ปราสาททราย

สัปดาห์ก่อนนักลงทุนต้องตกอกตกใจกับข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจ 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก เวียตนามประกาศลดค่าเงินด่องลงมาประมาณ 5% เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐซึ่งก็อ่อนค่าลงอยู่แล้วเมื่อเทียบกับค่าเงิน อื่น ๆ ของโลก เวียตนามลดค่าเงินลงเนื่องจากกำลังมีปัญหาเงินสำรองต่างประเทศขาดแคลนและ ภาวะการเงินของประเทศน่าจะเข้าใกล้วิกฤต นี่เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจเมื่อดูว่าเศรษฐกิจเวียตนามในช่วงปีที่ผ่านมา มีการเติบโตที่น่าประทับใจเป็น “ดารา” ประเทศหนึ่งในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่แล้วเศรษฐกิจติดลบเพราะผลจากวิกฤติของอเมริกา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังเล็กมาก ปัญหาของเวียตนามจึงไม่ได้ส่งผลอะไรกับประเทศอื่นนักและผมเชื่อว่าเวียตนาม ก็จะผ่านภาวะยุ่งยากนี้ไปได้ไม่ยากนัก เผลอ ๆ จะแข็งแกร่งขึ้นไปอีกเมื่อสินค้าของเวียตนามมีราคาถูกลงและสามารถแข่งขันได้ มากขึ้นในตลาดโลก โดยเฉพาะกับสินค้าเกษตรจากประเทศไทย

เรื่องที่สองนั้นน่ากลัวกว่ามาก เพราะเป็นเรื่องที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของรัฐดูไบคือ ดูไบเวิลด์ ประสบปัญหาทางการเงินไม่สามารถชำระหนี้ได้ หนี้หลายหมื่นล้านเหรียญที่อาจจะต้องเป็นหนี้สูญของสถาบันการเงินที่ให้ดู ไบเวิลด์กู้นั้น เป็นหนี้ของสถาบันการเงินใหญ่ ๆ ของโลกที่กระจายอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ผลกระทบกับสถาบันการเงินคงต้องมีไม่น้อยหลังจากที่เคยประสบมาแล้วจากวิกฤติ ซับไพร์มของอเมริกา แต่นี่ยังไม่จบ ที่จริงมันอาจจะเพิ่งเริ่ม เพราะผมเชื่อว่าในไม่ช้าก็จะมีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของดูไบขาดสภาพ คล่องและล้มละลายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เหตุผลก็น่าจะเป็นเรื่องเดียวกับดูไบเวิลด์นั่นคือ เป็นเรื่องของ “ฟองสบู่” อสังหาริมทรัพย์ที่ “เฟื่องฟู” มาหลาย ๆ ปีตั้งแต่ที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นและทำให้ดูไบร่ำรวยและเริ่มหันมา “สร้างเมือง” อย่างที่ไม่เคยมีใครจินตนาการได้ว่าจะเกิดขึ้นได้ในโลกนี้

ผมเคยไปดูไบเมื่อ 2-3 ปีก่อน โดยแรงจูงใจลึก ๆ ก็เพื่อที่จะได้ไปเห็นกับตาว่าเมืองนี้ “มหัศจรรย์” อย่างไร สิ่งที่ได้พบก็คือ มันเต็มไปด้วยอาคารสูงขนาดใหญ่และแพงที่สุดของโลกจำนวนมากกำลังถูกสร้างขึ้น กลางทะเลทราย โดยที่ผู้ปกครองหวังว่าจะทำให้ดูไบเป็นเมืองพักผ่อนและท่องเที่ยวของนักท่อง เที่ยวทั่วโลกโดยเฉพาะที่มาจากประเทศอาหรับที่ร่ำรวยจากการขายน้ำมัน ดังนั้น อาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับ “วิสชั่น” นี้ เช่น ในท่ามกลางทะเลทรายที่ดูไบจะมีลานหิมะสำหรับเล่นสกี จะมีสนามกอล์ฟที่ออกแบบโดยคนระดับ “ไทเกอร์วูด” นอกจากนั้น เพื่อให้ดูหรูหราสุด ๆ ดูไบยังถมทะเลเพื่อสร้างหมู่บ้านที่ทุกบ้านเป็นเกาะเล็ก ๆ เรียงกันในทะเลมองจากอากาศจะเป็นรูปต้นปาล์ม ทั้ง ๆ ที่พื้นดินที่เป็นทะเลทรายก็ยังมีอีกมาก ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้รวมตึกที่สูงที่สุดในโลกที่กำลังใกล้เสร็จโดยที่ผมเองก็ ไม่รู้ว่าตึกนี้จะใช้ทำอะไรและทำไมต้องสร้างให้สูงอย่างนั้น แต่ทั้งหมดที่ผมรู้ก็คือ ทุกตึกหรือทุกสิ่งก่อสร้างที่กำลังทำอยู่นับพัน ๆ แห่งนั้น จะต้องทำให้หรูหราและยิ่งใหญ่ที่สุด

ประชากรของดูไบนั้นมีน้อยนิดน่าจะไม่เกิน 2-3 ล้านคน แต่คนนอกที่เข้าไปหากินและทำงานโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริม ทรัพย์นั้นกลับมีมากกว่า เศรษฐกิจของดูไบเองนั้น ยกเว้นน้ำมันแล้วก็ไม่มีอะไรที่มีนัยสำคัญ การท่องเที่ยวนั้น ถ้าดูไปก็ยังมีไม่มากแม้ว่านั่นจะคือเป้าหมายหลักของผู้ปกครองที่อยากเห็น อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการที่กำลังสร้างเมืองนั้นก็ทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟูมาก คนดูไบเองรู้สึกว่าผู้ปกครองของตนนั้นมี “วิสชั่น” และความสามารถระดับ “เทพ” ที่สามารถทำให้ดูไบที่ไม่ค่อยมีอะไร กลายเป็นเมืองที่คนทั้งโลกรู้จักและกล่าวขวัญถึง อนาคตของดูไบนั้นดูสดใสมากจนกระทั่งถึงสัปดาห์ที่แล้วที่ความคิดนี้น่าจะ เริ่มเปลี่ยนไป ไม่มีใครรู้ว่าสุดท้ายดูไบจะเป็นอย่างไร แต่ ณ. นาทีนี้ คนจำนวนไม่น้อยคงจะเริ่มเชื่อสิ่งที่ก่อนหน้านี้มีคนเคยเตือนเอาไว้ว่า ดูไบกำลังทำสิ่งที่อยู่ในจินตนาการที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งเดียวที่ทำให้เมืองนี้เกิดขึ้นได้ก็คือเงินที่ได้จากน้ำมันบวกกับ “จินตนาการสุดขอบฟ้า” ของผู้ปกครอง ในที่สุดแล้วมันก็คือ “ปราสาททราย” ที่จะล่มสลายลง

ปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของอเมริกานั้น ผมคิดว่าในไม่ช้าก็จะหมดไป เพราะความต้องการในด้านของที่อยู่อาศัยในอเมริกาคงจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และดูดซับบ้านที่เกินความจำเป็นไปได้หมด แต่ปัญหาในดูไบนั้น ผมคิดว่าน่าจะเลวร้ายกว่ามาก ผมยังนึกไม่ออกว่าใครจะมารับตึกที่ยังสร้างไม่เสร็จจำนวนมหาศาลไปสร้างต่อ แม้แต่ตึกที่สร้างเสร็จและมีคนอยู่แล้วก็อาจจะมีปัญหาถ้าคนเริ่มเปลี่ยนมุม มองต่อดูไบไป ราคาของอสังหาริมทรัพย์ในดูไบตกลงไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในเวลาอันสั้นและนี่ น่าจะก่อปัญหาในด้านของ NPL ของสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั่วโลก จริงอยู่ ดูไบนั้นเล็กกว่าอเมริกามาก แต่นี่อาจจะเป็น “อาฟเตอร์ช็อค” ที่ทำให้วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวชะลอออกไป ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ ราคาหุ้นที่ได้ปรับตัวขึ้นไปมากอาจจะหยุดหรือถดถอยลง

วิกฤติการณ์ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของดูไบนั้น เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่ย้ำให้เห็นถึงอันตรายและความล้มเหลวที่มักจะตามมาจาก ความ “เพ้อฝัน” บวกกับ “ความมั่งคั่ง” ที่ไม่ได้มาจากฝีมือและการทำงานหนัก นอกจากนั้น มันช่วยเตือนเราด้วยว่า อะไรที่ดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้วิเคราะห์จากเหตุผลแบบชาว VI ในที่สุดแล้วมันก็เป็นไปไม่ได้จริง ๆ แม้ว่าในระยะสั้นมันดูเหมือนกับว่าทุกอย่างจะไปได้ด้วยดี กลับมาในเรื่องของหุ้น ผมคิดว่าผลกระทบไม่น่าจะรุนแรงโดยเฉพาะกับตลาดหุ้นไทย เหนือสิ่งอื่นใด ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างดูไบกับไทยนั้นมีน้อยมาก ผลกระทบกับไทยจริง ๆ นั้นน่าจะเป็นทางอ้อมผ่านทางด้านตลาดหุ้นทั่วโลก และถ้าดัชนีหุ้นไทยตกต่ำลงตามภาวะดัชนีหุ้นโลก ผมก็คิดว่ามันจะเป็นโอกาสอีกครั้งหนึ่งในการซื้อหุ้นเช่นเดียวกับเมื่อคราว เกิดวิกฤติซับไพร์มของอเมริกา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘