ลดความเสี่ยงแบบ VI

การลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับการลงทุนในพันธบัตร หรือกองทุนต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย เราควรจะต้องลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยลงเท่าที่จะทำได้ แต่ในขณะเดียวกัน ยังได้ผลตอบแทนที่ดีมาก พูดง่าย ๆ ลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงแต่ความเสี่ยงต่ำ และต่อไปนี้คือเกณฑ์หรือกลยุทธง่าย ๆ ที่จะทำให้เราได้ผลลัพธ์แบบนั้น

ข้อ 1) รู้ว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ นี่เป็นหลักสำคัญ เพราะความเสี่ยงก็คือการที่คุณ “ไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่” หรือเข้าใจผิดว่ารู้แต่จริง ๆ แล้วไม่รู้ เช่น คิดว่าการลงทุนในหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ที่ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์เช่นปิโตรเคมี นั้น “ไม่เสี่ยง”

ข้อ 2) กระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ไม่ถือหุ้นจำนวนน้อยหรือมากตัวเกินไป จำนวนที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนที่มีเงินลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาทนั้น ผมคิดว่าไม่ควรถือหุ้นเกิน 5-10 ตัว การถือหุ้นจำนวนน้อยตัวเช่น 1-2 ตัวนั้นเป็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดการผิดพลาดร้ายแรงได้ เช่นเดียวกัน การถือหุ้นมากตัวเกินไปก็มีความเสี่ยงในแง่ที่ว่าเราไม่สามารถเข้าใจหรือ ติดตามมันได้ดีพอซึ่งก็คือความเสี่ยงที่เกิดจากการ “ไม่รู้”

ข้อ 3) พยายาม “มองยาว” คือวิเคราะห์ไปในอนาคต 3-5 ปี และวางแผนว่าจะลงทุนยาวตามกันไป การมองยาวนั้นช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน เพราะในระยะยาวราคาหุ้นจะปรับตัวไปตามกำไรของบริษัทเสมอ และถ้าเรามั่นใจในกำไรระยะยาวของบริษัท เราก็จะไม่ค่อยเสี่ยง ตรงกันข้าม ในระยะสั้น หุ้นมักจะผันผวนไปตามภาวะตลาดและการเงินซึ่งคาดการณ์ยาก ดังนั้น การเล่นสั้นจึงมีความเสี่ยงสูงกว่า

ข้อ 4) เลือกบริษัทที่มีผลการดำเนินงานสม่ำเสมอทั้งยอดขายและกำไร กิจการเหล่านี้มักจะ “คาดการณ์ได้ง่าย” และไม่ค่อยผิดพลาดมากนัก ดังนั้น จึงมักจะสามารถทนทานต่อความผันผวนของภาวะแวดล้อมได้มากกว่าหุ้นของบริษัทที่ มีผลการดำเนินงานที่ไม่แน่นอน

ข้อ 5) เลือกบริษัทที่มีเงินสดมากและมีหนี้เงินกู้น้อยหรือไม่มีเลย กิจการพวกนี้มีโอกาสเจ๊งน้อยมากและมักจะจ่ายปันผลดีซึ่งช่วยให้หุ้นมี เสถียรภาพสูงกว่าหุ้นที่มีหนี้มหาศาล “การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของส่วนบุคคลหรือบริษัท

ข้อ 6) เลือกหุ้นที่ให้ปันผลสม่ำเสมอและในอัตราที่เหมาะสมประมาณปีละ 3-4% ขึ้นไปเมื่อเทียบกับราคาหุ้น ปันผลที่สม่ำเสมอนั้นเป็น “ฐาน” ที่สำคัญที่จะช่วยให้ราคาหุ้นไม่ตกลงไปมากเวลาตลาดหุ้นมีปัญหา เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าเราได้ปันผลปีละ 3-4% จากราคาหุ้นที่เราซื้อ ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไปสัก 3-4 ปี โดยที่ราคาหุ้นไม่ขึ้นเลยเราก็ยัง “ไม่ขาดทุน” เมื่อเทียบกับการฝากเงินหรือซื้อพันธบัตรที่ให้ดอกเบี้ยไม่เกิน 1-4% เท่านั้น

ข้อ 7) เมื่อซื้อหุ้นแล้ว ถ้าจะลดความเสี่ยง เราต้องติดตามบริษัทตลอดเวลา ทั้งตัวเลขผลการดำเนินงานและข่าวสารต่าง ๆ ของบริษัท และถ้าเป็นไปได้ เราจะต้องติดตามข้อมูล “ภาคสนาม” นั่นคือ การสังเกตติดตามกิจกรรมทางการตลาดและตัวผลิตภัณฑ์ของบริษัท ยิ่งถ้าเรามีโอกาสได้ใช้สินค้าของบริษัทก็จะยิ่งดี

ข้อ 8) ติดตามข่าวคราวทางเศรษฐกิจ การเงิน และภาวะตลาดหุ้นบ้าง แม้ว่า VI ชื่อดังหลาย ๆ คนจะบอกว่าอย่าไปสนใจภาพใหญ่แบบนั้น แต่การรับรู้และนำข้อมูลทางเศรษฐกิจมาประกอบจะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิด ขึ้นโดย “ไม่คาดคิด” ได้ โดยเฉพาะในกรณีที่หุ้นของเราบางตัวอาจถูกกระทบโดยตรง อย่างไรก็ตาม นี่เป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ไม่มากนัก

ข้อ 9) หลีกเลี่ยงการกู้เงินหรือใช้มาร์จินในการลงทุน การใช้เงินกู้มาลงทุนนั้น แม้ว่าอาจจะช่วยให้ผลตอบแทนเราดีขึ้นมาก แต่ความเสี่ยงก็สูงโดยเฉพาะในช่วงสั้นที่หุ้นอาจจะมีความผันผวนเนื่องจาก ปัจจัยต่าง ๆ ที่ไม่อาจคาดคิดได้ ดังนั้น VI ส่วนใหญ่และในสถานการณ์ส่วนใหญ่จึงไม่ควรทำ เหนือสิ่งอื่นใด การลงทุน “ร้อยเปอร์เซ็นต์” ในหุ้น ก็ทำผลตอบแทนได้สูงพออยู่แล้วถ้าเราลงทุนอย่างถูกต้อง ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องโตเร็วไปกว่านั้น

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลยุทธและแนวทางในการลดความเสี่ยงของ การลงทุนในหุ้นแบบ VI ผมคิดว่าคนที่ลงทุนในหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์และเป็นนักลงทุนที่มุ่งมั่นและเป็น การลงทุน “เพื่อชีวิต” ควรจะนำมาใช้ในหุ้นส่วนใหญ่ที่ลงทุน ผมคิดว่าถ้าทำตามเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ว่ามานั้นอย่างเคร่งครัด การลงทุนในหุ้นจำนวนมาก ๆ ก็เป็นเรื่องที่ “ไม่เสี่ยง” ว่าที่จริง ผมคิดว่ามันเสี่ยงน้อยกว่าการถือเงินไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคารหรือแม้แต่ใน พันธบัตรรัฐบาลซึ่งนับวันจะมีค่าน้อยลงเพราะเงินเฟ้อกินไปหมด

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘