เดินสุ่มในวอลสตรีท

ถ้าจะหาหนังสือการลงทุน 10 เล่มที่เราควรอ่านก่อนที่เราจะลงทุนอย่างจริงจังหรือก่อนที่เราจะเป็นเซียน ได้นั้น นี่คือหนังสือที่ผมคิดว่าเป็นเล่มที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง และมันอยู่ในระนาบเดียวกับหนังสือคลาสสิคอื่น ๆ เช่น The Intelligent Investor และ Common Stocks and Uncommon Profits สิ่งที่แปลกออกไปก็คือ นี่ไม่ใช่หนังสือที่บอกวิธีการเลือกหุ้นที่จะทำให้เรารวยหรือได้ผลตอบแทนสูง กว่าปกติ ตรงกันข้าม มันพยายามจะบอกเราว่า วิธีการเลือกหุ้นที่จะทำให้เราชนะได้อย่างต่อเนื่องยาวนานนั้น “ไม่มี” มันช่วยเตือนให้เราตระหนักว่า การลงทุนที่จะให้ได้ผลตอบแทนดีกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์นั้นทำไม่ได้ หรือทำได้ยากมาก ที่ยิ่งทำให้เรา “หมดหวัง” ไปกว่านั้นก็คือ ข้อเขียนและเนื้อหาต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ในหนังสือนั้น อิงอยู่กับการศึกษาของนักวิชาการชั้นนำระดับโลกทั้งสิ้น และนี่คือหนังสือชื่อ The Random Walk Down Wall Street แปลเป็นไทยก็คือ “เดินสุ่มในวอลสตรีท” เขียนโดย Burton G. Malkiel ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1973 หรือกว่า 35 ปีมาแล้ว แต่ยังมีการปรับปรุงและพิมพ์ขายใหม่มาตลอด

เนื้อหาหลักของ “Random Walk” นั้นพูดถึงทฤษฎีการลงทุนว่ามีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มแรกที่เชื่อว่าราคาหุ้นนั้นเป็นเรื่องของจิตวิทยาของนักลงทุนเป็นหลัก โดยที่พื้นฐานของกิจการนั้นมีผลเพียงแค่ 10-20% กลุ่มนี้ ถูกเรียกว่ากลุ่ม “วิมานในอากาศ” หรือ Castle-in-the Air Theory อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่เชื่อว่าราคาหุ้นนั้นขึ้นอยู่กับพื้นฐานของกิจการ เป็นหลักในขณะที่จิตวิทยานั้น ถ้าจะมีผลก็ไม่เกิน 10-20% เช่นกัน เรียกกลุ่มนี้ว่ากลุ่ม “พื้นฐานของกิจการ” หรือ Firm-Foundation Theory โดยกลุ่มแรกนั้น คนที่เชื่อก็จะใช้เครื่องมือที่จะสามารถ “จับกระแสหรือจิตวิทยา” ของนักลงทุนเพื่อที่จะนำมาใช้ในการซื้อหรือขายหุ้นที่จะทำให้ได้กำไร เครื่องมือหลักอย่างหนึ่งก็คือ เส้นกราฟของราคาหุ้นแต่ละตัวและดัชนีตลาดรวมถึงปริมาณการซื้อขายของหุ้น ด้วย ส่วนการวิเคราะห์ที่ใช้ก็คือ “การวิเคราะห์ทางเทคนิค”

กลุ่มที่สองนั้น คนที่เชื่อก็จะใช้ “ข้อมูลพื้นฐาน” ของกิจการ เช่น ยอดขาย กำไร การเติบโตของเงินปันผลและฐานะทางการเงินของกิจการ มาพิจารณาและคำนวณหา “มูลค่าที่แท้จริง” หรือที่เรียกว่า Intrinsic Value ของหุ้น เพื่อที่จะพิจารณาว่าราคาหุ้นในตลาดนั้นสูงหรือต่ำกว่า ถ้าราคาหุ้นในตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง เขาก็ซื้อ เพราะเขาเชื่อว่าในที่สุดราคาตลาดจะต้องวิ่งไปหาราคาที่แท้จริงเสมอ และคนที่เชื่อในทฤษฎีนี้ก็คือพวกนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทั้งหลาย ซึ่งแน่นอน รวมถึง Value Investor ด้วย

แต่ Malkiel บอกว่าราคาหุ้น โดยเฉพาะในช่วงสั้น ๆ นั้น “คาดไม่ได้” และ “ไม่มีแบบแผน” มันเหมือนกับคนเมาที่ “เดินสุ่ม” นั่นคือ เขาจะเดินมาอย่างไรก็ตาม แต่ก้าวต่อไปของเขานั้นไม่รู้ว่าจะไปซ้ายหรือขวา หน้าหรือหลัง ไม่มีใครรู้ ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะใช้เท็คนิคอะไรก็ไม่ได้ผล ในบางครั้งบางคราวก็ดูเหมือนว่ามีเท็คนิคบางอย่างสามารถนำมาใช้ทำกำไรจากการ ซื้อขายหุ้นได้ แต่ผ่านไปสักพักเมื่อมีคนรู้นำมาใช้มากขึ้น เท็คนิคนั้นก็ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป

พื้นฐานหลักที่ทำให้เราไม่สามารถเอาชนะตลาดหรือทำกำไรได้มากกว่าปกติไม่ ว่าจะใช้เท็คนิคอะไรนั้น Malkiel บอกว่าเป็นเพราะตลาดหุ้นนั้น “มีประสิทธิภาพ” ในการที่จะปรับราคาหุ้นให้สะท้อนถึงพื้นฐานและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกิจการ หรือหุ้นได้รวดเร็วมาก และโดยเฉลี่ยแล้วราคาหุ้นก็ปรับตัวได้ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น นั่นหมายความว่า บางครั้งราคาหุ้นก็ “ผิด” ไปจากที่ควรจะเป็นเหมือนกัน เช่น ราคาอาจจะสูงเกินไป หรือบางช่วงราคาก็อาจจะต่ำเกินไป แต่ในไม่ช้ามันก็สามารถปรับให้ราคาเข้ามาใกล้เคียงกับที่มันควรเป็น พูดง่าย ๆ ตลาดหุ้นคอยปรับให้ราคาหุ้นมีราคาโดยเฉลี่ยแล้วเหมาะสมอยู่เสมอ อย่าพยายามหา “ราคาที่เหมาะสม” ในทางทฤษฎีหรือทางจิตวิทยาเลย

ด้วยแนวความคิดและความเชื่อในเรื่องของความมีประสิทธิภาพของตลาดและ เรื่องการ “เดินสุ่ม” ของราคาหุ้นดังกล่าว Malkiel จึงคิดว่าเราไม่ควรเลือกซื้อขายหุ้นเอง เพราะทำไปก็ไม่มีประโยชน์และต้องเสียค่าคอมมิชชั่นสูง แต่หุ้นนั้น โดยเฉลี่ยในระยะยาวแล้วให้ผลตอบแทนที่ดี ดังนั้นเขาได้เสนอกลยุทธ์ในการลงทุนต่าง ๆ ที่นักลงทุนควรทำ เช่น การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่อิงดัชนีตลาด ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการลงทุนลง และการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่รัฐมอบให้ อย่างกรณีของไทยก็คงคล้ายกับการลงทุนในกองทุน RMF และ LTF เป็นต้น

นอกจากทฤษฎีการลงทุนและแนวความคิดหลักของหนังสือแล้ว สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าโดยเฉพาะสำหรับ Value Investor ก็คือ มันเป็นหนังสือที่ “เล่าประวัติศาสตร์” การลงทุนย้อนหลังไปยาวนานมากได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของบุคคล แต่เป็นประวัติศาสตร์ของตลาดและแนวความคิดการลงทุนเป็นยุค ๆ ที่ค่อนข้างสมบูรณ์และทุกอย่างมีวิชาการประกอบ แต่ขณะเดียวกันเป็นหนังสือที่อ่านได้ไม่ยากสำหรับบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้เรียน มาทางสายการเงินโดยตรง สำหรับผมแล้ว มันเป็นหนังสือคลาสสิคที่อ่านแล้ว “ไม่หลับง่าย” เหมือนหนังสือคลาสสิคหลาย ๆ เล่ม

นักลงทุนโดยเฉพาะ Value Investor ที่ประสบความสำเร็จสูงหลายราย อาจจะมี “อคติ” กับแนวความคิดที่ว่า “ไม่มีใครสามารถสร้างผลตอบแทนเหนือกว่าปกติได้” ในหนังสือเล่มนี้และพลอยทำให้ไม่อยากอ่าน เพราะเขาอาจคิดว่าตัวเองสามารถทำกำไรมหาศาลได้ด้วยการวิเคราะห์และลงทุนแบบ Value Investment ดังนั้น หนังสือเล่มนี้คงจะ “ผิด” และเป็นเรื่องของนักวิชาการบนหอคอยงาช้างที่ไม่เข้าใจโลกที่เป็นจริง ข้อนี้ผมคิดว่าต้องคิดใหม่ อย่าลืมว่าคนที่เขียนหนังสือเล่มนี้ นอกจากเป็นนักวิชาการแล้ว เขายังเป็นผู้บริหารระดับสูงมากในธุรกิจการเงินและการลงทุนด้วย เหนือสิ่งอื่นใด VI ที่ดีนั้น ต้องเปิดกว้างรับความเห็นที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งจากคนที่ “มองต่าง” ด้วย

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘