เงินกับกล่อง

ธรรมชาติของคนเรานั้นต้องการมี “เงิน” และ “กล่อง” พูดง่าย ๆ ก็คือ ข้อแรก ทุกคนอยากรวย เพราะความร่ำรวยทำให้เรามีอิสระเสรีมากขึ้นในการที่จะทำอะไรที่เรารักเรา อยากทำได้เต็มที่ ความรวยทำให้เรามีความมั่นคงในชีวิต ไม่ต้องกังวลว่าเราจะขาดแคลนสิ่งที่จำเป็นหรืออยากได้เมื่อเราต้องการใช้ ความรวยทำให้เราไม่ต้องพึ่งพิงคนอื่นมากนักและทำให้สามารถอยู่ได้อย่างสะดวก สบาย แต่ทั้งหมดนี้สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วก็ไม่เพียงพอ ต้องมีข้อสองนั่นคือ คนเราอยากได้ “กล่อง” ซึ่งก็คือเราอยากได้รับการ “ยอมรับ” จากคนอื่นว่าเรา “ประสบความสำเร็จ” ความสำเร็จนั้นเป็นเรื่องของความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่หลากหลายตั้งแต่เรื่องของวิทยาศาสตร์ การเมือง การแสดง กีฬา การทำงาน และการทำธุรกิจ แต่ความสำเร็จที่เป็นที่ยอมรับและวัดได้ง่ายที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ “การมีเงินมาก”

ในโลกของทุนนิยมนั้น กล่องกับเงิน บ่อยครั้งก็มาด้วยกันหรือตามกันมา เช่น เป็นดาราที่มีชื่อเสียงเพราะมีรูปร่างหน้าตาและความสามารถสูง ก็จะมีผู้มาจ้างแสดงภาพยนต์และถ่ายแบบโฆษณาด้วยอัตราสูงลิ่วทำให้มีรายได้ มาก และถ้ารู้จักบริหารเงินก็จะมีเงินเหลือเก็บมากกลายเป็นเศรษฐี เรียกว่ามีทั้งกล่องและเงิน แต่ในบางกรณี คนที่ได้กล่องมาก็ไม่มีเงินเพราะกล่องนั้นไม่ทำเงินเช่นนักวิทยาศาสตร์ที่ วิจัยค้นพบบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้มีชื่อเสียงแต่ไม่สามารถไปทำเงินได้ หรือนักมวยแชมป์โลกหลายคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังมีรายได้มากแต่ใช้จ่ายเงิน ไม่เป็นทำให้ไม่มีเงินเหลือเก็บกลายเป็นคนมีกล่องแต่ไม่มีเงิน

คนที่มีเงินมากเข้าขั้นเศรษฐีนั้น จำนวนมากไม่มีกล่องเพราะคนไม่รู้จักและก็ไม่รู้ว่าเป็นคนมีเงินมาก แต่พวกเขาก็อยากได้กล่อง เป็นกล่องที่จะบอกว่าเขาประสบความสำเร็จในการหาเงิน วิธีที่จะทำให้คนเห็นและยอมรับก็คือ การโชว์ความร่ำรวยผ่านสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขาสามารถซื้อมาใช้ ไล่ตั้งแต่เครื่องแต่งตัวเช่นเสื้อผ้า เครื่องเพชร นาฬิกา ที่มีราคาแพงเกินกว่าที่คนทั่วไปจะมีกำลังซื้อได้ รถยนต์ที่มีราคาแพง ของสะสมเช่นรูปวาดหรือพระเครื่องที่มีราคาสูง และที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันก็คือบ้านที่ต้องใหญ่โตหรูหราเกินกว่าความจำเป็น ที่ต้องใช้สอย ถ้าจะพูดก็คือ พวกเขา “ซื้อกล่อง” ด้วยเงินที่มีอยู่จำนวนมาก

คนบางคนมีรายได้มากแต่ยังไม่มีเงินเหลือเก็บ เหตุผลก็คือ พวกเขาพยายามไปหากล่องก่อน นั่นก็คือ พอมีรายได้เข้ามาก็เอาเงินไปซื้อทุกสิ่งทุกอย่างเลียนแบบเศรษฐี พวกเขาต้องการแสดงให้คนเห็นว่าเขาร่ำรวยมีเงินมาก บางคนมีความคิดว่าถ้าเขาทำตัวแบบเศรษฐี วันหนึ่งเขาก็จะรวยแบบเดียวกัน น่าเสียดายที่นั่นเป็นเรื่องของความเข้าใจที่ผิด เพราะพวกเขาจะไม่ได้เป็นเศรษฐีตัวจริง เขาจะมีรายจ่ายมากมายที่จะทำให้ไม่มีเงินเหลือเก็บเพื่อที่จะไปลงทุนต่อและ ทำให้ร่ำรวยได้จริง ๆ กล่องที่พวกเขาได้จะเป็นกล่องที่ “กลวง” ในขณะที่เงินเก็บที่มีอยู่น้อยจะไม่ทำให้เขามีความสุขเท่ากับคนที่มีเงินแต่ ไม่มีกล่อง

จากข้อมูลที่พบในสหรัฐและผมคิดว่าในเมืองไทยก็ไม่น่าจะแตกต่างกันก็คือ มีคนที่ไม่ได้เป็นคนรวยจำนวนมาก “ซื้อกล่อง” หรือก็คือซื้อสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นการ “แสดงออกถึงความร่ำรวย” ว่าที่จริง ยกเว้นมหาเศรษฐีที่มักซื้อและใช้สินค้าที่แพงสุดกู่แล้ว คนที่รวยเป็นเศรษฐีเงินล้านตัวจริงนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้บริโภคของฟุ่มเฟือยอะไรมากนัก เสื้อผ้าที่ใช้ก็ไม่ใช่พวกที่มียี่ห้อหรู นาฬิกาก็มักจะเป็นพวกยี่ห้อไซโกหรือไทม์เม็กซ์ รถยนต์ก็นิยมพวกโตโยต้า บ้านที่อยู่ก็มักจะราคาปานกลางในทำเลของคนชั้นกลาง ดังนั้น เขาสรุปว่า คนส่วนใหญ่ที่แต่งตัวหรู ใส่นาฬิกาโรเล็กซ์ ขับรถเบนซ์ มีบ้านใหญ่หรูหรา ส่วนใหญ่ไม่ใช่เศรษฐีตัวจริง ดังนั้น ถ้าคุณอยากเป็นเศรษฐีตัวจริง คุณไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้น

ถ้าเราต้องการเป็นเศรษฐีมีเงิน สิ่งที่เราควรทำก็คือ ทำอย่างเศรษฐีตัวจริง ซึ่งเขาค้นพบว่า คนเหล่านี้มักเป็นคนที่ประหยัดอดออม เก็บเงินที่เหลือไปลงทุน คนเหล่านี้มีชีวิตที่ “พอเพียง” ใช้เงินน้อยกว่ามาตรฐานรายได้และความมั่งคั่งของตนเอง และนั่นทำให้เขารวย แต่ส่วนใหญ่แล้วกว่าจะรวยเป็นเศรษฐีมีเงิน 30-40 ล้านบาทขึ้นไป ก็มักจะมีอายุ 50 ปีขึ้นไป และทั้ง ๆ ที่ร่ำรวยแล้ว พวกเขาก็มักจะยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม ไม่ฟู่ฟ่า อย่างไรก็ตาม บางคน โดยเฉพาะที่ร่ำรวยมาก ๆ เป็นมหาเศรษฐีก็ “ซื้อกล่อง” เหมือนกัน แต่นี่เป็นการซื้อกล่องเมื่อเขามีเงินมากแล้วและไม่ได้กระทบอะไรกับความ มั่งคั่งของเขา

Value Investor นั้น จำนวนมากไม่มีทั้งเงินและกล่อง อาจจะเรียกว่าไม่มีฐานะอะไรเลยก็ได้ เพราะหลายคนไม่ได้ทำงานประจำ พวกเขามุ่งทำเงินเป็นหลักโดยหวังว่าจะมีเงิน และด้วยการใช้ชีวิตแบบพอเพียงประกอบกับการลงทุนอย่าง “เข้มข้น” หลายคนก็หวังจะรวยเป็นเศรษฐีในเวลาอันไม่ไกลนัก ในความเห็นของผม นี่คือหนทางของการเป็นคนมีเงินที่น่าจะดีที่สุดทางหนึ่ง ส่วน “กล่อง” นั้น ผมคิดว่าในฐานะของคนที่รู้ว่าการบริโภคของหรูหราราคาแพงนั้นไม่ใช่วิถีของ เศรษฐีตัวจริง ไม่ใช่สิ่งที่บอกว่าเป็นเครื่องแสดงออกถึง “ความสำเร็จ” จริง ดังนั้น เราก็ไม่ควรต้องใส่ใจ โดยเฉพาะในช่วงที่เรายังไม่รวย เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ในฐานะของ VI นั้น เราต้องมองหา “คุณค่า” ของกล่องเมื่อเทียบกับ “ต้นทุน” ในการซื้อมัน วิธีที่จะได้กล่องที่มีคุณค่าจริง ๆ ก็คือ ต้องเป็นกล่องที่มาจากความสามารถอันเป็นที่ยอมรับ ความสามารถนั้นอาจเป็นเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นเรื่องของการลงทุนหรือเป็นเรื่องการลงทุนก็ได้ แต่มันต้องเป็นความสามารถจริงที่ไม่ได้ซื้อมา และนี่จะเป็นกล่องที่มีคุณค่าจริง ๆ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘