที่มันจะตกลงมา
ถ้าถามว่าผมเชื่อในทฤษฎีทั้งสองหรือไม่?  คำตอบก็คือ  ผมคิดว่ามันมีส่วนที่เป็นจริงอยู่พอสมควรทีเดียว  แต่ถ้าถามว่าผมจะมีปฏิกริยาอย่างไร?  คำตอบสำหรับทฤษฎีของ ปีเตอร์ ลินช์  ก็เช่นเดียวกับความคิดของตัว ปีเตอร์ ลินช์  เอง  นั่นก็คือ  ผมไม่สนใจเรื่องภาวะตลาดหุ้น  ผมคิดว่าหากหุ้นที่ผมถือนั้นเป็นกิจการที่ดีเยี่ยม  มันก็มักดูแลตัวมันเองได้ไม่ว่าในภาวะตลาดไหน  ส่วนในทฤษฎีที่สองนั้น   ผมก็ต้องสร้าง  “วินัย”  ให้กับตัวเองว่า  เราจะไม่เป็น “ปลาเล็ก”  จริงอยู่  เราอาจจะ “อิ่มท้อง” หรือทำกำไรได้ง่าย ๆ  จากการ “หากิน”  หรือซื้อหุ้นตาม  “ปลาใหญ่” หรือรายใหญ่ที่กำลัง  “โปรโมต” หุ้น  เพราะผมคิดว่าการทำแบบนี้มีความเสี่ยงพอสมควร  และถ้ามันเกิดขึ้น  คุณก็จะกลายเป็น  “อาหาร”  นั่นก็คือ  เสียหายหนักจากการลงทุนได้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘