ตลาดหุ้น 2 มิติ

สำหรับคนภายนอก เวลาพูดถึงตลาดหุ้นคงมีไม่น้อยที่ยังคงสับสนงุนงง เพราะไม่แน่ใจว่า  มันคืออะไรกันแน่? เข้ามาแล้วจะได้ประโยชน์แน่หรือ? เพื่อให้เกิดความกระจ่าง ผมคิดว่าเราควรมองตลาดหุ้น ออกเป็น 2 มิติ ซึ่งแต่ละมิติ  แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว              

ถ้าได้เข้าใจทั้ง 2 มิติ คราวนี้จะได้วางตัวได้ถูกต้อง แล้วจะเริ่มเห็นว่า ประโยชน์ของตลาดหุ้นนั้นมีอยู่จริง สามารถเข้ามาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้ สำหรับผลในระยะยาว 2 มิติที่ว่านี้คือ

·        Market Timing
·        Fundamentals

Market Timing คือ การดูจังหวะของตลาดมิตินี้ผมเคยเชื่อว่า เป็นมิติที่ถูกต้อง เพราะดูแล้วเป็นเทคนิคที่เสมือนว่าง่าย คอยติดตามข่าวจากพรรคพวกว่าหุ้นตัวไหนจะขึ้น ก็ซื้อตาม ยิ่งตอนแรก  ซื้อ ตัวไหน  ตัวนั้นขึ้น ได้กำไรจากหุ้นมาก เลยยิ่งมั่นใจว่า  ใช่เลย              

เคยสมัครเข้าไปเรียน วิเคราะห์ทางเทคนิค เพื่อพยายามศึกษาถึงรูปแบบต่างๆของราคากับวอลุ่มเรียนไปเรียนมาจนสับสน เพราะการตีความต้องใช้ความพยายามสูงมาก ครั้นพอตลาดหุ้นเจอวิกฤติหุ้นทุกตัวร่วงติดฟลอร์ แบบไม่มีใคร bid ซื้อ มีแต่คน offer ขาย ผลคือขาดทุนอย่างมโหฬาร             

ความจริงแล้ว การติดตามดูภาวะตลาดหุ้น เป็นเรื่องที่พอประยุกต์ใช้ได้ ถ้าได้รู้จักปัจจัยพื้นฐานของหุ้นที่ลงทุนอย่างดีก่อน ที่น่าห่วงอย่างยิ่ง แม้แต่เดี๋ยวนี้ก็ตาม ยังมีผู้ที่ชอบทำตัวเป็นนักเล่นหุ้น ขอย้ำนะครับว่า นักเล่นหุ้น ไม่ใช่นักลงทุน เมื่อสมัครใจเป็นแต่ผู้เล่นหุ้น จึงไม่สนใจทำการบ้านเหมือนนักลงทุน ซื้อหุ้นโดยโลภ  เพราะมีคน บอกว่าราคาจะขึ้น โดยไม่เคยสนใจเลยว่า หุ้นที่ซื้อมา ทำธุรกิจอะไรกันแน่!เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมักกลายเป็นแมงเม่ารุ่นแล้วรุ่นเล่า ที่ถูกแมงมุมจับกินอย่างไม่รู้จักหมดสิ้น เมื่อหมดตัว ก็หันมามองตลาดหุ้นในแง่ร้าย เห็นว่าเป็นแหล่งการพนัน คนที่ไม่เคยเข้ามา ฟังแล้ว ก็ต้องกลัวเป็นธรรมดา              

มิติด้าน Market Timing นี้ มักจะเชื่อถือข่าวลือเป็นสรณะ ชอบตามแห่  ใครว่าตัวไหนดีก็ เฮโลซื้อ ตัวไหนไม่ดี ก็เฮโลขาย ที่สำคัญ คือ นักเล่นหุ้นจะเน้นเข้ามาเพื่อค้าหุ้น ได้กำไรก็ขายหมด หรือ ขาดทุนก็ตกใจรีบขายทิ้ง ไม่มีความสนใจจะเข้ามาซื้อเพื่อถือแบบระยะยาวเลย นี่เอง  ที่ ทำให้คนภายนอก มองว่าตลาดหุ้นไม่เคยทำให้ใครรวย เพราะได้ยินได้ฟังแต่คนที่เจ็บปวด หมดตัวเพราะเข้ามาเล่นหุ้น เลยเกิดความขยาดไม่กล้าเข้ามาในถ้ำเสือ              

ครั้น บางคน  อยากทดลองเข้ามาบ้าง ก็ไม่ทราบจะเริ่มต้นอย่างไร ลองแวะไปห้องค้าหุ้น เห็นมีแต่คนดูจอภาพ ซึ่งมีแต่ chart สีต่างๆเต็มไปหมด ดูเท่าไรก็ไม่เข้าใจ เลยท้อ ความจริงเรื่อง chart นั้น มีคนเก่งๆที่ดูแล้วตีความออก ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ขอย้ำว่าต้องเก่งจริงๆเท่านั้น (ผมเป็นคนหนึ่งที่ยอมแพ้)         
     
ส่วนอีก มิติหนึ่ง คือ Fundamental จะเน้นการวิเคราะห์ถึงปัจจัย พื้นฐานของหุ้น มิตินี้จะเชื่อว่ารู้เขา  รู้ เรา รบร้อยครั้ง  ชนะร้อยครั้ง              

ใน ตลาดหุ้น ไม่ต้องถึงร้อยครั้งหรอกครับ ได้สักหกสิบเจ็ดสิบก็ดีถมไปแล้ว              

ที่ ว่ารู้เขา ไม่ใช่เน้นรู้เขาเรื่องราคาหุ้น ว่าจะถูกปัจจัยภายนอกอะไรมากระทบบ้าง แต่จะเน้นในเรื่องการดูผลประกอบการเป็นหลัก พวกที่อยู่ในมิตินี้ จะมองตนเองว่าไม่ใช่นักเล่นหุ้น แต่เป็นนักลงทุน ที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการ ต้องการถือหุ้นที่มีคุณภาพดี แบบถือไว้ระยะยาว              

นัก ลงทุนที่อยู่ในมิตินี้ จะยอมทำงานหนัก ด้วยการไปเรียนรู้เทคนิคการวิเคราะห์หุ้น เพื่อให้มีความสามารถจะเลือกหุ้นที่มีคุณภาพ ด้วยตัวของตัวเอง              

ผู้ คนในมิติวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน จะมองว่าความรู้เรื่องงบการเงินเป็นของที่จำเป็นต้องรู้ และเมื่อได้เรียนรู้ก็ไม่ได้ยากเหมือนดังที่เคยคิด เหมือนคนไปอยู่ต่างประเทศ ก็ต้องเรียนรู้จนใช้ภาษาของประเทศนั้นๆได้แม้ตอนแรกๆจะยากเย็น เข็ญใจ เพราะไม่ใช่ภาษาของพ่อแม่              

เช่นเดียว กันครับในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ก็มีภาษาเฉพาะที่ต้องรีบเรียนรู้ให้เข้าใจ         
    
ที นี้พอเข้าใจแล้ว จะเริ่มรู้สึกสนุกในการเลือกหุ้นจากข้อมูล เพราะตลาดหุ้นมีข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นของหุ้นทุกตัวไว้พร้อมแล้ว เปิดเวบไซต์เข้าไปดูแบบเจาะลึกได้เลย              

ใหม่ๆอาจจะ เก้ๆกังๆอยู่บ้าง แต่พอทำไปทำไป คล่องตัวขึ้น ก็จะเริ่มเลือกหุ้นคุณภาพเจ๋งๆได้มากขึ้นปะเหมาะเจอหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่ามาก ก็เท่ากับเจอขุมทอง รวยกันเพลิน มีหุ้นดีๆคอยทำงานให้ ถือๆไป หุ้นที่ซื้อไว้ก็ให้เงินปันผล ทำให้มีรายได้ที่หลั่งไหลเข้ามาปีแล้วปีเล่า เปรียบเหมือนกับมีไข่ทองคำ ตราบใดที่ยังไม่ขายห่านทิ้งไป              

อ้อ ถ้าเลือกหุ้นดีๆ โดยการใช้วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานแล้ว ถ้าจะใช้จังหวะของตลาด เพื่อคอยลดต้นทุนและสะสมจำนวนหุ้นให้มากขึ้น ตามกลยุทธ์การตกแต่งสวน ยิ่งโอเคเลยครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘