ประวัติและปฏิปทา พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)



วัดมเหยงคณ์
ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา



๑. ฆราวาสสมัย

ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขต ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ผู้คนในถิ่นนั้นจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี กับเรือนแพหลังหนึ่งซึ่งจอดอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เป็นที่ทราบกันว่า เจ้าของเรือนแพหลังนี้ คือ สามี-ภรรยา ผู้ใจบุญ นามว่า “นายบัวขาว-นางมณี เพ็งอาทิตย์” ผู้ให้กำเนิดเด็กชายสุรศักดิ์ หรือ “พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรสี” ประทีปธรรมนำจิตใจ ของคณะศิษย์สุปฏิปันโน ในปัจจุบัน

กาพย์ฉบัง ๑๖

สามธันวามาดล
ศุภมงคล
อุบัติบังเกิดกุมาร
ห้าค่ำวันจันทร์กล่าวขาน

เดือนอ้ายประมาณ
ปีเถาะเก้าสี่ผ่านมา
กล่าวฝ่ายบิดามารดา
ยินดีนักหนา

ให้ชื่อ “สุรศักดิ์” เฉิดฉาย
พี่น้องหญิงชายร่วมครรภ์ ห้าคนเท่านั้น
ที่สามเป็นชายชาตรี
บิดามารดาปรานี

ได้เป็นศักดิ์ศรี
“เพ็งอาทิตย์” ตระกูลวงศ์
ท่านมีเรือยนต์รับส่ง
หลักฐานมั่นคง

ทั้งเรือบรรทุกปูนหิน
เรือกสวนไร่นาทำกิน
ไม่รู้หมดสิ้น
ให้เช่าตามเค้ากล่าวมา

เมื่อ เด็กชายสุรศักดิ์ เพ็งอาทิตย์ เจริญวัยขึ้นก็ได้เข้ารับการศึกษาทั้งในระดับประถม และมัธยมศึกษาที่โรงเรียนนครหลวงวิทยาคาร โรงเรียนนครหลวงพิบูลย์ประเสริฐวิทย์ และโรงเรียนอุดมรัชวิทยา ในเขตอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเด็กชายสุรศักดิ์เป็นนักเรียนที่เอาใจใส่การ เล่าเรียนเป็นอย่างดี มักได้รับคำชมเชยจากครูที่ทำการสอนอยู่เสมอ แต่จะด้วยวิบากกรรม หรือมหากุศลบันดาลให้เป็นไป ก็สุดจะคาดเดาได้ จึงทำให้เด็กชายสุรศักดิ์ เกิดประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บร้ายแรงถึงขั้นต้องหยุดพักการเรียนไปช่วงหนึ่ง

วิชชุมมาลา ฉันท์ ๘

ลำดับต่อไป เป็นวัยเล่าเรียน
มานะพากเพียร เป็นมอสอสอง
เกิดอุบัติเหตุ เภทภัยเข้าครอง
เจ็บข้อเท้าต้อง ผ่าตัดเยียวยา
รักษาสังขาร เนิ่นนานผ่านไป
จะเรียนต่อไซร้ ไม่สมอุรา
ประกอบอาชีพ ช่วยท่านบิดา
เดินเรือต่อมา ประมาณเจ็ดปี
เบื่อหน่ายเต็มทน ต้นหนเดินเรือ
อันตรายมากเหลือ เสี่ยงภัยมากมี
สายน้ำคลื่นลม ขื่นขมฤดี
อันอาชีพนี้ เลิกไปขายเรือ
เมื่อเป็นต้นหน ฝึกฝนเรียนไป
ศึกษาผู้ใหญ่ ท่านไม่รู้เบื่อ
จบมอสอสาม งดงามอะเคื้อ
ประโยชน์จุนเจือ เรียนต่อช่างยนต์
ช่างเชื่อมโลหะ ไม่ละเลยไป
เล่าเรียนสมใจ กระทั่งช่างกล
ย่างยี่สิบสี่ เบื่อหนี้ต้นหน
บิดาของตน ขอให้บวชเรียน
มารดาบิดา เลี้ยงมาเหนื่อยยาก
เมื่อท่านออกปาก จึงได้พากเพียร
ทดแทนพระคุณ เกื้อหนุนจำเนียร
จึงได้บวชเรียน ด้วยจิตศรัทธา


๒. สู่ร่มกาสาวพัสตร์

เมื่อ ได้ตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์แล้ว โยมบิดา-โยมมารดา จึงได้จัดพิธีอุปสมบทให้ เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๑๘ ณ วัดพร้าวโสภณาราม ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี ท่านพระครูอดุลธรรมประกาศเป็นพระอุปัชฌาจารย์ พระอธิการป่วน โสภโณ เป็นพระกรรมวาจารย์ พระครูสำเริง เป็นพระอนุสาวณาจารย์ ได้รับฉายาว่า เขมรํสี (ประทีปธรรมนำความสงบ และหลุดพ้น)

โครงสี่สุภาพ

ท่านสุรศักดิ์จึงได้ บรรพชา
เขมรังสีฉายา เลิศแล้ว
วัดพร้าวโสภณา รามแห่ง นั้นนา
ถิ่นเกิดดูเพริศแพร้ว ยิ่งล้ำ อำรุง
จิตมุ่งจักไขว่คว้า หาธรรม
ตัดกิเลสสงบงำ ผ่องพ้น
เคร่งครัดวินัย สำ คัญยิ่ง นาพ่อ
เป็นแบบอย่างเลิศล้น เจิดจ้าคณาสงฆ์
จำนงจักใคร่รู้ กรรมฐาน
อบรมวิปัสสนาจารย์ ครบถ้วน
ประสบท่านผู้ชาญ ปฏิบัติ ธรรมนา
ทรงพระคุณเลิศล้วน ก่อให้ศรัทธา

ต่อ มาท่านได้ลองไปปฏิบัติกรรมฐาน ณ สำนักวิปัสสนานครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยการแนะนำจากญาติฝ่ายโยมบิดา ทำให้ท่านได้ประจักษ์ถึงพุทธดำรัส ที่ว่า สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ รสพระธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง

ในช่วงเวลานั้นท่านได้พบกับความสงบ ร่มเย็นแท้จริงของชีวิต และรู้สึกลึกซึ้งในคุณค่าของพระธรรมมากยิ่งขึ้น จนทำให้เปลี่ยนความตั้งใจจากเดิม ที่คิดว่าจะบวชเพียงพรรษาเดียว เพื่อทดแทนคุณบิดามารดา เป็นตั้งมั่นที่จะอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ต่อไป เพื่อค้นคว้าศึกษาหลักธรรมให้แตกฉานยิ่งขึ้น

โครงสี่สุภาพ

สังวรสมาธิวัตรนั้น คือนาม
พระผู้ทรงคุณความ อะเคื้อ
บารมีหาโลกสาม ฤาเทียบ
เมตตาพระก่อเกื้อ ศิษย์ล้วนระลึกคุณ

กาล ต่อมาท่านได้มีโอกาสเข้ากราบนมัสการ พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน แห่งวัดเพลงวิปัสสนา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ท่านรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาของท่านพระครู รูปนี้ยิ่งนัก


๓. ศึกษาพระอภิธรรมนำชีวิต

ท่าน พระครูสังวรสมาธิวัตร ได้เมตตารับพระภิกษุสุรศักดิ์ไว้เป็นศิษย์ ทั้งยังได้แนะนำให้เข้ารับการอบรมในสำนักปฏิบัติกรรมฐาน ณ สำนักวัดเพลงวิปัสสนา จนมีศรัทธาแรงกล้าใคร่ที่จะศึกษาในพระอภิธรรมคัมภีร์ จึงได้ไปสมัครเรียนที่อภิธรรมโชติกวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ กรุงเทพมหานคร โดยเรียนที่ระเบียงวิหารคต และ ณ ที่นี้เอง พระภิกษุสุรศักดิ์ ก็ได้ใช้ความเพียรในการศึกษาพระอภิธรรมคัมภีร์จนมีความรู้แตกฉาน สามารถสอบได้คะแนนสูงสุดเป็นที่หนึ่งของประเทศ จึงได้รับความไว้วางใจ แต่งตั้งให้เป็นครูสอนพระอภิธรรม ซึ่งในขณะนั้นท่านมีอายุพรรษาเพียง ๓ พรรษาเท่านั้น แต่ต้องเป็นทั้งครูสอน และนักเรียนศึกษาในชั้นสูงต่อไปด้วย

สำหรับ ครูที่ถ่ายทอดวิชาพระอภิธรรม ที่พระภิกษุสุรศักดิ์ มีความประทับใจในวิธีการสอนเป็นอันมากก็คือ ท่านพระครูธรรมสุมนต์นนฺทิโก เจ้าอาวาสวัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ พระภิกษุสุรศักดิ์ได้ศึกษาหาความรู้จากครูบาอาจารย์ต่างๆ และค้นคว้าศึกษาในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งหาโอกาสออกไปสู่ความวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกฝนปฏิบัติในพระธรรมกรรมฐานอยู่เสมอเป็นนิจ และนั่นคือการสั่งสมปัญญาบารมีไว้เป็นปัจจัย ในการเผยแพร่พระพุทธธรรม เป็นผลให้กาลต่อมาได้บังเกิดพระสุปฏิปันโน ผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์ยิ่ง อีกรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนาซึ่งฉายานามว่า “เขมรสี ภิกขุ”

๔. “เขมรํสี” ประทีปธรรมนำจิตใจ

โคลงสี่สุภาพ

เกิดผลได้รับใช้ พระศาสนา
เผยแผ่พระธรรมา มากแล้ว
อบรมธรรมหลายครา ก่อเกิด กุศลเอย
อุปสรรคคลายคลาดแคล้ว หลีกพ้นภัยพาล
คิดการตั้งสำนัก ปฏิบัติ
สืบเสาะมาพบวัด ที่นี่
ยังเป็นป่ารกชัฏ สงบเงียบ ดีเฮย
สัปปายะชวนชี้ หักร้างถางพง

ณ ที่นี้ คือจุดเริ่มต้นของสำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์ ซึ่งแต่เดิมเป็นอาณาบริเวณของวัดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ หรือเจ้าสามพระยาได้ทรงสร้างไว้เมื่อปี พ.ศ.๑๙๘๑ ซึ่งในปัจจุบันวัดนี้เป็นวัดร้างตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลหันตรา (ทุ่งทหารกล้า) อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีสภาพเสื่อมโทรม ลงเป็นอันมาก กรมศิลปากรได้ขึ้นบัญชีไว้ เป็นโบราณสถานแห่งชาติ และเป็นมรดกโลกที่ล้ำค่าอีกแห่งหนึ่ง

มเหยงค์เป็นวัดกษัตริย์สร้าง เคยรุ่งเรืองรางชางมาก่อนเก่า
เจ้าสามพระยาทรงสร้างไว้ใหญ่ไม่เบา อนุสรณ์เชษฐาเจ้าสองพระองค์
อุโบสถแลวิไลใหญ่กว้าง เจดีย์ช้างล้อมอยู่ดูระหง
กำแพงล้อมสองชั้นเห็นมั่นคง ฉนวนตรงเข้าโบสถ์ปรากฏมี

ครั้นเวลาล่วงมาช้านาน วัดทรุดโทรมตามกาลเศร้าเสื่อมศรี
จนพระเจ้าท้ายสระโปรดปราณี เร่งเร็วรี่บูรณะวัดด้วยศรัทธา
อุโบสถพระเจดีย์ช้างล้อม ทะนุถนอมบำรุงไว้ใฝ่รักษา
ทั้งเจดีย์ทรงระฆังสะพรั่งตา มีคุณค่าซ่อมแซมไว้ให้ถาวร

ทรงส่งเสริมการศึกษาของหมู่สงฆ์ มุ่งดำรงปฏิบัติธรรมให้พร่ำสอน
เป็นอรัญญวาสีอยู่นอกพระนคร ขึ้นชื่อลือขจรแต่นั้นมา
ปัจจุบันนี้ปรักหักพัง สุดที่จะยับยั้งอย่ากังขา
สิ่งใดถือกำเนิดเกิดมา ตั้งอยู่ได้ไม่ช้าก็ดับลง

พุทโธวาทขององค์สมเด็จพระศาสดา น้อมปฏิบัติบูชาค่าสูงส่ง
ยึดพระธรรมมั่นไว้ให้ยืนยง รู้ละวางว่างลงคงนิพพาน
พระคุณเจ้าเขมรังสีชิโนรส ธุดงค์มาปักกลดตามกล่าวขาน
เห็นวัดร้างสัปปายะคิดกะการ ตั้งสำนักสงฆ์ด้วยเชี่ยวชาญทางธรรม
บุกเบิกหักร้างถางป่าชัฏ น้อมนำปฏิบัตินานฉนำ
ญาติโยมศรัทธามาประจำ บวชเนกขัมม์ปฏิบัติอยู่อัตรา

ด้วย ปณิธานอันแน่วแน่ของท่านพระอาจารย์สุรศักดิ์ ที่มุ่งหวังจะมีส่วนช่วยในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ผสมผสานกับแรงศรัทธาของญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย จึงทำให้บริเวณโดยรอบโบราณสถานวัดมเหยงคณ์ ที่เคยเป็นป่าเปลี่ยว รกร้างมานาน ได้กลับกลายเป็นสำนักปฏิบัติกรรมฐานที่สงบร่มรื่นในระยะเวลาไม่กี่ปี

ยิ่ง นานวัน ก็ยิ่งมีผู้เลื่อมใสศรัทธาเข้ามาบำเพ็ญทาน รักษาศีล และปฏิบัติสมาธิภาวนาเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ศาลาปฏิบัติธรรมเดิม ที่สร้างด้วยไม้ไผ่หลังคามุงจาก คับแคบลงไปมาก จำเป็นต้องสร้างศาลาหลังใหม่ที่ถาวรและ กว้างขวางเพื่อรองรับญาติโยม ศาลาปฏิบัติธรรมหลังใหม่นี้ก็คือ “ศาลาเขมรังสี”

ด้วยเดชะผลทานบารมี ศีลภาวนานี้ดีนักหนา
เชิญชวนพุทธบริษัทผู้ศรัทธา สร้างศาลาค่าอักโขดูโอฬาร
ก่อประโยชน์บำเพ็ญทานการกุศล ใช้อบรมเยาวชนทุกถิ่นฐาน
ปลูกศรัทธาขัดเกลาจิตคิดกอปรการ สืบพุทธศาสน์ยืนนานชั่วกัลป์
พระคุณเจ้าท่านถนัดจัดสั่งสอน ขจายขจรกว้างไกลไปนักหนา
ส่งวิทยุแพร่ธรรมนำปัญญา มุ่งสอนวิปัสสนาสาธุชน
วันที่เก้าสิงหาคมปีสามห้า ทำบุญฉลองศาลามหากุศล
ถวายสังฆทานพันเก้าองค์เกิดมงคล อุทิศถวายพระราชกุศลพระแม่เมือง

ด้วย ปฏิปทาอันดีงามของท่านพระอาจารย์สุรศักดิ์ จึงทำให้พระอาจารย์ของท่านคือท่านพระครูสังวรสมาธิวัตรได้มีบัญชา ให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดคูบางหลวงอนุกิจวิธูร ตำบลคูบางหลวง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ในปี พ.ศ.๒๕๒๙ โดยทำหน้าที่ควบคู่ไปกับการเป็นผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์ นับเป็นภาระรับผิดชอบที่หนักไม่น้อย

แต่ด้วยผลงานที่ปรากฏชัดจึงทำให้ท่านพระอาจารย์ได้รับเกียรติคุณยิ่ง นานัปการ คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้โปรดประทานปสาทนียบัตร สาขาผู้มีศรัทธาบำเพ็ญประโยชน์ ส่งเสริมการปฏิบัติธรรมแก่เยาวชน เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๓, ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๔ ท่านพระอาจารย์ก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท โดยได้รับพระราชทินนามว่า “พระครูเกษมธรรมทัต” และในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในพระราชทินนามเดิม

ศิษย์พร้อมพรักปรีดิ์เปรมเกษมศรี
น้อมถวายศรัทธาชมบารมี
ท่านเป็นที่พระครูผู้เมตตา
มีฉายาว่า “เกษมธรรมทัต”
พระไตรรัตน์เจริญในไตรสิกขา
อินท์พรหมเทพอวยเฉลิมเพิ่มบุญญา
บูรพกษัตริยาอำนวยพร
จิตเป็นหนึ่งจึงถึงพร้อมจตุรพิธ
พรวิจิตรสุขสงบสโมสร
ในร่มกาสาวพัสตร์อันบวร
สถาพรเกรียงไกรในแดนธรรม
สาธุชนทั้งหลายได้รู้จัก
น้อมใจภักดิ์ศรัทธามาอุปถัมภ์
ในกิจการงานเผยแผ่พุทธธรรม
ช่วยค้ำจุนศาสน์สมมาตรเอย

ร่ายสุภาพ

พระครู เกษมธรรมทัต กิจวัตรอบรมธรรมกรรมฐานภาวนา แก่พุทธศาสนิกชน เพื่อหลุดพ้นวัฏฏะ ชำระจิตแจ่มใส ไร้ตัณหาอุปาทาน พระอาจารย์เมตตาน้อมนำพรปฏิบัติ ข้อวัตรเนกขัมม์จริยธรรมอบรม บ่มนิสัยเยาวชน จนเป็นที่ศรัทธา หลายสถาบันมาเข้าค่ายจำต้องขยายอาคาร ให้พอแก่การพำนักเป็นที่พักอาศัย ทั้งใช้ประโยชน์นานา จึงทอดผ้าป่าสามัคคี ท่านผู้มีใจกุศล หวังผลทานยิ่งใหญ่ บริจาคทรัพย์ให้เหลือคณา นำปัจจัยมาก่อสร้างอาคารกว้างและตระการ มี สำนักงานบุญนิธิ ชื่อสุปฏิปันโน ค่าอักโขห้องสมุดพิเศษสุดห้องรับรองพระสงฆ์อาคันตุกะ ทั้งห้องปฏิสันถาร เป็นอาคารเอนกประสงค์ เจาะจงใช้เป็นที่พักให้แก่นักปฏิบัติ แจ้งชัดอุบาสก เลิศดิลกนักเรียนชายผู้หมายรับการอบรมสมเป็นกุลบุตร อาคารสุดงดงาม คงซึ่งความเป็นไท แลวิไลหยดย้อย ช่อฟ้าช้อยเสียดฟ้า ใบระกาหางหงส์ ผจงไว้นาคสะดุ้ง หวังผดุงศิลปะไทย เฉิดไฉไลก่อสร้าง งามสง่าอย่ารู้ร้าง คู่ฟ้าคงดิน อยู่นา

ในปัจจุบันแม้จะมีศาลาปฏิบัติธรรม เขมรสี ที่ใหญ่โต กว้างขวางและแข็งแรงแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการรับรองญาติโยมสาธุชน ที่หลั่งไหลเข้ามาปฏิบัติธรรมในโอกาสอันสำคัญต่างๆ เพราะบางพื้นที่ในศาลาเขมรสีนั้น ยังต้องจัดเป็นส่วนของ สำนักงานบุญนิธิ สุปฏิปันโน ห้องสมุด และที่พักรับรองแด่พระอาคันตุกะ จึงสมควรที่จะขยับขยายส่วนเหล่านี้ไปไว้ในที่เหมาะสม ท่าน พระอาจารย์จึงมีดำริให้จัดสร้างอาคารใหม่เพิ่มขึ้น โดยใช้บริเวณศาลามุงจากเดิม เป็นสถานที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารหลังใหม่นี้

ใน ที่สุด ด้วยพลังแห่งความมานะพากเพียรที่เปี่ยมล้น ด้วยความศรัทธาจากสาธุชน จึงทำให้อาคารดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์งดงาม และกอปรประโยชน์ยิ่ง อาคารหลังใหม่นี้คือ “อาคารเกษมธรรมทัต”

อาคารสำเร็จสร้าง สมจินต์
ประโยชน์ยิ่งกว่าถวิล ว่าไว้
ศรัทธาทั่วฟ้าดิน ฤาสุด สิ้นเฮย
พูนเพิ่มบารมีให้ สู่ห้องนฤพาน

อาจริยบูชา
วรวัจน์ ถวายแด่ท่านพระครูเกษมธรรมทัต
(พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรํสี)

สภาวะ วัดไทย ในปัจจุบัน
กว่าแปดหมื่น สี่พัน สำนักสงฆ์

ทุกทวีป ทั่วโลก ที่ดำรง
ดำเนินตรง กัมมัฏฐาน กี่ปอร์เซ็นต์

พระสงฆ์ไทย สามเณร กว่าสามแสน
ทั้งแร้นแค้น หรูเลิศ ก็เคยเห็น

ตั้งหน้าสอน กัมมัฏฐาน งานยากเย็น
ที่โดดเด่น น้อยนัก สักกี่องค์

หนึ่งท่านนั้น บรรยายธรรม ตอนย่ำรุ่ง
ด้วยจิตมุ่ง ขัดกิเลส ไม่ไหลหลง

พระครูเกษม ธรรมทัต วัดมเหยงคณ์
ท่านชี้ตรง สติปัฏฐาน ทุกวารวัน

พระธรรมโน้ม น้าวใจ อยากคลายทุกข์
วิมุติสุข เป็นจุดหมาย ต่างใฝ่ฝัน

ชวนกันมา ปฏิบัติธรรม นำชีวัน
หลวงพ่อท่าน สอนให้ ด้วยเมตตา

งามขบวน จงกรม กาสาวพัสตร์
แน่นขนัด สาธุชน บนพื้นหญ้า

ใต้ร่มไม้ รอบกำแพง ภาวนา
อาตาาปิ สติมา สัมปชาโน

เผดียงสงฆ์ นิมนต์พระ สุปฏิบัติ
อปริหานิยธรรมชัด แจ่มอักโข

พร้อมเพรียงกิจ อุทิศนำ พระธัมโม
ศาลาโต ล้วนกิจกรรม ธรรมวาที

สู้อุตส่าห์ ติดต่อ ขอเป็นวัด
มีพระสงฆ์ ปฏิบัติ นำวิถี

ทุกฝ่ายช่วย ด้วยเห็นตาม คุณความดี
แต่ยังมี กรรมซัด แสนอัดใจ

อดทนหนอ พากเพียรหนอ หลวงพ่อขา
วันข้างหน้า สัมฤทธิ์ผล ดลดวงใส

"มเหยงคณาราม" นามเกรียงไกร
หลวงพ่อได้ คุ้มบุญ การุณยธรรม

โปรดมุ่งหน้า พาข้าม ทั้งสามทุกข์
สันติสุข เพราะฝึกจิต คิดอุปถัมภ์

วิปัสสนา กัมมัฏฐาน ประหารกรรม
รูป-นามย้ำ สันตติ พิชิตทัน

ขอบุญล้ำ ธรรมทาน ของหลวงพ่อ
ที่กอปรก่อ ครูฐานิยธรรมมั่น

อีกกุศล ปวงศิษย์ ปฏิบัติกัน
พระไตรรัตน์ คุณานันต์ ประมวลมา

เป็นมหา มงคล เป็นพรเลิศ
สรรพสิ่ง ประเสริฐ ทุกโลกหล้า

ดลแด่ท่านเกษมธรรมทัตตา
อโรคยา พิบัติผอง ไม่พ้องพาน

เป็นร่มไทร โพธิ์แก้ว ประทีปโรจน์
อยู่ช่วยโปรด ประดาศิษย์ ทุกทิศสถาน

ด้วยพุทธธรรม นำชีวิต พิชิตมาร
จนบรรลุ พระนิพพาน ตามท่านเทอญ


อาศิรวาท
ศาสตราจารย์กิตติคุณ อำไพ สุจริตกุล ผู้ประพันธ์

กัมมัฏฐาน ท่านย้ำ วิปัสสนานำปฏิบัติ ให้รู้ชัดรูปนาม รู้ทันตามเป็นจริง นี่คือสิ่งท่านถนัด จัดบวชเนกขัมมะ ปฏิบัติภาวนา ทุกวาระสำคัญ อันเนื่องชาติศาสน์กษัตริย์ วัฒนธรรมประเพณี มีสงกรานต์เป็นต้น ล้นด้วยกตัญญู ชักชวนหมู่มวลศิษย์ ทำบุญอุทิศบรรพชน ซึ่งผจญศึกศัตรู กอบกู้ปกป้องรัฐ และวัดวาอาราม ก็ด้วยความสามัคคี ยอมพลีชีพท่านไว้ เป็นเยี่ยงเป็นอย่างให้ เร่งรู้ พระคุณพระครูเกษมธรรมทัต จัดถมดินปลูกไม้ เป็นป่าถาวรไซร้ร่มไม้ดูงาม ยามฝึกกัมมัฏฐาน จักเบิกบานหมู่ไม้ เป็นร่มรุกขมูลไซร้ ก่อให้สงบเร็วนา

พบบุคคลหนึ่งน้อม
นำถวาย

นาที่ตาและยาย
มอบให้

โดยบอกเจตนาหมาย
สร้างโบสถ์ ให้นา

เป็นเรื่องอนาคตไซร้
สิ่งนี้พึงจำ

ขุดสระทำใหญ่กว้าง
เหลือคณา

น้ำนิ่งใสสะอาดตา
เพริศแพร้ว

ยามลมโบกโบยมา
ระลอก พริ้วเฮย

ดังมุจลินทร์สระแก้ว
แหล่งโน้นพุทธภูมิ

โครงการปูมภายหน้า
ยังมี

เหลือจักกล่าวสดุดี
หมดได้

จักขอกราบพระศรี
ไตรรัตน์

จุ่งประสิทธิ์พรให้
ยิ่งด้วยบารมี

ฑีฆายุอยู่ยั้ง
ยืนนาน

ศตวรรษสุขสราญ
อย่าแคล้ว

สืบพุทธศาสน์งาน
เผยแผ่ ธรรมนา

เป็นชิโนรสแก้ว
ก้องฟ้าสถาพร


ความสำเร็จอยู่ที่ใจไม่ต้องเอื้อม
นางวลัย ยิ่งยง ผู้ประพันธ์

ดิฉัน ได้ฟังธรรมครั้งแรกจากท่านอาจารย์ ราวพุทธศักราช ๒๕๓๗ ที่ สำนักปฏิบัติกรรมฐาน “วัดมเหยงคณ์” จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ปฏิบัติเห็นจริงตามที่ท่านสอนว่า...

เมื่อหมั่นเจริญสติ จนเห็น ลักษณะ อาการของจิต ได้ชัดเจน จะแจ่มแจ้งในการเปลี่ยนแปลงของสภาพธรรมต่างๆ

ทำให้ ดิฉันมีความเข้าใจมากขึ้น ในเรื่อง บัญญัติ-ปรมัตถ์ ตลอดจน สภาวจิต และอารมณ์ ช่วยให้ การเจริญสติ 'ดูจิต' ในชีวิตประจำวัน มีพัฒนาการดีขึ้น สิ่งที่ดิฉัน 'ประทับใจที่สุด' คือ...เมื่อครั้งที่ท่านอาจารย์ เมตตาให้การอบรม แก่กลุ่มย่อย ๔๐ คน ที่ ยุวพุทธิกสมาคม แห่งประเทศไทย เฉลิมพระเกียรติรังสิต ระหว่างวันที่ ๓-๑๑ เมษายน ๒๕๔๒ ผู้เข้ารับการอบรม มีอายุตั้งแต่ ๒๑-๘๐ ปี มีความแตกต่างกันทั้งอายุ พื้นฐานความรู้ ตลอดจน 'รูปแบบ' และ 'ประสบการณ์ในการปฏิบัติ'

แต่ท่านอาจารย์ก็ได้ทำให้ ทุกคนรู้สึกประทับใจ เพราะท่านมิได้ตำหนิ ติเตียนรูปแบบใด ท่านให้กำลังใจทุกคน ว่า...รูปแบบ ก็เสมือน บัญญัติ ที่มี อยู่หลากหลาย แต่สุดท้าย เมื่อเข้าถึงปรมัตถ์ ก็คือ สิ่งเดียวกัน

ท่านอาจารย์ คือประทีปธรรม ชี้นำเส้นทางอันถูกต้องตรงธรรม ท่านตรากตรำ อุทิศตนเพื่อบวรพุทธศาสนา ท่านคือความอบอุ่นของผู้ใส่ใจปฏิบัติธรรม คำสอนง่ายๆ แต่กระจ่างชัดของท่าน ย้ำเสมอว่า...

ใจเป็นประธานของ สิ่งทั้งหลาย หากดูจิตเป็น กำหนดจิตได้ การปล่อยวางจะง่าย เมื่อใดที่สามารถ หยุดใจไร้อยาก เมื่อนั้น ความสำเร็จย่อมอยู่ที่ใจ

ความ สำเร็จอยู่แค่เอื้อม...ยังไกล, ความสำเร็จ อยู่ที่ใจ...ไม่ต้องเอื้อม

น้อมจิตคารวะด้วยใจ ผู้แทนคณะศิษย์ ยุวพุทธิกสมาคมฯ รังสิต


สำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์
ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
โทรศัพท์ : (035) 242892,244335
โทรสาร/ฝากข้อความ : (035) 245112

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘