ความน่าจะเป็น

วิธีคิดเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญมากต่อการที่จะเป็นนักวิเคราะห์ หุ้นแบบ Value Investment ที่ดีก็คือ การคิดคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตแบบที่ใส่ “ความน่าจะเป็น” หรือ Probability เข้าไปด้วย

ลองมาคาดดูสถานการณ์หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราก็จะพบว่ามีเหตุการณ์น้อยมากหรือแทบไม่มีเลยที่มีความแน่นอนร้อย เปอร์เซ็นต์โดยเฉพาะในเรื่องของเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้น แต่เหตุการณ์บางอย่างนั้นมักจะมีความ “แน่นอน” หรือมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงกว่าเหตุการณ์อีกอย่างหนึ่งมาก

โอกาสที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นในวันพรุ่งนี้เป็นเท่าไร? ร้อยเปอร์เซ็นต์! โอกาสที่ฝนจะตกในวันพรุ่งนี้ที่กรุงเทพและที่ถนนรางน้ำเป็นเท่าไร? นักพยากรณ์อากาศอาจจะบอกว่า 80% โดยพิจารณาจากภาพถ่ายของกลุ่มเมฆหนาที่ก่อตัวขึ้นบนท้องฟ้าเหนือกรุงเทพใน วันนี้ แต่ถ้าถามใหม่ว่าฝนจะตกไหมในอีก 7 วันข้างหน้า? คำตอบอาจจะเป็น 50-50 โดยที่นักพยากรณ์ไม่ได้ดูกลุ่มเมฆแต่ดูว่าในช่วงฤดูฝนในประเทศไทยนั้น โอกาสที่ฝนจะตกในแต่ละวันคือ 50%

การพยากรณ์นั้น ดูเหมือนว่าถ้าพยากรณ์ในระยะเวลาสั้น ๆ ในอนาคต โอกาสที่จะพยากรณ์ได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงจะสูงกว่าการพยากรณ์อะไรที่ อยู่ห่างออกไป เหตุผลก็คือ ในการพยากรณ์นั้น เรามักจะมีข้อมูลต่าง ๆ มาสนับสนุนเช่นกลุ่มเมฆที่ปรากฏขึ้น และเมฆนั้นเป็นตัวชี้ว่าในไม่ช้ามันจะกลั่นตัวเป็นฝน

ถามว่าพรุ่งนี้หุ้นจะขึ้นหรือหุ้นจะลง? ข้อมูลที่มีอยู่ก็คือราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นในวันนี้ ทั้งในตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศ นักเล่นหุ้นส่วนใหญ่มักจะเชื่อว่าถ้าวันนี้หุ้นขึ้นแรงและมีปริมาณการซื้อ ขายมาก พรุ่งนี้ดัชนีหุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้น เขาอาจจะบอกว่าพรุ่งนี้หุ้น “น่าจะ” ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าตลาดหุ้นนิวยอร์คเปิดแล้วหุ้นวิ่งขึ้น เพราะเขาเชื่อว่าหุ้นไทยนั้น มักจะปรับตัวขึ้นลงตามหุ้นนิวยอร์ค แต่ถ้าถามต่อไปว่าหุ้นขึ้นแล้วยังไง? เราจะเข้าไปซื้อหรือ? ถ้าซื้อก็แปลว่าเราซื้อแพง แล้ววันต่อไปมันลงเรามิขาดทุนหรือ? ดังนั้น การคาดการณ์แบบนี้แม้ว่าจะถูกแต่ก็ไม่มีประโยชน์ในการที่จะทำให้เราได้กำไร ได้ และนี่ยังไม่ได้รวมถึงค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายที่อาจจะกินกำไรของเราไปอีก

นักลงทุนหลายคนกลัวไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ปี2009 ดังนั้นเขาขายหุ้นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวออกหมดเพราะเขาคิดว่าถ้ามันลามไป มาก ๆ การท่องเที่ยวจะถูกกระทบหนัก คนจะไม่เดินทาง แต่ถามว่าโอกาสที่มันจะลามไปอย่างควบคุมไม่ได้นั้นมีกี่เปอร์เซ็นต์? เขาอาจจะไม่ได้คิด แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือ ราคาหุ้นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอาจจะตกต่ำลงไปมากแล้วจนมันคุ้มค่ามากเมื่อ เทียบกับทรัพย์สินของบริษัท พูดง่าย ๆ ถ้าจะสร้างทรัพย์สินแบบเดียวกัน จะต้องใช้เงินมากกว่าการซื้อหุ้นมาก

ในกรณีดังกล่าว เราลองตั้งคำถามใหม่ว่า โอกาสที่ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่จะยังมีผลต่อการท่องเที่ยวเดินทางในอีก 2-3 ปีข้างหน้านั้นเป็นเท่าไร? คำตอบของเราอาจจะเป็นว่า “น้อยมาก” เหตุผลก็คือ เมื่อถึงเวลานั้น โลกอาจมีวัคซีนที่แพร่หลายแล้ว ไข้หวัดอาจจะหายไปหรือกลายเป็นเหมือนไข้หวัดใหญ่ธรรมดาที่คนส่วนใหญ่มีภูมิ คุ้มกันแล้ว หรือทุกประเทศก็มีการติดเชื้อใกล้เคียงกัน จะอยู่หรือไปที่ไหนก็เหมือนกัน ดังนั้น ผลประกอบการของบริษัทท่องเที่ยวเดินทางก็น่าจะกลับมาเหมือนเดิมในอีก 2-3 ปี และถ้าราคาหุ้นได้ตกลงมามากมายเช่นเหลือเพียงครึ่งเดียว การลงทุนในหุ้นดังกล่าวก็อาจจะมีโอกาสได้กำไร 100% ในเวลา 2-3 ปี ซึ่งคุ้มค่ามากในการลงทุน

ถามว่าวิกฤติเศรษฐกิจนั้น จะฟื้นไหมในช่วงครึ่งปีหลัง? โอกาสอาจจะเป็น 50-50 หรือ 50% ถ้าเราเปลี่ยนคำถามใหม่เป็นว่า โอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นในปีหน้าเป็นเท่าไร? คำตอบอาจจะเป็น 70% โอกาสที่จะฟื้นในอีก 2 ปีข้างหน้าเป็นเท่าไร? คำตอบอาจจะเป็น 80% ถ้า 3 ปี อาจจะเป็น 90% หรือมากกว่า การยืดเวลาทำให้ความแน่นอนหรือความเป็นไปได้สูงขึ้น และถ้าเรามั่นใจมากว่าภายในเวลา 3-4 ปีเศรษฐกิจต้องฟื้นแน่ คำถามต่อไปก็ง่ายขึ้น นั่นคือ บริษัทไหนจะได้ประโยชน์แน่ ๆ และกำไรของบริษัทจะต้องกลับมาอย่างน้อยเท่าเดิมก่อนที่จะเกิดวิกฤติ? หลังจากนั้นก็มาดูว่าราคาหุ้นของบริษัทนั้นตกต่ำลงมาแค่ไหนและราคาควรจะกลับ ไปที่เดิมได้หรือไม่? ทั้งหมดนั้น แน่นอน เป็นการคาดการณ์ แต่ที่สำคัญก็คือ “ความน่าจะเป็น” เป็นเท่าไร ถ้าคำตอบก็คือ สูงมาก เช่น 80-90% แบบนี้ ถ้าเราลงทุนในหุ้นตัวที่ราคาตกลงมาครึ่งหนึ่ง ก็มีโอกาสสูงที่เราจะกำไร 100% ในเวลา 3-4 ปีซึ่งคุ้มค่ามาก

เท็คนิคในการ “ยืดเวลา” เพื่อ “เพิ่มความแน่นอน” ในการพยากรณ์นี้ ดูเหมือนจะขัดแย้งกับสามัญสำนึกปกติของคนที่ว่า “ยิ่งนานยิ่งไม่แน่นอน” เพราะ “ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก” แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าเหตุการณ์หรือสิ่งที่ผมยกมานั้นเป็นเรื่องที่ รุนแรงและไม่ปกติ ซึ่งเรื่องแบบนี้มักจะไม่สามารถอยู่ได้นานมาก “เวลา” จะช่วยรักษาหรือแก้ไขให้มันกลับมาสู่ภาวะปกติ ดังนั้น ถ้าเรา “ทนรอ”ได้ เราก็อยู่ในสถานะที่จะฉกฉวยโอกาสที่เกิดขึ้นเนื่องจากคนส่วนใหญ่ “รอไม่ได้”

สำหรับผมเองนั้น การลงทุนหรือการที่จะซื้อหุ้นตัวไหนนั้น ผมต้องการ “ความแน่นอน” ซึ่งแน่นอน ไม่ใช่โอกาสเกิดขึ้นต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่ผมต้องการความน่าจะเป็นที่ประมาณ70-80% ขึ้นไป และในเรื่องของกิจการหรือหุ้นนั้น การหาความ “แน่นอน” ขนาดนั้นได้ ส่วนใหญ่ผมต้อง “ยืดเวลา” ในการพยากรณ์ออกไปไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีขึ้นไป และคำถามมักจะเป็นว่า บริษัทจะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นหรือไม่ และ ราคาหุ้นในขณะนี้ถูกหรือไม่เมื่อถึงเวลานั้น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘