ตอนที่ 11 ปตท.หุ้น The Winner1

เส้นทางการเติบโต..พอร์ตหุ้นของวิชัย วชิรพงศ์ ไม่ได้เกิดขึ้นแบบรวดเร็ว เขาเพียรพยายามนำกำไรมาลงทุนต่อ (Reinvestment) โดยไม่เด็ดยอดความสำเร็จ เอาไปซื้อหาความสุข ก่อนถึงเวลาอันควร นานนับสิบปีพอร์ตของวิชัยก็เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆอย่างน่าอัศจรรย์ เขาไม่ใช่ "พ่อมด" ที่เสกเงินได้เอง แต่เขาเชื่อในหลักการของ "พลังแห่งการทบต้นของเงิน" วิชัยเชื่อว่า พอร์ตหุ้นของนักลงทุนที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ในระหว่างทางคุณจำเป็นต้องเจอหุ้น "แจ๊คพอต" (หุ้นในดวงใจ) ที่ทำกำไรครั้งละมากๆ ต้องมีผ่านเข้ามาเป็นระยะ พอร์ตจึงจะเติบโตได้ "...การเล่นหุ้นเพื่อหวังกำไร 3-5% เป็นการลงทุนที่มีโอกาส "ร่ำรวย" ได้ยาก!!! เพราะการตัดสินใจ(ซื้อ-ขาย)บ่อย โอกาสผิดพลาดจะมีสูง" กูรูหุ้นรายนี้ แนะนำว่า ระหว่างที่ "จังหวะ" และ "โอกาส" ยังมาไม่ถึง นักลงทุนอาจจะแบ่งเงินลงทุนบางส่วน มาเล่นหุ้นเก็งกำไร แต่ไม่ควรทุ่มเทเงินทั้งหมด มาเสี่ยงในสถานการณ์ที่เราไม่มั่นใจเต็มร้อย ขณะเดียวกัน..ในระหว่างที่เรากำลังจับ "ปลาเล็ก" (หุ้นเก็งกำไร) คุณต้องพยายามค้นหา "หุ้นในดวงใจ" (ของรอบ) และควรเตรียมแหอวน สำหรับการจับ "ปลาใหญ่" ไว้ให้พร้อม เขาเชื่อว่าในทุกๆปี จะมีฤดูกาล "จับปลาใหญ่" อย่างน้อย 1 คลื่นใหญ่ คุณต้องหาหุ้นที่ "แจ๊คพอตแตก" ให้เจอ และต้องกล้าที่จะ "ทุ่ม" ลงไปกับมัน สำหรับหุ้นที่เป็น "จุดหักเห" ของพอร์ตวิชัย ตัวหนึ่งก็คือ หุ้นปตท.(PTT) เขาบอกว่าหุ้นตัวนี้ทำกำไรให้มากที่สุด ประมาณ 700 ล้านบาท เสี่ยยักษ์ เล่าว่า ก่อนที่หุ้นปตท.จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ช่วงปลายปี 2544 ก่อนหน้านั้นรู้อยู่แล้วว่าหุ้นตัวนี้ต้องดีแน่ เป็นหุ้นรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดด้านพลังงานของประเทศ ทุกคนมองหุ้นตัวนี้ดีหมด "ผมจ้างคนไปเข้าคิวจองหุ้นปตท. ตั้งแต่ตี 5 ใช้ชื่อญาติพี่น้องเป็นสิบๆคน กระจายกันไปจอง จำได้ว่าคนหนึ่งจองได้ 20,000 หุ้นราคาไอพีโอ 35 บาท ก่อนหน้านั้นผมกลับไปที่จังหวัดอยุธยา ไปเขียนใบจองล่วงหน้า 2-3 วัน โดยขอออเดอร์แรกทุกสาขา ทุกธนาคารที่เปิดจอง เพราะในต่างจังหวัดไม่ค่อยมีคนนิยมเล่นหุ้น ผมก็ไปเตรียมการไว้ก่อน ...สรุปว่า ได้หุ้นมารวมกัน 7 แสนหุ้น ผมไม่มีเส้นสาย ไม่มีพวก จำนวนหุ้นขนาดนี้ถือว่าเยอะมาก ได้มา 35 ใบจอง ลงทุนไป 24.50 ล้านบาท" วิชัย จำได้ว่า ความคิดตอนนั้น จะฝากชีวิตไว้กับหุ้นปตท. นี่แหละ!! แต่ที่ไหนได้..หลังจากหุ้นปตท.เข้ามาเทรดในตลาดวันที่ 6 ธันวาคม 2544 ขึ้นไป High ที่ราคา 38.25 บาท แล้วถูกกดลงมาปิดที่ราคา 35.75 บาท "ชั้นเชิงของรายใหญ่ (พวกกองทุน) เขาจะต้องขยายหุ้นหรือเพิ่มจำนวนหุ้นในพอร์ต ก่อนลากราคาขึ้นไป พอเปิดมา 35.75 บาท เขาบี้อยู่อย่างนั้นตั้งนาน จนผมทนไม่ไหว ต้องขายออกไปที่ราคา 35.50 บาท การที่เราโฟกัสหุ้นตัวนี้ตัวเดียว เวลาที่หุ้นลง ความรู้สึกมันอึดอัดมาก"
วิชัย บอกความรู้สึกว่า รายใหญ่เขาจะจับเรา(นักลงทุน)เข้าเครื่องเขย่าหุ้น ให้คนที่ใจไม่ถึงต้องออกไป กลยุทธ์ของเขาคือ ทำให้พวกที่ใจไม่ถึงต้อง "คืนของ" หรือ "ขายคืน" ประจวบกับช่วงนั้นดัชนี SET อยู่แถว 300 จุดต้นๆ หุ้นตัวเล็กตัวน้อยขึ้นตลอด จนวิชัยทนไม่ไหว ต้องขายหุ้นปตท.ที่เป็นหุ้นในดวงใจในขณะนั้น ทิ้งไปทั้งก้อน "ช่วงนั้น ผมซื้อหุ้นปตท.เพิ่มเป็น 1 ล้านหุ้น ลงทุนไปประมาณ 35 ล้านบาท กู้เครดิตบาลานซ์ซื้อเพิ่มอีก 1 ล้านหุ้น รวมเป็น 2 ล้านหุ้น แต่ไม่สำเร็จก็ต้องออก เอาเงินไปเล่นเก็งกำไรหุ้นตัวอื่น" หลังจากนั้นดัชนี SET ก็ขยับขึ้นมาเรื่อยๆ แม้พอร์ตของวิชัยจะเพิ่มขึ้นจาก 35 ล้านบาท (ช่วงหุ้นปตท.เข้าตลาด) เพิ่มขึ้นมาเป็น 70 ล้านบาท จากการเล่นหุ้นเก็งกำไร พอร์ตหุ้นโตขึ้นมา 1 เท่าตัว แต่เขาก็รู้สึกว่าชีวิตเสี่ยงมาตลอดทาง ขณะเดียวกันหุ้นปตท. ก็ค่อยๆ แอบขึ้นมาเงียบๆ แต่ก่อนจะขึ้นใหญ่ ราคาหุ้นปตท.วิ่งในลักษณะ "ไซด์เวย์" อยู่นานเป็นปี (2545-กลางปี 2546) จากราคาจอง 35 บาท ราคาหุ้นลงไปต่ำสุด 28.75 บาท ในวันที่ 30 เมษายน 2545 แล้วไล่ขึ้นไป 38 บาทในวันที่ 12 มิถุนายน 2545 จากนั้นก็กดราคาลงมาอีกทีเหลือ 34 บาทในวันที่ 2 สิงหาคม 2545 ต่อจากนั้นราคาก็เคลื่อนตัวอยู่ในกรอบ 38 - 45 บาทนานอีกหลายเดือน จนถึงกลางเดือนเมษายน 2546 ราคาหุ้นปตท.ทะยานขึ้นไปเร็วมาก ขึ้นไป 78 บาทในวันที่ 8 กรกฎาคม 2546
วิชัย อธิบายว่า จากช่วงเดือนธันวาคม 2544 ถึงกรกฎาคม 2546 พอร์ตหุ้นของตัวเองเพิ่มขึ้นมา 1 เท่าตัวจากการเล่นหุ้นปั่น ขณะที่หุ้นปตท. ก็ขึ้นมา 1 เท่าตัวเหมือนกัน "ถ้ามองย้อนกลับไป มันก็ดีที่คุณมีเงิน 35 ล้านบาทเพิ่มเป็น 70 ล้านบาท แต่ผมฉุกคิดได้ว่า เวลาที่เราเล่นหุ้นปั่นกำไร 100% ก็จริง แต่มันเสี่ยงตลอดทาง เข้าถูกตัวบ้าง เข้าผิดบ้าง ที่บอกว่ามันเสี่ยงก็เพราะว่าหุ้นหลายตัวที่เล่น พี/อี 30-40 เท่า แล้วบางตัวขาดทุน เพราะหุ้นปั่นส่วนใหญ่ปัจจัยพื้นฐานไม่ดี ยิ่งถือนานยิ่งเสี่ยง" ช่วงปี 2545 ในก๊วนตีกอล์ฟ วิชัยยังจำได้ว่า เคยบอกให้เพื่อนๆ เก็บหุ้นปตท. เดี๋ยวมีรถเฟอร์รารี่ขับ "เชื่อผมซิ!" แต่ไม่มีใครซื้อ เพราะมันไม่สนุก เขาไปเล่นหุ้นปั่นกันหมด "...ช่วงที่หุ้นปตท.อยู่แถวๆ 35 บาท ผมเชียร์ให้ทุกคนซื้อเก็บยาวเลย แล้วไม่ต้องมอง เพราะผมมองว่ารายใหญ่ รายย่อย มีต้นทุนเท่ากัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ แต่ผมดันทนไม่ไหวเอง ขายหุ้นทิ้งออกไปก่อน" เสี่ยยักษ์ กล่าวถึง การตัดสินใจที่ผิดพลาดในครั้งนั้น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘