ชีวิตชีวาของหุ้น

ทุกครั้งที่ผมซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ผมคิดเสมอว่าผมกำลังลงทุนในธุรกิจ ผมไม่ได้ซื้อกระดาษที่เรียกว่า “หุ้น” แผ่นเล็ก ๆ ที่มีราคาขึ้น ๆ ลง ๆ ทุกวัน ธุรกิจนั้นเป็น “ของจริง” ที่มี โรงงานหรือสำนักงาน มีพนักงาน มีระบบการบริหารและข้อมูล มีแหล่งป้อนวัตถุดิบหรือสินค้าเพื่อนำมาขายต่อ และสุดท้ายก็คือ มีร้านหรือช่องทางที่จะขายให้กับ “ลูกค้า” ซึ่งบ่อยครั้งก็คือตัวผมเองและคนในครอบครัว ดังนั้น สำหรับผมแล้ว การลงทุนซื้อขายหุ้นนั้น ผมสามารถ “สัมผัส” กับมันได้ผ่านการได้เห็นร้าน และการใช้สินค้าหรือบริการของบริษัท

นอกจากผมเองที่สามารถ “สัมผัส” กับกิจการได้แล้ว ผมยังมักจะถามความเห็นของภรรยา และโดยเฉพาะลูกสาวที่ยังเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยว่ากิจการที่ผมสนใจ นั้น เขามีความ “รู้สึก” อย่างไรด้วย เหตุผลก็คือ ถ้าผมคิดเอง ความรู้สึกของผมอาจจะผิดเนื่องจากอายุที่มากและอาจจะรู้ข้อมูลที่เป็นตัวเลข มากจนทำให้มีความลำเอียงในความดีเด่นหรือความด้อยของกิจการ ในขณะที่ฐานะและความแข็งแกร่งทางด้านการตลาดนั้น เด็กวัยรุ่นกับผู้หญิงที่ไม่ได้เล่นหุ้นน่าจะรู้ดีที่สุด และต่อไปนี้ก็คือบางประเด็นที่ผมมักใช้ทดสอบว่าหุ้นตัวนั้นมีความน่าสนใจมาก น้อยแค่ไหนจากการ “สัมผัส” โดยที่ประเด็นต่าง ๆ เหล่านั้น ผมจะมองที่หุ้นของกิจการที่มี “อนาคต” และ “มีชีวิตชีวา” มองจากสายตาของ “คนรุ่นใหม่” หรือคนที่สามารถ “ใช้สามัญสำนึกได้โดยไม่ลำเอียง”

ข้อแรกที่เป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือกหุ้นก็คือ ธุรกิจนั้น เรา “ภูมิใจ” ที่จะได้เป็นเจ้าของหรือไม่ หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือ ลูกเรารู้สึกภูมิใจที่จะไปคุยกับเพื่อนฝูงว่าเขาเป็นเจ้าของหรือไม่ ถ้าเขารู้สึกว่ากิจการที่เรากำลังพิจารณาซื้อนั้น เป็นกิจการที่ดูเชยหรือโบราณหรือไม่น่าสนใจ พูดไปเพื่อนฝูงก็ไม่รู้จัก แบบนี้ก็แสดงว่าเป็นกิจการที่ “ไม่เท่” ในสายตาของคนรุ่นใหม่ ตรงกันข้าม ถ้าเขารู้สึกว่าการเป็นเจ้าของกิจการที่กำลังพูดถึงนั้นจะทำให้เขาดูดีมาก เป็นที่อิจฉาของเพื่อนฝูงและน่าจะทำให้เขาดูปอบปูลาร์มาก แบบนี้ก็แสดงว่าหุ้นที่เรากำลังพิจารณานั้นน่าจะเป็นหุ้นที่มีอนาคตที่ดี อย่างน้อยก็ในแง่ของตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์

ข้อสอง ธุรกิจนั้น เป็นสินค้าที่คนรุ่นใหม่กำลังนิยมใช้มากหรือไม่ มันเป็นเทรนด์หรือเป็น “แฟชั่น” หรือไม่ ถ้าคำตอบก็คือ นี่เป็นสินค้าที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยได้ใช้แล้ว คนรุ่นใหม่ไม่สนใจหรือกำลังเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้อย่างอื่น แบบนี้ก็ต้องระวังว่าอนาคตอุตสาหกรรมอาจจะกำลังตกต่ำลง ตรงกันข้าม สินค้าหรือบริการที่คนรุ่นใหม่กำลังนิยมใช้หรือเริ่มเข้ามาใช้บริการมากขึ้น เรื่อย ๆ หรือแสดงความสนใจศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ แบบนี้ก็แสดงว่าสินค้าหรือบริการนั้นกำลังอยู่ในเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ อนาคตและการเติบโตของอุตสาหกรรมน่าจะดีขึ้น

ข้อสาม กิจการมีการเติบโตต่อเนื่องเห็นได้จากการ “เปิดร้านสาขาใหม่ ๆ” เพิ่มขึ้นตลอดทั้งในทำเลที่ใกล้เคียงและในทำเลใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยเปิดมาก่อน ความคึกคักของร้านนั้นสามารถสัมผัสได้อย่างชัดเจนจากร้านที่ “ดูใหม่” และทันสมัย มีสินค้าใหม่ ๆ มากมายที่ลูกค้า ซึ่งอาจจะรวมถึงครอบครัวเราด้วย อยากเข้าไปใช้บริการมากกว่าร้านอื่น ๆ ที่ขายสินค้าคล้ายคลึงกัน

ข้อสี่ เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการแล้วรู้สึก “โดน” มาก คือรู้สึกประทับใจและถ้าเลือกได้ก็จะใช้ของบริษัทนี้ นอกจากนั้นเพื่อน ๆ หรือคนอื่นก็พูดคล้าย ๆ กัน คำว่าประทับใจหรือพอใจนั้นต้องดูโดยรวมและเทียบกับราคาของสินค้าหรือบริการ นั้นด้วย กิจการที่ให้บริการที่ “โดน” นั้น จะสามารถผูกใจให้ลูกค้ามีความภักดีต่อสินค้าหรือบริการซึ่งจะส่งผลต่อผลการ ดำเนินงานของบริษัททั้งในระยะสั้นและยาว

ข้อห้า รู้สึกว่าบริษัทมี “ความมั่นคงมาก” ความรู้สึกนี้มักจะมาจากการที่บริษัท ก่อตั้งมานาน มีระบบการจ้างงานที่ดี ให้เงินเดือนหรือสวัสดิการดี องค์กรจ้างคนที่มีคุณสมบัติสูงเมื่อเทียบกับองค์กรอื่นที่จ้างคนที่มีระดับ การศึกษาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เราไม่ต้องไปดูข้อมูลเหล่านี้ เราเพียงแต่ใช้หรือฟังภรรยาและลูกพูดถึงบริษัทว่ารู้สึกอย่างไรก็พอ

ข้อหก พนักงานของบริษัท “ดูดี” เช่น ขยันและเอาใจใส่กว่าบริษัทคู่แข่ง แต่งตัวดีและหน้าตาดีกว่าบริษัทอื่นในระดับเดียวกัน บางทีผมก็พยายามมองดูว่าพนักงานของบริษัทนี้รู้สึกจะมีความภูมิใจในตัวเอง มากกว่าพนักงานของบริษัทคู่แข่งหรือไม่ ถ้าใช่ก็ถือว่าดี

ข้อเจ็ด กิจการมีการ “เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” เช่นเดิมทีต้องรอนานและพนักงานไม่สนใจลูกค้า กลายเป็นเร็วขึ้นและต้อนรับลูกค้าอย่างดีและมีบริการใหม่ ๆ มาเสนอต่อลูกค้าตลอด ข้อนี้ถ้าเราเห็นหรือรู้สึกได้ตั้งแต่ช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ก็จะเป็นโอกาสในการซื้อหุ้นที่งดงามได้ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนั้น ครอบคลุมกว้างมากและรวมไปถึงกิจการทุกประเภทที่เราจะสามารถสัมผัสได้ ดังนั้น ในแง่ของการลงทุนแล้ว ทุกครั้งที่เราซื้อสินค้าหรือใช้บริการ เราควรจะต้องสังเกตและวิเคราะห์เสมอว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปไหม ดีขึ้นหรือเลวลง มากน้อยแค่ไหน ถ้าคำตอบคือ ดีขึ้นมากละก็ ลองพิจารณาอย่างจริงจังที่จะซื้อหุ้นดู

ผมคงไม่สามารถที่จะพูดได้หมดว่ามีประเด็นอะไรอีกบ้างที่จะเป็นสัญญาณบอก ให้รู้ว่าบริษัทหรือหุ้นตัวนั้นมีความน่าสนใจมองจาก “การสัมผัส” กับสินค้าหรือบริการนั้น แต่สิ่งที่จะเน้นย้ำอีกครั้งก็คือ เราจะต้องเห็นถึงความ “มีชีวิตชีวา” ของตัวกิจการ ซึ่งสิ่งนี้มักจะอิงหรือเกี่ยวข้องกับคนที่มีอายุน้อยและเป็นคนรุ่นใหม่ และก็เช่นเคย การวิเคราะห์โดยการสัมผัสนั้น แม้ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ที่สำคัญมากแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด นักลงทุนยังคงต้องวิเคราะห์ในเรื่องของการเงินและอื่น ๆ รวมถึงราคาหุ้นตามมาตรฐานที่เข้มงวดแบบ VI ด้วย

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘