ตอนที่ 8 ช่วงสุข และทุกข

วิธีการเอาตัวรอดในช่วงที่ต้องเผชิญกับ "วิกฤตการณ์" ในตลาดหุ้น ทางเดียวที่จะทำให้เรา "รอด" คือ การตัดนิ้ว (Cut Loss) ยอมขาดทุนรักษาชีวิต หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นช่วงที่ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ ยกให้เป็นช่วงชีวิตที่เลวร้ายที่สุดของนักเล่นหุ้น นับจากดัชนี SET ทำจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2537 ที่ระดับความสูง 1,789 จุด จากนั้นก็ค่อยๆหล่นลงมาทำจุดต่ำสุด 207 จุดเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2541 เสี่ยยักษ์บอกว่า ใครที่รอดตายช่วงนี้มาได้ แล้วพอร์ตยังโตขึ้น ต้องยกให้ว่าเป็น "ยอดฝีมือ" ทุกคน วิชัยก็เป็นหนึ่งในกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ที่ "รอด" ช่วงนี้มาได้ แต่ก็รอดแบบเฉียดตาย และสูญเสียไม่ใช่น้อย "ช่วงนั้นพอร์ตหุ้นของผมหายไปครึ่งหนึ่ง" เขาบอก วิธีการเอาตัวรอดในช่วงที่ต้องเผชิญกับ "วิกฤตการณ์" ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด เขาย้อนเล่าประสบการณ์ครั้งนั้นว่า ทางเดียวที่จะทำให้เรา "รอด" คือ การตัดนิ้ว (Cut Loss) ยอมขาดทุนรักษาชีวิต "เริ่มตัดไปทีละนิ้ว ตัดไปเรื่อยๆเหมือนนิทานตะพาบน้ำ ที่ผมเคยเล่าให้ฟังไง! มันเจ็บปวดที่สุด แต่คุณไม่มีทางเลือก..ถ้าอยากรอดคุณต้องรีบทำ" เขาสะท้อนช่วงวิกฤติครั้งนั้นให้ฟัง...จากตัดนิ้วก็ต้องตัดแขน พอดัชนีลงมาเหลือ 220 จุด ผมจำได้ว่าหายไปครึ่งตัว "พอร์ตเหลือครึ่งเดียว" อารมณ์ช่วงนั้นมันเศร้าที่สุด เมื่อถามว่าช่วงไหนที่เสี่ยยักษ์ มีความสุขมากที่สุด? "...ช่วงที่หาเงินได้ 100% ของพอร์ต โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นเล่นหุ้นใหม่ๆ ถ้าพอร์ตคุณเพิ่มได้ 1 เท่าตัว..มันยากจริงๆ แต่คุณจะรู้สึกภูมิใจ... ผมยังจำได้ ตอนที่เล่นหุ้นใหม่ๆ เครดิตเราก็ไม่มี ไม่มีใครอยากมองเรา เพราะว่าพอร์ตเราเล็ก เราจะไปคุยกับรายใหญ่ เขาก็กลัวว่าเราจะไปเกาะเขา ช่วงนั้นสำหรับผมมันยากที่สุด และน่าจดจำที่สุด" เขาเล่าว่าวิธีการเล่นหุ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว การเล่นหุ้นไม่ใช่แบบนี้ ใครไปซื้อหุ้นพื้นฐานไม่ได้กำไร สมัยก่อน "หุ้นปั่นครองเมือง" (ยิ่งกว่านี้อีก) ประมาณปี 2535-2536 เพิ่งมีการตั้งกองทุนรวม(บลจ.)ใหม่ๆ กองทุนยังเล่นหุ้นไม่เก่ง ต่างชาติก็ยังไม่มากอย่างทุกวันนี้ มีแต่ "นักลงทุนรายใหญ่" "เจ้าของหุ้น" กับ "รายย่อย" ที่เล่นกัน ใครเล่นหุ้นพื้นฐานไม่ได้กำไร
...คำว่า "ปั่น" มันแปลว่า "หมุน" จึงไม่ใช่ของจริง ต้องเข้า-ออกเร็ว เมื่อไรที่หุ้น "หมุนช้า" หรือ "หยุดหมุน" ใครออกไม่ทันก็ "เจ๊ง" นี่คือ สัจธรรมของหุ้นปั่น ประสบการณ์ยังสอนวิชัยว่า ใครที่เล่นหุ้นปั่นแล้วไม่ยอมเลิก ได้มาเท่าไรก็ต้องคืนกลับไปหมด เพราะธรรมชาติของหุ้นปั่น เหมือนการ "ตีฟอง" หมดรอบเมื่อไหร่ ราคาก็หมด คือไม่เหลือค่าอะไร เขาย้ำว่า..คนที่เล่นหุ้นปั่นแล้วรอดมาได้ ไม่ใช่ว่าเราเก่ง(ถ้าไม่ใช่พวกเขา)เพราะพวกนั้นเขาตั้งใจเอา "ปืนแก๊ป" มาดวลกับเรา เขาหลอกล่อให้เราได้กำไรก่อน..แต่ถ้าวันไหนมันเอา "แห" มาครอบเรา หมายถึง ทุบหุ้นออกมาทุกราคา วันนั้น..คุณโดน(เจ๊ง)แน่
แต่พอผ่านมาอีก 10 ปี หลังยุควิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 กองทุน(บลจ.)เริ่มมีประสบการณ์ เริ่มเก่ง เพราะเหตุว่า หนึ่ง..เขาใกล้ชิดข้อมูล เขาศึกษาข้อผิดพลาดมาเยอะ สอง..วิธีการเขาเปลี่ยน เล่นสั้นได้ เล่นยาวได้ การบริหารพอร์ตของเขาจะยืดหยุ่นตลอดเวลา พอกองทุนเริ่มเก่ง บวกกับเงินต่างชาติเข้ามามาก จากหุ้นเก็งกำไรครองเมือง ก็เปลี่ยนมาเป็นหุ้นพื้นฐานครองเมือง
"...ถึง พ.ศ.นี้ ผมมองว่า ถ้าคุณไม่มี "อินไซด์" ต้องเล่นหุ้นพื้นฐานอย่างเดียวเลย ถึงจะมีโอกาสรวย" วิชัยบอกว่า นักลงทุนรายใหญ่เท่าที่สังเกต เขาจะลงทุนแบบ "โฟกัส" ในหุ้นหนักๆอยู่ไม่กี่ตัว เพราะการกระจายพอร์ตมากตัวเกินไป ถ้าไม่ใช่นักลงทุนระยะยาวจริงๆ การตัดสินใจ "ซื้อ-ขาย" จะผิดพลาดได้ง่าย "อย่างพอร์ตของผม จะถือหุ้นอยู่แค่ 1-2 ตัว" วิชัยอธิบายว่า จริงๆแล้วการเล่นหุ้น เรารู้..เราเก่งของเราแค่ตัวเดียวพอ ขออย่างเดียว หุ้นที่เราซื้อต้องตอบคำถามได้ว่า เราเล่นหุ้นตัวนี้เพราะอะไร? มันทำธุรกิจอะไร? มันจะขึ้นเพราะอะไร? เหตุผลมันคืออะไร? มันเปลี่ยนชื่อเพราะอะไร? ต้องการสร้างภาพพจน์ให้ดีขึ้นรึเปล่า "ผมขอให้คุณเก่งหุ้นแค่ทีละตัว หรืออย่างมากแค่ 3 ตัวพอ รู้ให้ลึก..รู้ให้แตกฉาน แล้วทนรอกับมันได้ คุณจะรวยมหาศาล" "...แต่ต้องเก่งจริงๆนะ ต้องรอกับมันได้ อย่าเป็นคนใจเร็วด่วนได้ เพราะคุณจะไม่ได้..นี่เรื่องจริง"
นอกจากนี้ คนที่จะเล่นหุ้นแล้วรวย คุณจะต้องหา "หุ้นในดวงใจ" ให้ได้ก่อน วันไหนที่คุณมีหุ้นในดวงใจแล้ว คุณจะเหมือน "เสี่ยปู่" สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล เขาจะนิ่ง เขาจะอดทน เขาจะ Let the Profit Run แล้วได้กำไรเยอะ ...แต่ถ้าวันไหนคนเล่นหุ้นไม่มีหุ้นในดวงใจ..คุณไม่มีทางรวย รับประกันได้ คุณไม่มีทางรวยแน่ๆ หุ้นขึ้นไป 2-3 ช่อง..เห็นเขาวางขายเป็นล้านหุ้น คุณจะใจไม่อยู่(ใจเสีย)รีบขายตาม พอหุ้นเด้งขึ้นมาใหม่ คุณก็ไม่กล้าซื้อกลับ ถ้ากล้าซื้อก็จะซื้อน้อยลง "นี่แหละ..จุดพลาดสำคัญ ที่ทำให้นักเล่นหุ้นส่วนใหญ่ ไม่ประสบความสำเร็จ" เขาวิเคราะห์ให้ฟัง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘