ชีวิตหลังเกษียณ

เดือนนี้สำหรับหลาย ๆ คนที่มีอายุครบ 60 ปีคงจะเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากเขา “เกษียณอายุ” นั่นคือ เขาไม่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปทำงานประจำที่เขาทำมาหลายสิบปี เขาไม่ต้องรับผิดชอบงานในหน้าที่ที่ต้องทำให้สำเร็จในเวลาที่กำหนด เขาไม่ต้องเข้าประชุมถกเถียงกับเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้าอีกต่อไป ความเครียดในการทำงานดูเหมือนจะหายไป แต่ในอีกด้านหนึ่ง เขาคงเริ่มคิดถึงชีวิตสังคมในที่ทำงาน ต่อไปนี้เขาจะคุยกับใคร เขาจะได้ฟังหรือเล่าเรื่องซุบซิบนินทาให้ใครฟัง เขาจะมีงานสังสรรเหมือนเดิมที่ไหน และสำหรับหลายคนที่เคยเป็นผู้บริหาร เขาจะสั่งหรือใช้ใครพิมพ์งานหรือติดต่อส่งข่าวต่าง ๆ ในเมื่อเลขาที่เขาเคยมีหายไป ใครจะขับรถไปรับตัวเองหรือลูกเมียหรือวิ่งงานสารพัดในเมื่อคนขับรถก็จะหายไป ด้วย นั่นเป็นเรื่องที่ “น่าใจหาย” สำหรับหลาย ๆ คน แต่สำหรับคนจำนวนมากนั้น เรื่องที่จะต้องคิดและน่าห่วงมากยิ่งกว่าก็คือ เขาจะจัดการกับเรื่องการเงินหลังจากนี้อย่างไรในเมื่อเงินรายได้ประจำเดือน นั้นจะไม่มีอีกต่อไป

ผมเชื่อว่าคนที่อ่านบทความนี้และถึงวัยเกษียณแล้วคงต้องมีเงินเก็บสะสม ไว้บ้าง หลาย ๆ คนมีเงินมากพอที่จะใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย ดังนั้น ผมคงพูดโดยอิงกับคนสองกลุ่มนี้เท่านั้น ส่วนคนที่แทบไม่มีเงินเก็บสะสมเลยหรือมีน้อยมากนั้น ผมคิดว่าทางเดียวที่ทำได้ก็คือ หางานทำต่อไปไม่ว่าจะเป็นงานประจำหรืองานอิสระ ส่วนคนที่เกษียณแล้วจริง ๆ ต่อไปนี้คือความคิดและคำแนะนำของผมซึ่งเป็นคนที่สมัครใจ “เกษียณ” ก่อนกำหนดตั้งแต่อายุ 50 ปีเศษ ๆ และใช้ชีวิต “อิสระ” มาได้ 5-6 ปีแล้ว

ก่อนอื่นผมคงต้องบอกว่า การเกษียณนั้นไม่ควรจะเป็นการเลิกทำงานทุกอย่าง สำหรับผม การเกษียณคือการเลิกจากการทำงานที่เราทำเพื่อเงินเป็นหลัก หลัง “เกษียณ” เราควรจะทำงานต่อไป แต่งานที่ทำนั้นควรเป็นงานที่เราชอบและมีประโยชน์ต่อตัวเราและ/หรือสังคมโดย ส่วนรวม งานนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้วเป็นงานอดิเรกหรืองานเสริมแต่เมื่อเรา เกษียณจากงานประจำเราจึงหันมาทำงานนั้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว งานนั้นอาจจะเป็นงานใหม่ที่เราเพิ่งเริ่มทำและมันเป็นงานที่เราเคยคิดอยากทำ แต่ไม่มีเวลาหรือไม่มีโอกาสที่จะทำในขณะที่เรายังทำงานประจำอยู่ อย่าไปห่วงว่าเราจะทำไม่ได้หรือยากลำบากเกินไปเพราะถ้าทำแล้วเราไม่ชอบหรือ ไม่ประสบความสำเร็จเราก็เลิกทำได้เสมอ ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ อายุ 60 ปีที่เราเกษียณนั้น ไม่ได้แก่เกินไปที่จะเริ่มทำสิ่งใหม่ เพราะสำหรับคนทั่วไปผมคิดว่าอายุที่จะเสียชีวิตนั้นน่าจะถึง 80 ปี ซึ่งทำให้มีเวลาอีกตั้ง 20 ปีที่จะทำสิ่งที่เราต้องการทำ ดังนั้น การเกษียณนั้นไม่ใช่เวลาสิ้นสุดแต่เป็นเวลาที่เพิ่งเริ่มต้นสำหรับสิ่งใหม่ ที่ท้าทายของชีวิต

การทำงานในช่วงเวลาหลังเกษียณนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่การทำงานเพื่อเงินเป็นหลัก แต่ผมคิดว่าการทำงานแล้วได้เงินด้วยก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะเงินนั้น อย่างน้อยมันเป็นเครื่องวัดว่างานที่เราทำ “มีค่า” ในสายตาของคนในสังคม การทำงานแล้วได้เงินนั้นมันจะทำให้งานไม่น่าเบื่อหรือไม่มีจุดหมาย ว่าที่จริง หลายคนอาจจะทำงานได้เงินมากกว่าในช่วงที่ยังทำงานปกติก็เป็นไปได้ เพราะหลังจากการเกษียณแล้ว เขาก็เป็นอิสระในการเลือกทำเฉพาะงานที่มีค่ามากและไม่ทำงาน “ขยะ” เช่นงานประชุมบางอย่างที่เสียเวลามากและไม่ได้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม อย่าทำงาน “เพื่อเงิน” เพราะนั่นจะกลายเป็นว่าเรากลับเข้าไปอยู่ในวังวนของการทำงานที่ผูกมัดชีวิต ของเราจนไม่มีความสุข พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ งานหลังเกษียณนั้น ไม่ควรเป็นงานที่หนักเท่ากับงานประจำเดิม แต่ควรเป็นงานที่มีค่าและมีประโยชน์ทำแล้วมีความสุข ส่วนเงินนั้นเป็นผลพลอยได้ที่พึงปราถนา ยิ่งมากก็ยิ่งดี แต่เราไม่ไล่หามัน

หลังเกษียณเป็นเวลาที่ร่างกายเรามักจะเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เราควรทำอย่างยิ่งก็คือการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแร็ง ดังนั้น การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่จำเป็นและว่าที่จริงทำให้เรามีความสุขไม่น้อยกว่า สิ่งอื่น ๆ ผมเอง หลังจาก “เกษียณ” ตัวเองก็เริ่มหัดเล่นกอล์ฟ เพราะกอล์ฟนั้นช่วยให้เราได้เดินค่อนข้างมากในบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ คุณไม่จำเป็นต้องเล่นกอล์ฟเพื่อเป็นการออกกำลังกายแต่ไม่ควรเล่นกีฬาที่ต้อง ใช้พลังงานสูงหรือหักโหมเกินไป ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน การออกกำลังกายสม่ำเสมอที่เหมาะสมกับร่างกายเป็นสิ่งที่คนหลังวัยเกษียณควร ทำเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากการออกกำลังหรือกีฬาแล้ว การทำงานอดิเรกหรือการทำงานเพื่อสังคมเช่นการเป็นอาสาสมัครในเรื่องต่าง ๆ ก็เป็นอีกสิ่งที่น่าสนใจทำสำหรับคนหลังเกษียณ การสอนหนังสือหรือเผยแพร่ประสบการณ์ให้กับคนอื่นเป็นสิ่งที่จะทำให้เราไม่ รู้สึกล้าหลังหรือกลายเป็นคนแก่ที่ไร้ความหมาย ดังนั้น ลองมองหาดูว่าอะไรที่เราพอทำได้แล้วไม่รู้สึกหนักแต่เพลิดเพลินและได้สังคม กับคนต่างวัยกันด้วย

สุดท้ายซึ่งสำคัญมากก็คือเรื่องของเงินทอง การเกษียณนั้นแปลว่าเงินที่จะได้จากน้ำพักน้ำแรงจะค่อนข้างน้อยลงหรือหมดไป แต่เรายังต้องใช้เงินในการดำรงชีวิตอยู่ คนที่มีเงินมากเหลือเฟืออาจจะไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่คนที่มีเงินพอสมควรแต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะสามารถใช้ได้ตลอด ชีวิตอย่างสะดวกสบายจะต้องรู้จักการบริหารเงิน การบริหารเงินของคนเกษียณนั้นไม่ใช่ไม่ยอมเสี่ยงเลยและทำแค่ฝากเงินไว้กับ ธนาคาร เพราะดอกเบี้ยที่ต่ำมากเพียง 1-2% ต่อปีในขณะที่ยังมีเงินเฟ้ออยู่นั้นจะทำให้ค่าของเงินลดลงในอนาคตซึ่งทำให้ ความมั่งคั่งลดลงและอาจทำให้เรามีปัญหาทางการเงินได้

สูตรการบริหารเงินสำหรับคนเกษียณนั้นผมคิดว่าคล้าย ๆ กับคนทั่วไปเพียงแต่การลงทุนอาจจะลงในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า นั่นก็คือ ควรแบ่งกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ใหญ่ ๆ สามอย่างคือ หุ้น พันธบัตร และเงินสดในธนาคาร โดยสัดส่วนการลงทุนในหุ้นนั้นให้เอา 80 ตั้งลบด้วยอายุตัวเองเช่น 60 ปี ก็จะได้ว่าเราควรลงทุนในหุ้น 20% ส่วนการลงทุนในเงินฝากธนาคารทั้งฝากประจำและออมทรัพย์รวมกันไม่เกิน 20% ที่เหลือ 60% ให้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้ที่มั่นคง โดยที่การลงทุนในหุ้นและพันธบัตรนั้น ถ้าเรายังไม่รู้วิธีหรือเทคนิคที่ถูกต้องก็สามารถลงทุนในกองทุนรวมซึ่ง บริหารโดยมืออาชีพได้ การลงทุนเป็นพอร์ตโฟลิโอของสินทรัพย์หลายกลุ่มแบบนี้จะทำให้เราได้ผลตอบแทน สูงขึ้นโดยน่าจะได้ถึงปีละ 5% โดยเฉลี่ยและความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้อย่างสบาย

ทั้งหมดนั้นก็เป็น “ชีวิตหลังเกษียณ” แนวทางหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วหัวใจของมันก็คือ การเกษียณนั้น ไม่ใช่ Last Stop หรือ “รถเมล์ป้ายสุดท้าย” ก่อนตาย แต่เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่อิสระและมีความหมายเต็มเปี่ยม เป็นปีทองของชีวิต

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘