ควบคุมการใช้จ่ายเงิน

ช่วงอายุสามสิบกว่าๆ เป็นช่วงที่มีภาระค่าใช้จ่ายสูงกว่าในช่วงเริ่มต้นทำงานค่อนข้างมาก การใช้จ่ายในช่วงวัยนี้จึงควรมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ถ้าไม่ใช้ ก็ไม่ซื้อ รวมทั้งมีจัดทำงบดุลส่วนบุคคล และ งบรายได้และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทราบถึงสถานะทางการเงินและพฤติกรรมการใช้จ่ายของคุณและครอบครัว

ทำไมเราควรฝึกจดทำบัญชี

คุณเคยสงสัยบ้างมั้ย... หลังจากเงินเดือนออกไปแค่ไม่กี่วัน แต่ทำไมเงินในบัญชีกลับหายเกลี้ยงไปซะเฉยๆ นึกเท่าไรก็นึกไม่ออกว่าเงินหายไปไหน สุดท้ายที่พอจะทำได้ก็คือ หยิบเครื่องคิดเลขออกมานั่งคำนวณว่าเงินที่เหลืออยู่จะพอใช้จนถึงสิ้นเดือน หรือไม่ แต่หากคุณทำบัญชีรายรับรายจ่ายอยู่เป็นประจำ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ลองมาดูประโยชน์ของการทำบัญชีรายรับรายจ่ายกัน

ทราบรายรับ – รายจ่ายที่แน่นอน
ทำให้คุณมีข้อมูลสำหรับการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงในอนาคต

ทราบพฤติกรรมการใช้จ่าย
ว่าคุณมีพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยอย่างไร และฟุ่มเฟือยไปกับการซื้อสิ่งของต่างๆ ที่ไม่จำเป็นและไม่เคยใช้หรือไม่

ทราบสถานะของตัวเองและครอบครัวในปัจจุบัน
ตลอดจนสามารถนำมาคาดการณ์การใช้จ่ายในอนาคตให้เหมาะสมได้

ป้องกันการผิดพลาดในการใช้จ่าย
การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายจะทำให้คุณมีความรอบคอบและรัดกุมในการใช้จ่ายเงินมากขึ้น ความผิดพลาดในการใช้จ่ายก็จะลดลง

ช่วยในการวางแผนการใช้จ่ายและจัดสรรเงินออมให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
คุณอาจวางแผนแบ่งรายได้ออกเป็นส่วนๆ เช่น 20% เป็นเงินออม 50% เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นทั่วไป จำพวกอาหาร ที่อยู่ เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และอีก 30% ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา ค่าใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และการประกันชีวิต

สรุปง่ายๆ ได้ว่า “การทำบัญชีรายรับรายจ่าย” เป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนทางความคิดให้เกิดการลด ละ เลิกใช้จ่ายสิ่งฟุ่มเฟือยต่างๆ รู้จักการเก็บออม รู้คุณค่าของการใช้เงิน รู้ฐานะการเงินของครอบครัวว่าแต่ละเดือนมีรายรับรายจ่ายเท่าไร ก่อให้เกิดเงินออม และทำให้ครอบครัวมีความสุข

เงิน...หาได้ ใช้เป็น

บางคนหาเงินได้เยอะ... ก็ใช้เยอะ ไม่คิดถึงอนาคตว่ายังอีกยาวไกล ยังมีโอกาสที่จะต้องใช้เงินในทุกช่วงของชีวิตอีกมาก รวมถึงยังอาจต้องเผชิญกับสิ่งไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ดังนั้น เมื่อคุณมีรายได้ คุณควรจะวางแผนบริหารเงินและค่าใช้จ่าย โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ดังนี้

จ่ายให้ตนเอง แล้วชำระหนี้สิน
แบ่งเงินส่วนหนึ่งเพื่อเก็บไว้สำหรับอนาคตของตนเองทันทีที่มีรายได้เข้ามา อย่าละเลยที่จะเก็บออม ซึ่งการออมเป็นประจำจะช่วยปลูกฝังนิสัยรักการออมให้แก่ตัวคุณเอง

ใช้เงินอย่างประหยัด และหมั่นทำบัญชีรายรับรายจ่าย
คุณควรตระหนักถึงความจำเป็นก่อนการซื้อของทุกครั้ง ซึ่งการทำบันทึกรายรับรายจ่ายจะช่วยให้คุณมีระเบียบวินัยในการใช้จ่าย และสามารถสามารถควบคุมการใช้จ่ายของตัวเองได้

เลือกลงทุนตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้
นอกจากการออมเงินแล้ว คุณสามารถเพิ่มมูลค่าเงินออมของคุณให้มากขึ้นได้ด้วยการลงทุน หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ให้เงินทำงาน” ที่สำคัญ... อย่าลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยง คุณควรศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนทุกครั้ง

ป้องกันชีวิตและทรัพย์สินจากสิ่งไม่คาดฝัน
เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การทำประกันจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบายามเกิดเหตุการณ์คับขันและต้องใช้เงิน จำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นการวางแผนทางการเงินที่ให้ความคุ้มครองทางการเงินและความ มั่นใจในการดำรงชีวิตแก่ตนเองและครอบครัว

เทคนิคการช้อบบิ้งอย่างฉลาด

ในแต่ละเดือนคุณอาจมีค่าใช้จ่ายที่ต้องบริหารจัดการอยู่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายสำหรับของกินของใช้ภายในบ้าน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ในแต่ละเดือน แต่หากคุณสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ ก็จะช่วยประหยัดเงินและทำให้คุณมีเงินเหลือเก็บออมมากขึ้นด้วย

จดรายการสิ่งของที่ต้องซื้อก่อนช้อปปิ้ง
ก่อนซื้อของ คุณควรจดรายการสินค้าที่ต้องการ และมุ่งตรงไปยังรายการของที่จดมาเท่านั้น อย่าหลวมตัวซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น เพียงเพราะสินค้านั้นมีโปรโมชั่นใหม่ๆ

คูปองส่วนลดพิเศษ
ซุปเปอร์มาร์เก็ตมักแจกคูปองส่วนลดพิเศษ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการในโอกาสต่อไป เมื่อคุณได้รับคูปองต่างๆ ควรตรวจดูว่าคูปองหมดอายุเมื่อไหร่ และใช้คูปองส่วนลดนั้นในการซื้อของใช้จำเป็น เช่น ผงซักฟอก ยาสีฟัน สบู่ ฯลฯ

เปรียบเทียบราคาสินค้ากับปริมาณ
เพื่อให้ได้สินค้าที่ต้องการในราคาที่ดีที่สุด คุณอาจต้องเปรียบเทียบยี่ห้อและดูปริมาณ เพราะบางครั้งผู้ผลิตทำแพคเกจที่มีรูปร่างแตกต่างกันไป แพคเกจที่ดูใหญ่อาจมีปริมาณน้อยกว่ายี่ห้อที่มีแพคเกจเล็กกว่าก็ได้

รู้แหล่งซื้อของถูก
การรู้จักแหล่งซื้อของถูกจะช่วยให้คุณประหยัดเงินได้ แม้เล็กน้อย แต่หากรวมกันหลายครั้งเข้าก็เป็นเงินจำนวนมากเลยทีเดียว

ปลูกผักสวนครัวไว้ในบ้านบ้าง
การปลูกผักสวนครัวที่ใช้เป็นประจำ เช่น ผักชี กระเพรา โหระพา พริก มะนาว ฯลฯ ไว้ใช้เองบ้าง จะช่วยให้คุณประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่ง ทั้งยังเป็นกิจกรรมยามว่างที่เพลิดเพลินอีกด้วย

นอกจากนี้ คุณต้องช่วยกันประหยัดค่าสาธารณูปโภคอื่นๆ ภายในบ้าน ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ โดยไม่เปิดน้ำและไฟทิ้งไว้โดยไม่จำเป็น หรือเลือกซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าติดฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ฯลฯ เมื่อสมาชิกภายในบ้านร่วมมือร่วมใจกันใช้จ่ายอย่างประหยัดเช่นนี้แล้ว เชื่อได้ว่ารายจ่ายภายในบ้านจะลดลง และช่วยเพิ่มเงินออมของครอบครัวได้มากขึ้น

โปรแกรมงบการเงินส่วนบุคคล

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘