กองทุนรวมหุ้น

เมื่อสัปดาห์ก่อนหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจลงข่าวเกี่ยวกับกองทุนหุ้นโดย สาระสำคัญอยู่ที่ว่าคนไทยไม่ใคร่นิยมลงทุนในกองทุนหุ้นเท่าใดนัก จากตัวเลขจำนวนกองทุนหุ้นทั้งหมด 105 กอง นั้นพบว่า กองทุนที่มีขนาดใหญ่กว่า 1000 ล้านบาทนั้นมีเพียง 12 กองทุนและเม็ดเงินส่วนใหญ่ก็เพียงพันล้านต้น ๆ ในขณะที่กองทุนหุ้นที่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทนั้นมีจำนวน 16 กองทุน และกองทุนหุ้นส่วนใหญ่หรือจำนวน 62 กองทุนนั้นมีพอร์ตขนาด 100-500 ล้านบาท นอกจากความไม่สนใจลงทุนในกองทุนรวมหุ้นแล้ว เนื้อข่าวยังบอกด้วยว่าคนที่ซื้อหน่วยลงทุนหุ้นนั้นมักจะไม่ค่อยให้ความ สำคัญกับฝีมือในการลงทุนของผู้จัดการกองทุนแต่เน้นที่ความสะดวกในการซื้อขาย และค่าธรรมเนียมในการบริหารที่ถูกมากกว่า

ผมเองเห็นด้วยกับข้อสรุปข้างต้นและนั่นน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้กองทุนที่ มีขนาดใหญ่ที่สุดส่วนใหญ่กลายเป็นกองทุนหุ้นที่บริหารโดยบริษัทจัดการกองทุน ในเครือธนาคารพาณิชย์ที่มีสาขากว้างขวางและเป็นกองทุนที่อิงดัชนี นั่นคือเป็นกองทุนที่ไม่ต้องคัดเลือกหุ้น แต่ซื้อตามสัดส่วนของหุ้นที่อยู่ในดัชนีเช่น กองทุนที่อิงกับหุ้นใน SET 50 เป็นต้น นอกจากนั้นผมยังมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสำหรับนักลงทุนหลายประการ ดังต่อไปนี้

ข้อแรกที่ทำให้บริษัทจัดการการลงทุนไม่สามารถทำผลงานได้โดดเด่นนั้น ผมคิดว่าอยู่ที่โครงสร้างการทำงานของผู้จัดการกองทุน โดยความเข้าใจของผมก็คือ เวลาจะลงทุนในหุ้นนั้นเขาจะจัดการกันในรูปแบบของ “คณะกรรมการการลงทุน” นั่นก็คือ จะต้องมีคนนำเสนอหุ้นที่น่าสนใจให้กับคณะกรรมการการลงทุนเพื่อพิจารณา อนุมัติ หลังจากนั้นแล้วก็จะมีคนไปทำการซื้อขายตามมติที่ได้รับ ผลงานที่ออกมาของกองทุนแต่ละกองนั้น ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่ฝีมือของผู้จัดการกองทุนคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นผลงานรวม ๆ ของการจัดการของคณะกรรมการการลงทุนของบริษัท ซึ่งก็อาจจะดูแลการลงทุนในกองทุนหุ้นหลาย ๆ กองด้วย เห็นได้จากรายชื่อหุ้นที่เหมือน ๆ กันในกองทุนหุ้นเกือบทุกกองที่บริษัทบริหาร

ประเด็นก็คือ การลงทุนในหุ้นนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องของศิลปะค่อนข้างมาก การใช้ “คณะกรรมการ” มาทำงาน “ศิลป์” นั้น โอกาสที่จะทำได้ดีโดดเด่นนั้นยากมาก เปรียบเหมือนกับการวาดภาพศิลปะ ถ้าเราเอาคณะกรรมการมาเป็นคนกำหนดแล้วให้ศิลปินมาวาดภาพตามที่ต้องการ แบบนี้โอกาสที่เราจะได้ภาพที่เป็นมาสเตอร์พีชก็คงไม่มี อย่างมากก็จะได้ภาพกลาง ๆ ที่อาจจะไม่แย่มากแต่ก็จะไม่มีทางโดดเด่น ว่าไปแล้ว ในตลาดหุ้นไทย เรายังไม่เคยมี “ผู้จัดการการลงทุนจริง ๆ” ที่เป็นคนเลือกหุ้นลงทุนที่มีชื่อเสียงเลย ผู้จัดการบริษัทจัดการการลงทุนหรือ “หัวหน้าผู้จัดการการลงทุน” ที่เปิดตัวต่อสาธารณชนนั้น เกือบทั้งหมดดูเหมือนว่าจะเป็น “หนึ่งในคณะกรรมการการลงทุน” ที่ไม่ได้ไปสัมผัสกับการวิเคราะห์หุ้นจริง ๆ พูดง่าย ๆ บ้านเราไม่มี ปีเตอร์ ลินช์ หรือ บิล มิลเลอร์ เมืองไทย และเราก็ไม่เคยมีกองทุนที่โดดเด่นที่คนต้องเอาเงินมาลงทุนอย่างกองทุน ไฟเดลลิตี้

แน่นอนว่าในบางช่วงบางตอน กองทุนบางกองของบางบริษัทโดยเฉพาะที่เป็นกองเล็ก ๆ อาจจะมีผลงานการลงทุนโดดเด่นมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปและกองทุนอาจจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ผลงานการลงทุนก็มักจะกลับมาสู่สภาวะปกติหรือแย่ลงทำให้คนที่เข้าไปลงทุนหลัง จากเห็นผลงานที่ดีเยี่ยมต้องขาดทุนหรือผิดหวัง นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ในทางวิชาการเราเรียกว่าผลงานที่โดดเด่นนั้นเป็นเรื่อง “บังเอิญ” ไม่ได้เกี่ยวกับฝีมืออะไรทั้งสิ้น ถ้าจะเป็นเรื่องของฝีมือแล้ว กองทุนควรจะต้องมีผลตอบแทนที่ดีเหนือกว่าตลาดอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจว่ายังไม่มีกองทุนไหนทำได้

ระบบการจ่ายผลตอบแทนเองก็ไม่เอื้อให้เกิด “มืออาชีพ” ที่โดดเด่นในการบริหารการลงทุน เพราะคนที่มีฝีมือดีจริง ๆ และบริหารจนกองทุนได้กำไรมาก ๆ แต่ตนเองก็คงไม่ได้ผลตอบแทนมากมายอะไรนักอย่างมากก็อาจได้โบนัสเพิ่มอีกสัก เดือนสองเดือน ดังนั้น ถ้าเขาเก่งจริง เขาก็น่าจะออกไปบริหารเงินของตนเองจะดีกว่า นอกจากนั้น ระบบการบริหารแบบบริษัทจัดการการลงทุนนั้น ผมคิดว่าจะสร้างนักลงทุนฝีมือเยี่ยมได้ยาก ทั้งนี้เพราะทุกอย่างดูเหมือนมีกฏเกณฑ์ที่ไม่เอื้ออำนวยให้สามารถตัดสินใจ ได้อย่างเป็นอิสระจริง ๆ ตัวอย่างง่าย ๆ ก็เรื่องของหุ้นที่ลงทุนได้นั้น ข้อห้ามอาจจะรวมถึง สภาพคล่องของหุ้น บริษัทจะต้องมีกำไร ขนาดของบริษัทที่ต้องไม่เล็ก เป็นต้น เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ผู้บริหารกองทุนจะทำอะไรที่ “เสี่ยง” ไม่ได้ แม้ว่าจะเป็น “ความเสี่ยงที่ไตร่ตรองดีแล้ว” ว่าที่จริงเขาก็ไม่รู้จะเสี่ยงไปทำไม เพราะถ้าเสี่ยงแล้วสำเร็จก็ได้แต่คำชม แต่ถ้าพลาดอาจจะตกงานหรือโดนสอบสวน

ผลจากความล้มเหลวในการสร้างนักบริหารการลงทุนมืออาชีพในตลาดหุ้นไทยนั้น ค่อนข้างจะเห็นได้ชัดจากตัวเลขจำนวนเม็ดเงินลงทุนในหุ้นของบริษัทจัดการการ ลงทุน กองทุนหุ้นที่มีการจัดการหรือเลือกหุ้นนั้นมีขนาดเล็กมากอย่างไม่น่าเชื่อ กองที่ใหญ่ที่สุดนั้นส่วนใหญ่ก็มีเม็ดเงินในพอร์ตเพียงระดับพันล้านบาทต้น ๆ เทียบกับนักลงทุนส่วนบุคคลรายใหญ่หลายรายในตลาดแล้วดูเหมือนว่ากองทุนจะไม่ ใหญ่กว่าเลย ในขณะที่ตลาดหุ้นอย่างในอเมริกานั้น แม้แต่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่ถือว่าเป็นคนที่ลงทุนในหุ้นที่ใหญ่ที่สุด แต่ถ้าเทียบกับกองทุนแล้วก็เล็กนิดเดียว ดังนั้น อิทธิพลและอำนาจการซื้อขายหุ้นของกองทุนมีมหาศาลเมื่อเทียบกับส่วนบุคคล ขณะที่ในตลาดหุ้นไทยนั้น อิทธิพลของนักลงทุนส่วนบุคคลนั้นน่าจะเหนือกว่ากองทุนรวมมาก

สุดท้ายก็คือคำแนะนำของผมสำหรับคนที่อยากลงทุนในกองทุนรวมหุ้น คำแนะนำก็คือ ข้อแรก พยายามใช้ประโยชน์จากการที่รัฐให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยเฉพาะการลงทุน ซื้อ LTF และ RMF เพราะนี่จะช่วยให้เรามีแต้มต่อในการลงทุนแม้ว่าฝีมือในการบริหารกองทุนจะไม่ ดีนักเราก็น่าจะได้ผลตอบแทนคุ้มค่า ข้อสอง ถ้าจะลงทุนในกองทุนรวมหุ้น ควรลงทุนในกองทุนหุ้นที่อิงดัชนีซึ่งไม่ต้องอาศัยฝีมือผู้บริหาร และควรเลือกผู้จัดการที่คิดค่าธรรมเนียมต่ำที่สุด ข้อสาม อย่าพยายามตามหากองทุนที่กำลัง “ร้อน” ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหุ้นประเภทไหน เพราะจับเข้าไปก็คงถูก “ลวก” มากกว่า

และสุดท้าย ถ้าเรามีความรู้บ้างและมีเงินลงทุนระดับหนึ่งเช่นหนึ่งล้านบาทขึ้นไป เราสามารถสร้างพอร์ตลงทุนส่วนตัวที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนคล้าย ๆ กับกองทุนรวมหรือตลาดหลักทรัพย์แต่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการบริหารปีละ ประมาณ 2% ได้ไม่ยาก เหตุผลก็คือ เราสามารถกระจายการถือหุ้นได้ค่อนข้างกว้างขวางเป็นสิบ ๆ ตัวโดยที่เม็ดเงินลงทุนและต้นทุนในการซื้อขายหุ้นแต่ละตัวนั้นค่อนข้างจะ ต่ำ ดังนั้น เราสามารถเลียนแบบกองทุนรวมได้ไม่ยาก ไม่เหมือนการลงทุนในอเมริกาที่คุณไม่สามารถซื้อหุ้นได้มากตัวถ้าพอร์ตคุณ เล็ก

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘