ตอนที่ 11 ปตท.หุ้น The Winner2

วิชัย วชิรพงศ์ กล่าวว่า บทเรียนที่ผ่านมามันทำให้ตนเองมีคติประจำใจว่า ถ้าจะกำไรเยอะๆ ต้องถือหุ้นยาวๆให้ได้ เมื่อรู้ว่า "เดินทางผิด" ไปทุ่มลงทุน "หุ้นปั่น" แทนที่จะเป็นหุ้น ปตท.ที่ตั้งใจเอาไว้ตั้งแต่แรก กำไรที่ได้มาจากหุ้นปั่น 100% เท่าๆ กับการขึ้นของหุ้น ปตท.จาก 35 บาทขึ้นมา 70 บาท แต่ตลอดทางที่ทำกำไรจาก "หุ้นปั่น" วิชัยกลับรู้สึกกระวนกระวายใจ ชีวิตไม่มีความสุข เพราะรู้สึกว่าตัวเองเสี่ยงทุกวัน จิตใต้สำนึกบอกว่าถ้าขืนเล่นหุ้นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะต้องมีวันพลาดท่า "เจ๊ง" ไม่วันใดก็วันหนึ่งแน่ๆ "จำได้ว่า ก่อนที่จะกลับมาเข้าหุ้น ปตท.(ครั้งที่ 2) ผมไปเข้าหุ้น HEMRAJ เกือบ 30 ล้านหุ้น วันนั้นราคาขึ้นไปทำนิวไฮที่ 2.70-2.80 บาท ลงทุนไปประมาณ 70 ล้านบาท ซื้อหุ้นตัวเดียวเต็มพอร์ต ...พอซื้อเสร็จ มันก็ขึ้นไปทำนิวไฮ พอกลับไปบ้าน ทั้งคืนนอนไม่หลับ เพราะหุ้นตัวนี้ (ตอนนั้น) พี/อี มันสูงมาก ได้แต่รำพึงกับตัวเองว่า..กูหาเรื่องแท้ๆ ไม่น่าซื้อเลย" ย้อนถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น เสี่ยยักษ์มานั่งคิดว่า โอ้โห! ทำไมเราถึงกล้ามาก รู้เลยว่าที่ผ่านมาเราตัดสินใจผิดพลาดแล้วนะ เพราะพอร์ตเราใหญ่ ลูกเรายังเล็กอยู่ ถ้าพลาดท่าเราตายแน่ เขาอธิบายคำศัพท์ของนักเล่นหุ้นที่บอกว่า "ลูกยังเล็กอยู่" ความหมายคือ ลูกเรายังเล็ก..จะพลาดไม่ได้ หมายความว่าหุ้นตัวนี้ "อันตราย" เราต้อง Cut Loss ทิ้ง เมื่อรู้ตัวว่า "ซื้อแพง" ถลำลึกกับหุ้นเก็งกำไรจนหมดตัว เช้าวันรุ่งขึ้น วิชัยจึงตัดสินใจขายหุ้น HEMRAJ ทิ้งทั้งหมด จากเดิมที่มีกำไรหลายล้านบาท กลับเป็นว่าไม่เหลือกำไรเลย แต่เขาไม่เสียใจ ...เพราะการซื้อหุ้นแล้วเราไม่สบายใจ การขายหุ้นออกไปให้หมด จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด จากนั้นวิชัยก็เอาเงินทั้งหมดประมาณ 70 ล้านบาทมาซื้อหุ้น ปตท. "ตัวเดียว" โดยเข้าลงทุนประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน ปี 2546 ซึ่งขณะนั้นราคาหุ้นได้แอบขึ้นจาก 35 บาท ไป 70 บาทแล้ว สาเหตุอะไรที่ทำให้วิชัยฉุกคิดได้ว่าต้องทิ้งหุ้น HEMRAJ แล้วมาซื้อหุ้น ปตท.?
เหตุผลอยู่ที่ความเชื่อมั่นใน "ผลประกอบการ" ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และเป็นการเติบโตมาจากฐานที่ต่ำ หุ้น ปตท.ในขณะนั้นจึงเป็น Super Growth Company หมายความว่า หุ้นจะมี "อัตราเร่ง" ของราคาที่มากกว่าภาวะปกติ อีกมิติทางการเมือง..รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้น ก็มีความเข้มแข็งถึงขีดสุด อีกทั้งมีนโยบายเกื้อหนุนให้ ปตท.เติบโตอย่างชัดเจน ช่วงที่ ปตท.ประกาศผลการดำนินงานปี 2545 (ปีแรกที่เข้าตลาดหุ้น) มีกำไรสุทธิ 24,506 ล้านบาท พอปี 2546 กำไรเพิ่มขึ้นเป็น 39,400 ล้านบาท พอปี 2547 กำไรก้าวกระโดดเป็น 62,666 ล้านบาท "5 ปีย้อนหลัง ในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (2545-2549) หุ้น ปตท.มันขึ้นมาตลอด" วิชัยยังจำได้อีกว่า ช่วงที่ราคาหุ้น ปตท.ขยับขึ้นจาก 35 บาทมาถึง 70 บาท จากนั้นก็ประกาศงบการเงินงวดครึ่งปี 2546 กำไรออกมาดีมาก 17,623 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 6.30 บาท ถ้าจำไม่ผิด พี/อี แค่ 5 เท่านิดๆ เท่านั้นเอง (ทั้งปีกำไรต่อหุ้น 14.09 บาท) "ช่วงที่หุ้น ปตท.ขึ้นมาถึง 70 บาท ดัชนี SET ขยับขึ้นมาจาก 340 จุด ขึ้นมาเกือบๆ 500 จุด ผมเข้าไปซื้อหุ้น ปตท.แถวๆนี้ ช่วงประกาศงบการเงินงวดครึ่งปี 2546" ระหว่างที่เข้าไปซื้อหุ้น ปตท. วิชัยถือที่ต้นทุน 70 บาท เกมเขย่าราคาก็เกิดขึ้นอีกครั้ง รายใหญ่ใช้วิธี "โยนหุ้น" ในกรอบราคา 69-75 บาท ย่ำฐานอยู่แถวนี้ ทำให้คนที่ซื้อเยอะๆ รู้สึกอึดอัด ถ้าใครทนไม่ไหวก็ต้อง "คายหุ้น" กลับคืนไป "มันบี้ผมช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2546 ผมก็ทนถือเอาไว้ เพราะรู้ว่ามันต้องประกาศงบทั้งปีออกมาดีแน่ๆ ขณะที่หุ้นปั่นตัวอื่นๆตกกันหมด ถ้าใครใจไม่อยู่ก็ต้องคืนของเขาไป..แต่ผมปักหลักสู้" ช่วงที่ตลาดหุ้นถูกเขย่าไปพร้อมๆกับหุ้น ปตท. วิชัยบอกว่า ช่วงนั้นดัชนี SET ขึ้นไป 500 ต้นๆ แล้วก็ถูกทุบลงมา กราฟตอนนั้นมีคน "เจ๊งหุ้น" (ปั่น) เยอะมาก ใครที่เล่นหุ้นปั่นตายหมด ตรงกันข้ามกับหุ้น ปตท.ที่ยืนกับขึ้น การที่หุ้น ปตท. "ยืน" กับ "ขึ้น" ในภาวะขาลง เขารู้ทันทีว่า การตัดสินใจเปลี่ยนจากหุ้นเก็งกำไรมาซื้อ ปตท. เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง มิฉะนั้นก็คงจะไม่มีชื่อ "วิชัย วชิรพงศ์" อย่างทุกวันนี้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘