สไตล์ของนักลงทุน

การลงทุนนั้นน่าจะเป็นวิทยาศาสตร์อยู่สัก 30% อีก 70% เป็นเรื่องของศิลปะ ดังนั้น นักลงทุนที่ลงทุนมานานหรือคนที่มุ่งมั่นฝึกฝนมาเป็นอย่างดีจึงมักจะมี “สไตล์” เป็นของตนเอง

สไตล์นั้น ผมคิดว่าส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเนื่องจากประสบการณ์ของนักลงทุน นั่นคือ ตั้งแต่เริ่มเข้ามาซื้อขายหุ้น พวกเขาก็จะพยายามเรียนรู้ว่าวิธีการหรือเท็คนิคแบบไหนที่เขาใช้แล้วมักจะทำ ให้เขาได้กำไร เท็คนิคแบบไหนหรือการซื้อขายหุ้นแบบไหนที่ทำแล้วมักจะขาดทุน ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งจะถูก “บันทึก” เอาไว้ในสมองซึ่งจะสะสมไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดเขาก็มักจะสรุปว่า มีวิธีการลงทุนแบบหนึ่งที่สร้างผลลัพธ์การลงทุนที่ดีที่สุด และหลังจากนั้น เขาก็จะใช้มันเป็นหลัก และนี่คือ “สไตล์การลงทุน” ของเขา

ในระดับของ “เซียน” ระดับโลกทุกคนนั้น แน่นอนว่าแต่ละคนจะต้องมีสไตล์การลงทุนที่ชัดเจน เริ่มตั้งแต่ เบน เกรแฮม บิดาแห่งการลงทุนแบบ Value Investment ซึ่งเน้นการลงทุนแบบ Quantitative หรือเน้นดูตัวเลขข้อมูลทางการเงินเป็นหลัก โดยไม่ค่อยสนใจข้อมูลด้านคุณภาพซึ่งเขามองว่าวัดไม่ได้และอาจเป็นภาพลวงตา ที่สร้างขึ้นโดยผู้บริหารของบริษัท หุ้นที่เขาลงทุนนั้นจะเป็นหุ้นที่มีราคาถูกมากโดยเฉพาะที่วัดจากทรัพย์สิน ของบริษัท การลงทุนของ เบน เกรแฮม นั้น จะเน้นในด้านของความปลอดภัยเป็นพิเศษ โดยหุ้นที่ลงทุนจะต้องมี “Margin Of Safety” สูง และพอร์ตโฟลิโอของเขาจะมีการกระจายการถือหุ้นจำนวนมาก เช่นเดียวกับการถือพันธบัตรในสัดส่วนที่สูง

วอเร็น บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่มีชื่อเสียงและรวยที่สุดในโลกนั้น มีสไตล์ที่โดดเด่นอยู่ที่การถือหุ้นของกิจการที่ “ดีที่สุด” ในแง่ของธุรกิจ และเขาชอบที่จะถือมันในสัดส่วนที่มาก บ่อยครั้งเขาถือมันร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นเจ้าของคนเดียว เขาถือหุ้นน้อยตัวและไม่ค่อยขายหุ้นหรือกิจการเหล่านั้นออกไป สไตล์ของวอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น ถ้าจะว่าไป เขาไม่ได้ลงทุนใน “หุ้น” แต่เขาลงทุนใน “ธุรกิจ”

ปีเตอร์ ลินช์ อดีตผู้บริหารกองทุนรวมที่มีสถิติการทำผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมและมีชื่อเสียง ที่สุดคนหนึ่งของโลกนั้น มีสไตล์การลงทุนที่ ซื้อเกือบทุกอย่างที่วิเคราะห์แล้วพบว่าดี และ/หรือ ถูก โดยที่เขาจะมีวิธีการจัดหุ้นเป็นกลุ่ม ๆ ที่จะทำให้ง่ายต่อการวิเคราะห์ถึงคุณสมบัติของกิจการและหาจังหวะในการเข้า ซื้อและขายหุ้น

Value Investor ในบ้านเรานั้น หลังจากผ่านกระบวนการเรียนรู้ในการซื้อขายหุ้นมาหลายปีจนถึงปัจจุบันก็เริ่ม มี “สไตล์” เป็นของตนเอง จากการสังเกตของผม Value Investor รุ่นบุกเบิกหลายคนซึ่งมักจะมีอายุมากหน่อยก็มักจะเน้นลงทุนในหุ้นที่มีราคา ถูก มีผลกำไรและการจ่ายปันผลที่สม่ำเสมอและอยู่ในระดับที่พอใช้ได้ กิจการมักเป็นกิจการที่ไม่หวือหวาโตเร็วและไม่ใช่เป็นกิจการ “แห่งอนาคต” และนั่นก็คือสไตล์การลงทุนแบบ VI ในยุคแรก ๆ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่ายังมีคนใช้อยู่มากน้อยแค่ไหนแต่ดูเหมือนว่าคนรุ่นใหม่ ๆ จะไม่สนใจสไตล์การลงทุนในแนวนี้สักเท่าไรเพราะผลตอบแทนที่ผ่านมาดูเหมือนว่า จะไม่ใคร่น่าประทับใจ

สไตล์การลงทุนของ VI ในช่วงเร็ว ๆ นี้มีมากมายหลากหลายมากจนยากที่จะบรรยายหรือเข้าใจได้หมด แต่สไตล์ที่สร้างผลตอบแทนหวือหวาดูเหมือนว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก สาเหตุคงเป็นเพราะว่าช่วงหลายปีที่ผ่านนั้นเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน สูงมากทั้งขาขึ้นและขาลงซึ่งทำให้เกิดกำไร-ขาดทุนที่สูงมากในระยะเวลาอัน สั้น คนที่ทำกำไรได้สูงนั้น แน่นอน ต้อง “ซื้อ” สไตล์ที่เขาคิดว่าทำผลตอบแทนได้ดีมากซึ่งก็มีหลายแบบ

สไตล์หนึ่งที่นิยมกันในช่วงนี้ก็คือ การเล่นหุ้นของกิจการขนาดเล็กที่มี “กำไรดีและกำลังเติบโต” มองจากข้อมูลตัวเลขที่ผ่านมาเร็ว ๆ นี้ หุ้นดังกล่าวอาจจะไม่ใคร่มีสภาพคล่องนักแต่เจ้าของหรือผู้บริหารมีความ ตั้งใจและเอาใจใส่กับราคาหุ้นและพร้อมที่จะนำเสนอข้อมูลดี ๆ ของบริษัท เช่นเดียวกัน กิจการก็มีความกระตือรือร้นที่จะขยายงานหรือหาธุรกิจใหม่ ๆ ทำเพื่อสร้างการเจริญเติบโตต่อไป นักลงทุนที่เล่นหุ้นสไตล์นี้นั้น เมื่อซื้อหุ้นแล้วก็ต้องมีกระบวนการในการ “โฆษณา” หรือเผยแพร่เพื่อชักจูงนักลงทุนคนอื่นให้เห็นถึงคุณสมบัติที่ “ดีเยี่ยม” และซื้อหุ้นตาม ในหลาย ๆ กรณี หุ้นมีราคาเพิ่มขึ้นมากและทำให้นักลงทุนชุดแรก ๆ ที่มองเห็นก่อนสามารถทำกำไรได้อย่างงดงามในระยะเวลาอันสั้น อย่างไรก็ตาม หุ้นหลายตัวหลังจากขึ้นไปแล้ว กลับตกลงมาอย่างหนักจนทำให้คนที่ซื้อทีหลังขาดทุนจำนวนมากเช่นกัน

อีกสไตล์หนึ่งที่ดูเหมือนว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นก็คือ การลงทุนใน “หุ้นวัฏจักร” ซึ่งก็คือการลงทุนในกิจการที่ขายสินค้าที่มีลักษณะแบบสินค้าโภคภัณฑ์ที่มี ราคาขึ้นลงเป็นรอบ ๆ เท็คนิคก็คือ พยายามมองหาหุ้นของกิจการที่กำลังจะเป็น “ขาขึ้น” แต่หุ้นที่สนใจนั้น มักเป็นหุ้นของกิจการขนาดเล็กที่นักวิเคราะห์ไม่สนใจติดตาม ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นไม่ค่อยได้ปรับตัวตามวัฏจักรอย่างรวดเร็วตามที่ควรเป็น เมื่อพบแล้วก็เข้าซื้อ แล้วก็รอและโปรโมตหุ้นให้เป็นที่สนใจของนักลงทุนอื่น ๆ จนราคาดีดตัวขึ้นเมื่อผลการดำเนินงานที่โดดเด่นได้รับการประกาศออกมา พวกเขาก็มักจะขายเพื่อทำกำไรและมองหาหุ้นวัฏจักรตัวต่อไป

สไตล์สุดท้ายที่เริ่มมีคนยึดถือเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันก็คือการลงทุนใน หุ้น Super Stock ในแบบของ วอเร็น บัฟเฟตต์ แม้ว่ากิจการในตลาดหุ้นไทยนั้นจะมีคุณสมบัติต่ำกว่าในสหรัฐอเมริกามาก แต่แนวที่นักลงทุนใช้ก็คือ ลงทุนเฉพาะในหุ้นกลุ่มที่มีคุณภาพดีที่สุด ในราคาที่ถูกหรือยุติธรรม ซึ่งก็มักเป็นช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงมาก ซื้อแล้วเก็บไว้ค่อนข้างนาน จนราคาปรับตัวขึ้นไปมากแล้วก็ขายและรอซื้อหุ้นตัวอื่นหรือตัวเดิมที่มี คุณภาพสูงและในราคาที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงการลงทุนบางสไตล์ของ VI ที่มีให้เห็นโดดเด่น สไตล์เหล่านั้นอาจจะได้รับความนิยมนานหรือไม่ก็คงขึ้นอยู่กับผลงานการลงทุน ที่นักลงทุนที่ใช้ทำได้ ถ้าสไตล์นั้นสามารถทำผลงานดีเด่นยาวนาน สไตล์นั้นก็น่าจะคงทน แต่หากสไตล์นั้นทำผลงานดีได้เพียงชั่วคราว ในไม่ช้ามันก็จะหมดความนิยมลง ในทางตรงกันข้าม เท็คนิคหรือสไตล์ใหม่ก็จะเกิดขึ้น เป็นเรื่องยากที่นักลงทุนคนหนึ่งจะสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับทุกสถานการณ์ ดังนั้น วิธีการที่ดีกว่าก็คือ หาสไตล์ที่ดีที่สุดในระยะยาวแล้วฝึกฝนจนชำนาญและใช้มันตลอดไป เฉกเช่นเดียวกับ วอเร็น บัฟเฟตต์ หรือ ปีเตอร์ ลินช์ หรือ เบน เกรแฮม ที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จและกลายเป็นตำนานของนักลงทุนของโลก

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘