บทเรียนหลังวิกฤติ

ถึงขณะนี้เราน่าจะพอพูดได้แล้วว่าวิกฤติเศรษฐกิจของปี 2551 ได้สิ้นสุดลงแล้วแม้ว่าความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะตกกลับลงไปอีกครั้งหนึ่งก็ ยังคงมีอยู่ แต่อย่างน้อยผมคิดว่าเศรษฐกิจคงไม่เลวร้ายลงไปต่ำกว่าเดิม อย่างมากเศรษฐกิจก็อาจจะนิ่งและหงอยเหงาไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น ผมจึงอยากจะทบทวนดูว่าเราได้รับบทเรียนอะไรบ้างจากวิกฤติเศรษฐกิจและตลาด หุ้นที่เลวร้ายมากครั้งนี้

ข้อแรกก็คือ ความจริงที่ยังไม่เสื่อมคลายที่ว่า ในวิกฤตินั้นมีโอกาสอยู่เสมอ และครั้งนี้ก็ไม่มีข้อยกเว้น ว่าที่จริง ในวิกฤติครั้งนี้มีโอกาสมากมายในการทำกำไรจากตลาดหุ้น เพราะฐานะและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากยังดีอยู่เป็นปกติใน ขณะที่ราคาหุ้นลดลงมาเกือบครึ่งหนึ่ง ดังนั้น คนที่กล้าและมั่นใจในพื้นฐานของกิจการและเข้าไปช้อนซื้อหุ้นไว้จึงได้กำไร มหาศาลภายในระยะเวลาอันสั้น

ข้อสอง บริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพดีเยี่ยมเข้าข่ายเป็น Super Stock นั้น มักจะสามารถทนทานต่อภาวะเลวร้ายทางเศรษฐกิจได้ ผลการดำเนินงานมักจะไม่ลดลง บางบริษัทยังเติบโตได้ ในเวลาเดียวกัน ฐานะทางการตลาดกลับแข็งแกร่งขึ้น เช่นเดียวกับฐานะทางการเงินของบริษัทที่ยังมั่นคงเช่นเดิม และด้วยเหตุนั้น ทำให้ราคาหุ้นมีการปรับตัวลดลงน้อย บางตัวหุ้นกลับมีราคาสูงขึ้นในขณะที่หุ้นโดยทั่วไปตกลงมาอย่างหนัก บทเรียนนี้สอนให้รู้ว่า ถ้ามีหุ้นของกิจการที่ดีเยี่ยมแล้ว ความจำเป็นที่จะต้องขายอย่างรีบด่วนนั้นมีน้อย

ข้อสาม วิกฤติเศรษฐกิจนั้น แม้ว่าจะส่งผลกระทบที่เลวร้ายและรุนแรงแต่มันอยู่ไม่นาน วิกฤติครั้งนี้พูดกันว่ารุนแรงที่สุดนับจากปี 1929 หรือเกือบ 80 ปีมาแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เศรษฐกิจหดตัวติดต่อกันเพียง 4 ไตรมาศ ซึ่งสำหรับนักลงทุนระยะยาวอย่าง VI จำนวนมากแล้ว 4 ไตรมาศหรือ หนึ่งปีนั้น เป็นช่วงเวลาที่สั้นมากเมื่อเทียบกับการลงทุน “ตลอดชีวิต” ที่มักยาวเป็นหลายสิบปี ดังนั้น บทเรียนของวิกฤติก็คือ “เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป” อย่ากังวลกับมันมากเกินไป

ข้อสี่ คนส่วนใหญ่ รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์หุ้นไม่สามารถคาดการณ์ได้ถูกต้องว่า ดัชนีหุ้นขึ้นถึงยอดดอยหรือตกถึงพื้นแล้ว พวกเขาจะรู้ก็ต่อเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น คำว่า “ยังไม่ต้องรีบซื้อหุ้นเพราะยังไม่เห็นสัญญาณอะไรว่าเศรษฐกิจจะฟื้น” จึงเป็นคำที่ไม่มีความหมายอะไร เช่นเดียวกับ คำว่า “เศรษฐกิจจะฟื้นเป็นรูปตัว W ดังนั้น ให้ขายเดือนมิถุนายนแล้วรอไปซื้ออีกครั้งในช่วงปลายปี” กลยุทธ์ที่ดีกว่าก็คือ ถ้าพบหุ้นที่มีราคาถูกมาก ๆ มี Margin Of Safety สูง และธุรกิจจะต้องฟื้นกลับมาเป็นปกติค่อนข้างแน่หลังจากวิกฤติผ่านพ้นไป ก็เข้าไปซื้อหุ้นเก็บไว้ แล้วรอจนราคาหุ้นปรับขึ้นไปสูงจนเป็นที่น่าพอใจแล้วค่อยขายจะดีกว่า

ข้อห้า หลังจากที่หุ้นตกลงไปมากเนื่องจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น หุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้นอย่างแรงภายในระยะเวลาไม่นาน แต่ว่าการปรับตัวขึ้นจะไม่ถึงระดับเดิมก่อนที่มันจะตกลงมา ในช่วงที่หุ้นได้ปรับตัวขึ้นไปแล้ว ความเสี่ยงที่ดัชนีจะปรับลงมาอย่างแรงอีกครั้งหนึ่งนั้นจะมีสูง อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้ว่าดัชนีระดับไหนจะเป็นจุดปรับตัว และเมื่อปรับตัวลงมาจะปรับลงมาเท่าไร เพราะนั่นมักจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ดังนั้น จงเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรับกับการปรับตัวแรงหลังจากที่หุ้นขึ้นไปมากหลัง วิกฤติ

ข้อหก ในยามที่เกิดวิกฤติขึ้น นักลงทุนที่ “เจ็บหนัก” ที่สุด ก็คือคนที่ลงทุนซื้อหุ้นด้วยมาร์จินโดยเฉพาะอย่างยิ่งลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก เพราะในยามที่เกิดวิกฤติ ราคาหุ้นจะลดลงมาเร็วมากจนทำให้หลักประกันที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับหนี้มาร์จิ นทำให้ถูกโบรกเกอร์บังคับขายหุ้นในตลาดซึ่งทำให้ราคาหุ้นลดลงไปอีก กระบวนการนี้ทำให้เราต้องขายหุ้นในเวลาที่เลวร้ายและมักได้ราคาต่ำที่สุด ตรงกันข้าม หลังจากที่ดัชนีตกลงไปต่ำมากเนื่องจากภาวะวิกฤติ การลงทุนซื้อหุ้นด้วยมาร์จิน โดยเฉพาะที่เป็นการซื้อหุ้นคุณภาพดีในราคาที่ต่ำมากนั้นจะมีอันตรายน้อย โอกาสที่จะถูกบังคับขายมีน้อยในขณะที่หุ้นมักให้ปันผลที่คุ้มค่ากับดอกเบี้ย ของหนี้มาร์จิน เหนือสิ่งอื่นใด การลงทุนในยามที่ดัชนีหุ้นเลวร้ายมาก ๆ นั้น มักให้ผลที่คุ้มค่าเมื่อเวลาผ่านไป

สุดท้ายสำหรับบทเรียนหลังวิกฤติก็คือ วิกฤตินั้นเกิดขึ้นบ่อยพอสมควร การเกิดขึ้นแต่ละครั้งมักกระทบกับพอร์ตโฟลิโอรุนแรงและทำลายผลตอบแทนระยะยาว ของ VI ที่มักจะถือหุ้นตลอดเวลาหรือเกือบตลอดเวลา ดังนั้น เราควรที่จะต้องทบทวนดูอยู่เสมอว่าหุ้นที่ประกอบเป็นพอร์ตของเรานั้น มีความแข็งแกร่งสามารถทนทานต่อภาวะวิกฤติได้มากน้อยแค่ไหน ความเห็นของผมก็คือ พอร์ตหุ้นที่ดีนั้น จะต้องรักษามูลค่าของมันได้ค่อนข้างมาก นั่นคือ เมื่อเกิดวิกฤติขึ้น มูลค่าของมันไม่ควรจะตกลงไปเกิน 30% ในเกือบจะทุกสถานการณ์ และถ้าเรามีพอร์ตแบบนี้แล้ว ในระยะยาวเราจะปลอดภัยและพอร์ตจะเติบโตไปได้ต่อเนื่องยาวนาน ผลตอบแทนเฉลี่ยจะดีกว่าตลาดและอยู่ในระดับที่น่าพอใจในขณะที่ความเสี่ยงจะ น้อย และถ้าเราทำไปถึงจุดหนึ่งและผ่านภาวะวิกฤติมาหลายครั้งเราจะไม่รู้สึกวิตก กับภาวะวิกฤติเลย ว่าที่จริง บางครั้งเราอาจจะรู้สึกด้วยว่า วิกฤตินั้นบางทีก็อาจจะเป็นโอกาสที่ดีในการทำกำไรด้วยซ้ำ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘