ร่วมพลังสร้างมูลค่า

การลงทุนในตลาดหุ้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยการใช้ข้อมูล

            คำถามคือ จะเลือกใช้ข้อมูลอะไร เพราะข้อมูลที่มีอยู่ มีมากเหลือเกิน คนส่วนใหญ่จะเลือกใช้ข้อมูลเกี่ยวกับราคา ด้วยเหตุผลว่าเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด และใกล้ตัวมากที่สุด

                เห็นหุ้น ตัวไหน มีคนบอกว่าดี ก็สั่งให้โบรกเกอร์ซื้อ (ไว้ 10,000 หุ้น) แล้วก็มานั่งลุ้นให้ราคาวิ่งสูงขึ้นไป ซื้อมา 10 บาท ก็ภาวนาให้หุ้นขึ้นไป 11 บาท หรือยิ่งมากยิ่งดี

                คราวนี้  คุณหมีเข้ามา เยือนตลาดหุ้น หุ้นตัวที่ซื้อมา 10 บาท ตกไปเหลือ 8 บาท ก็ได้แต่กลุ้มใจ

ไม่ทราบจะทำอย่างไรดี จะถือต่อก็กลัวจะตกลึกลงไปอีก

                ครั้นจะตัดใจขายทิ้ง ก็ขาดทุนทันที 2 บาทต่อหุ้น ทั้งกลัวและเสียดาย เศร้าใจจนน้ำตาตกใน นึกโทษตัวเองว่า ไม่น่าเลย  อยู่ดีไม่ว่าดี

                แต่แล้ว ก็เหมือนพระมาโปรด คุณกระทิงเข้ามาขวิดคุณหมีกระเจิง หุ้นที่ซื้อมาพุ่งขึ้นพรวดพราดปั้บเดียวไปถึง 12 บาท ดีใจรีบขายหมดพอร์ต ได้กำไรถึง 20,000 บาทหรือ 20%

            ดีใจ เที่ยวคุยให้เพื่อนฝูงฟัง แต่แล้วก็ต้องช็อค เพราะเจ้าหุ้นตัวดี ไม่ยอมหยุดอยู่ที่ 12 บาท

คุณกระทิงพาไป 15

                ผ่านไป 1 อาทิตย์ หุ้นเจ้ากรรมโดดสูงถึง 20 บาท

                โอ๊ย  เจ็บ ใจจริงๆ ขายหมูไปโดยไม่รู้ตัว

                ครับ เรื่องแบบนี้ มีให้เห็นบ่อยในตลาดหุ้น

                ที่ผมอยากจะบอกก็คือ ราคาหุ้นขึ้นอยู่กับแรงต่อสู้ 2 แรง คือ แรง ซื้อ  กับ  แรงขาย
                แรง ซื้อมาก ราคาหุ้นก็จะวิ่งขึ้นสูง
                แรงขายมาก  ราคาหุ้นก็จะวิ่งลง
                ทั้งแรง ซื้อและแรงขาย มาจากความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้น
                ถ้ารู้สึกดี  เช่น การเมืองนิ่ง เศรษฐกิจมีแนวโน้มดี อัตราดอกเบี้ยเริ่มลดลง ราคาน้ำมันเริ่มปรับลง

ต่างชาติเริ่มเข้ามาซื้อเก็บ ฯลฯ คนก็จะหันมาซื้อหุ้น ส่งให้แรงซื้อมีกำลัง หุ้นก็ขึ้น
                ถ้ารู้สึกไม่ดี  เช่น การเมืองปั่นป่วน เศรษฐกิจกำลังถดถอย อัตราดอกเบี้ยเริ่มสูงขึ้น ราคาน้ำมันแพงขึ้นเรื่อยๆ ต่างชาติเริ่มขายทิ้ง ฯลฯ คนก็จะหนีจากหุ้น แรงขายจะมีมาก หุ้นก็ลง
                สาเหตุพวกนี้เป็นเรื่องที่ควบคุมยาก เกินกำลังของนักลงทุน
                แต่มีสาเหตุหลักอีกเรื่อง ที่มีผลต่อราคาหุ้น และนักลงทุนพอจะทำอะไรได้บ้าง ด้วยการเข้ามาเป็นหนึ่งในสามพลัง ของกระบวนการสร้างมูลค่าหุ้น
                กระบวนการ สร้างมูลค่าหุ้น เกิดจากการมีผลประกอบการที่ดี ส่งผลให้มูลค่าหุ้นสูงขึ้น และสุดท้ายราคาหุ้นก็จะดีขึ้นตามไปเอง
                คำถามที่ จะตามมาคือ สามพลังหมายถึงอะไร?
                คำตอบของ สามพลัง คือ


                1. พลังการบริหารของ CEO

                2. พลังการกำกับดูแลของคณะกรรมการ

                3. พลังของเจ้าของกิจการของผู้ถือหุ้น


นักลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้น มีโอกาสใช้พลังของการเป็นเจ้าของกิจการ ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการเข้าประชุมผู้ถือหุ้น โดยต้องทำการบ้าน ศึกษาข้อมูล แล้วไปตั้งคำถามหรือให้ข้อคิดเห็นต่อคณะกรรมการ
                ถ้านักลงทุนขยันศึกษา  ขยันติดตาม คณะกรรมการก็จะใช้พลังกำกับดูแล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะทุกๆปีต้องมาพบปะชี้แจงกับผู้ถือหุ้น จึงต้องคอยดูแลกำกับ CEO ให้บริหารงานอย่างมีคุณภาพ
                ที่สำคัญ คือ การกำกับดูแลที่ดี ทำให้คณะกรรมการต้องทำหน้าที่ประเมินสำคัญ 2 อย่าง คือ ประเมินผลการทำงานของตนเอง และ  ประเมินผลการทำงานของ CEO 
            การคอยดูแลและ ประเมินตนเองเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะคณะกรรมการต้องพยายามปรับปรุงตนเอง ให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา
                ส่วน CEO ก็อยู่เฉยๆไม่ได้ เพราะมีคณะกรรมการคอยทำหน้าที่ประเมินผล เป็นเหมือนกระจกคอยสะท้อนภาพ ให้ CEO รู้อยู่เสมอว่า ตอนนี้ทำได้ดีแค่ไหน
                ด้วยกรรมวิธีนี้ ผลงานของCEO ก็ต้องดีขึ้น อย่างแน่นอน แม้บางครั้งจะเจออุปสรรค ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจ ก็ย่อมหาทางออกร่วมกับคณะกรรมการได้
                เมื่อเป็นเช่นนี้ ราคาหุ้นก็ต้องวิ่งสูงขึ้นในระยะยาว เพราะกระบวนการสร้างมูลค่าได้มีการทำงานของแรงสามประสาน
                ซื้อหุ้นแล้ว นักลงทุนจะนั่งเฉยๆ หรือเข้าไปมีบทบาท ในการร่วมสร้างมูลค่า เพื่อให้หุ้นมีราคาสูงขึ้น
                ขึ้นอยู่กับนักลงทุนครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘